svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

WPP บริษัทสื่อโฆษณายักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก เผชิญกับราคาหุ้นที่ดิ่งลง 12%

24 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

WPP บริษัทสื่อโฆษณายักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก เผชิญกับราคาหุ้นที่ดิ่งลง 12% หลังปรับลดคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจในปี 2017 เหลือแค่ 0-1% รวมถึงมาร์จินการทำกำไรที่จะลดลงในปี 2018 เนื่องจากภาพสะท้อนการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจการค้าปลีก ที่มีการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยนับเป็นการตกต่ำลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000 ของ WPP ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน

ขณะที่บุนเดสแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารกลางของเยอรมันเผยความสำเร็จในการติดตามทองที่ถูกเก็บไว้ในต่างประเทศตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับคืนมาได้ทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามกำหนดในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ทางด้านตลาดบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นเกิดภาวะที่เป็นอัมพาต หลังจากที่ปริมาณการซื้ขายลดลงถึง 22% เหลือเพียง 12.60 ล้านล้านเยน หรือ 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม แต่เมื่อคำนวณย้อนกลับไปในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นจำนวนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยที่ นักลงทุนญี่ปุ่นในภาคครัวเรือนไม่กล้าที่จะเข้าซื้อบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นในตลาด เนื่องจากไม่มีสัญญาณการชี้นำจาก BOJ


1.ภาพการปรับตัวลดลงของหุ้น WPP หรือ Wire and Plastic Products, plc. บริษัทสื่อโฆษณาหลากหลายของอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยนั้น ดิ่งลง 12% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจในปี 2017 เหลือแค่ 0-1% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคมปีนี้ว่าธุรกิจจะขยายตัว 2% ต่อปี รวมถึงมาร์จินการทำกำไรที่จะลดลงในปี 2018 เนื่องจากการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจการค้าปลีก ที่มีการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
โดยนับเป็นการตกต่ำลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000 ของ WPP ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ซึ่ง WPP นอกจากจะเป็นบริษัทสื่อโฆษณาหลากหลายแล้ว ยังเป็นเจาของบริษัทเอเยนซีโฆษณาที่ติด Big Four ของโลกด้วย อย่างเช่น Grey Group, Ogilvy & Mather, Young & Rubicam Brands, Landor Associates, and JWT (J. Walter Thompson Co.)

ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลกช่วงปี 2009 ธุรกิจโฆษณาของ WPP มีอัตราการเติบโต 2% ต่อปี แต่มาในวันนี้กลับมีอัตราการเติบโตที่ต่ำหรือเกือบจะไม่โตที่ 0% เนื่องจากผลกระทบจากสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกที่เป็นลูกค้าของ WPP ทั้ง Unilever และ Procter & Gamble ทำการตัดค่าใช้จ่ายของงบโฆษณา โดยเฉพาะ Unilever ที่ตัดลดลงถึง 30% รวมทั้งตัดลดจำนวนงานด้าน creative agencies จาก 3,000 เหลือ 1,500 งาน
ดังนั้นภาพสะท้อนของ WPP ดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มจับตามองถึงธุรกิจสื่ออื่นๆ ของโลกมากขึ้น
2.ขณะที่บุนเดสแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารกลางของเยอรมันเผยความสำเร็จในการติดตามทองที่ถูกเก็บไว้ในต่างประเทศตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับคืนมาได้ทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามกำหนดในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บุนเดสแบงก์ได้ติดตามทวงคืนทองคำจำนวน 674 ตันใสตั้งแต่ปี 2013 จากที่ฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐในนิวยอร์กตพนวน 300 ตัน และธนาคารกลางในฝรั่งเศสจำนวน 374 ตัน ส่งผลให้เยอรทันมีทองเก็บไว้เป็นทุนสำรอง 1,710 ตัน หรือเท่ากับ 50.6% ของทองคำที่เป็นสำรองทั้งหมด
เนื่องจากการตรวจสอบของ German Court of Auditors เมื่อช่วงปลายปี 2012 ต้องการที่จะให้ธนาคารกลางเยอรมันติดตามทองคำที่เป็นทุนสำรองถึง 3,400 ตัน แต่เป็นการถือไว้ในต่างประเทศถึง 2,000 ตัน กลับเข้ามาเก็บไว้ในประเทศให้มากที่สุด

