svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ชี้ส่งออกน่าห่วง หวั่นเสียประโยชน์ หลังเข้าเออีซี

29 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ม.หอการค้าฯ ประเมิน 4 ปี ส่งออกไทยอาการน่าห่วง เข้าข่ายเสียประโยชน์ค้าลงทุนเออีซี หลังมูลค่าส่งออกระหว่างปี 55-56 ลดลง 8 พันกว่าล้าน แนะเอสเอ็มอีรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ จับมือผู้จำหน่ายเจาะตลาดอาเซียน


เมื่อวันที่ 29 ก.ค. นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์ประเมิน 4 ปี การค้า การลงทุน ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี ) พบภาพรวมการส่งออกไทยในภูมิภาคอยู่ในภาวะถดถอยอาการน่าเป็นห่วง เข้าข่ายเป็นประเทศที่เสียประโยชน์ ร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าส่งออก ระหว่างปี 2555-2556 ลดลง 8,428 ล้านบาท ขณะที่มาเลเซียการเปลี่ยนแปลงมูลค่าส่งออก 2 ปี เพิ่มขึ้นอันดับ 1 ถึง 107,569 ล้านบาท รองลงมาคือ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 55,958 ล้านบาท
          ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยใน 4 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกไปตลาดอาเซียนน้อย มูลค่าดุลการค้าน้อย หรือขาดดุลการค้า อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกไปอาเซียน มีแนวโน้มลดลง อัตราการขยายตัวมูลค่าการนำเข้าจากอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
          ขณะที่สินค้าส่งออกของไทย ที่เป็นดาวเด่นไปตลาดอาเซียน ยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เครื่องดื่มและยาสูบ ส่วนสินค้าที่เป็นดาวร่วงพบว่า ข้าว อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม กระดาษสิ่งพิมพ์ เครื่องนุ่งห่ม มันสำปะหลัง กาแฟ ยางพารา และพลาสติก ซึ่งเคยประเมินรอบ 2 ปีแรก เคยเป็นดาวเด่นมาก่อน อีกทั้งยังมีสินค้าน้ำตาล ยานยนต์ และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ผัก และผลไม้ ที่เคยประเมิน 3 ปีเออีซี ก็เป็นดาวเด่น
          นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและต้องปรับตัว คือ ต้องทำการตลาดใหม่ สินค้าไทยเคยเป็นที่นิยมในตลาดอาเซียน แต่ไม่ทำการตลาดอย่างจริงจัง ไม่สร้างแบรนด์ในตลาดอาเซียนใช้แบรนด์ในไทย ไม่ปรับเป็นแบรนด์ที่เหมาะสม เจาะเข้าสู่อาเซียน ที่สำคัญผู้ส่งออกไทยไม่มีการร่วมมือกับบริษัทผู้จำหน่าย ในพื้นที่ตลาดอาเซียน ทำให้การเข้าสู่ตลาดยังไม่มีประสิทธิผลสำหรับการลงทุน ต้องมีวิธีการปรับส่งเสริมการลงทุนให้เอสเอ็มอีไทย สามารถเข้าไปลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยต้องรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ จึงจะมีประสิทธิภาพ

logoline