3.ทางด้านตลาดบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นเกิดภาวะที่เป็นอัมพาต หลังจากที่นักลงทุนซี่ปุ่นในภาคครัวเรือนไม่กล้าที่จะเข้าซื้อบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นในตลาด ส่งผลให้ปริมาณการซื้ขายลดลงถึง 22% เหลือเพียง 12.60 ล้านล้านเยน หรือ 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเมื่อคำนวณย้อนกลับไปในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กลับเป็นจำนวนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
โดยที่นักลงทุนในภาคครัวเรือนเห็นว่า ยังไม่มีสัญญาณการชี้นำจากธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ เนื่องจากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นับจากปี 2014 ซึ่ง BOJ เป็นผู้ซื้อขาใหญ่ในบอนด์รัฐบาลญึ่ปุ่นจนเกือบจะเป็น 100% ของบอนด์ที่ออกมาทุกงวด ทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เป็นอิสระตามดีมานด์และซับพลาย
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า หากปล่อยให้ภาวะซื้อขายในตลาดบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นตายลงแล้ว ในที่สุดผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกับการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินเยนในอนาคตอีกด้วย

4.ทางการสหรัฐสั่งระงับการซื้อขายบอนด์ของ Petrleos de Venezuela SA หรือ PDVSA ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซูเอลา ที่มีอายุการไถ่ถอนในปี 2022 จ่ายผลตอบแทน 12.75% โดยอ้างความเป็ห่วงต่อสถารการณ์หนี้ของเวเนซูเอลา หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและวิกฤติค่าเงินโบลิวาร์ ท่ามกลางประชาชนที่ยังคงมีการชุมนุมประท้วงและขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่องมานานหลายเดือน
การสั่งห้ามซื้อขยบอนด์ของ PDVSA จากทางการสหรัฐครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการปิดประตูการหาสภาพคล่องจากตลาดการเงินภายนอกประเทศ เนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลว่าสินทรัพย์ของ PDVSA ในต่างประเทศอาจถูกอายัดได้ โดยที่ผ่านมา งบประมาณของรัฐบาลเวเนซูเอลาราว 50% ต้องพึ่งพาเงินจากรายได้ของ PDVSA ในขณะที่ PDVSA มีรายได้จากการขายน้ำในต่างประเทศถึง 90%
นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตการณ์ในเสเนซูเอลายังไม่อาจจะยุตืได้ง่าย เมื่อสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีท่าทีจะส่งกำลังปฏิบัติการด้านทหารเข้าไปในเวเนซูเอลานั้น กลับสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเวเนซูเอลาออกมาเรียกร้องเสรีภาพให้สหรัฐยุติการแทรกแซงในอีกทางหนึ่งด้วย

5.สำหรับปัญหาการตกต่ำของค่าเงินโบลิวาร์หลังจากการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮูโก ชาเวส เป็นต้นมาได้ดิ่งลงจากที่เคยอยู่ที่ 6 โบลิวาร์ต่อดอลลาร์จนถึงปัจจุบันตกต่ำลงมากที่สุดอยู่ที่ 16,000 โบลิวาร์ต่อดอลลาร์ เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของ Nicols Maduro ผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 741%
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวเนซูเอลายังคงเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 62% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ยิ่งกดดันให้ค่าเงินโบลิวาร์ตกอยู่ในภาวะวิกฤติมากที่สุดท่ามกลางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรุดตัวในระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ชาวเวเนซูเอลาต้องเผชิญกับวิกฤติอาหารขาดแคลน และไม่เหลือกำลังซื้อในประเทศขณะนี้

logoline