svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

4 ปัจจัย ที่ทำให้คนไทย "เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้มาก"

11 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นไปตามความคาดหมายว่า คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินหรือแบงก์พาณิชย์ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตัวกลางอย่างบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) ไม่น่าจะไม่บรรลุเป้าหมายตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้


หลักใหญ่ใจความ นอกจากจะติดขัดเรื่องคุณสมบัติ ที่เห็นว่า พอตรวจสอบเข้าจริงแล้ว คนที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มีเพียงหลักร้อยแล้ว จำนวนลูกหนี้ที่ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการก็มีน้อยกว่าที่คาด (เพราะตอนแรกกะเก็งกันว่า คลินิกแก้หนี้จะเกี่ยวข้องกับผู้คนร่วม 5 แสน)
เพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขสำคัญที่ลูกหนี้ต้องเซ็นสัญญาว่า ในระหว่างที่รักษาอาการที่คลินิกแก้หนี้ ลูกหนี้จะต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี อันนี้แหละ ที่ลูกหนี้บอกว่า ทำใจยากจริงๆ

เคยลองถามคนที่สนิทๆ กันนี่แหละค่ะว่า แกสนใจจะเข้าโครงการมั้ย เพราะคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งอายุไม่เกิน 60 ปี เป็นพนักงานประจำ มีเงินเดือน มีบัตรเครดิตตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไป และมีหนี้บัตรเครดิตรวมกันไม่ถึง 2 ล้านบาท
ถามปุ๊บ แกก็ส่ายหน้าดิก บอกว่า "ไม่เอาหรอก ไม่ให้ก่อหนี้ใหม่ตั้ง 5 ปี ถ้าเกิดมีอะไรฉุกเฉินจะทำยังไง"เห็นมั้ยคะว่า คนมีหนี้ก็คิดแบบคนมีหนี้ ว่าถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินก็ต้อง "กู้เพิ่ม" ไม่เคยคิดเรื่อง "เงินออม" หรือการวางแผนสำรองทางการเงิน นั่นทำให้ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถดึงตัวเองออกมาไม่พ้นจากวงจรหนี้ได้ความน่ากลัวของปัญหาหนี้ของคนไทย ไม่ได้อยู่ในระดับสามัญ แต่เข้าขั้นวิกฤติ เพราะสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิต บูโร ทำการศึกษาข้อมูลออกมาแล้วพบว่า "คนไทย" เป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นาน หน้ำซ้ำยังเป็นหนี้ที่มีมูลค่ามากอีกต่างหาก
คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น : ครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปีเป็นหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค และหนี้บัตรเครดิต คือหมดไปกับการกินใช้เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดูจากมิติของหนี้เสีย ยังพบว่า 1 ใน 5 ของหนี้เสียเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นคนกลุ่มวัยทำงานและอยู่ในช่วงวางรากฐานให้กับครอบครัว
คนไทยเป็นหนี้นาน : ปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นเร็วสำหรับคนในช่วงอายุใกล้ 30 ปี ที่สำคัญระดับหนี้ไม่ได้ลดลง แม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ ซึ่งถ้าไม่แก้ไข หนทางข้างหน้า คือ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีภาระหนี้ แต่ไม่มีรายได้
คนไทยมีหนี้มูลค่ามากขึ้น : จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ค่ากลางของหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนบาท ณ สิ้นปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในระยะเวลา 6 ปีทำไมคนไทยจึง "เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้มาก" เรื่องนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่า อาจจะมาจากหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น
1.ขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ขาดทักษะการวางแผนจัดการทางการเงิน ยกตัวอย่าง เรื่องการใช้บัตรเครดิต คนจำนวนมากใช้บัตรเครดิตหลายใบ แล้วก็หมุนเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่ตระหนักว่า สุดท้ายแล้ว ต้องจ่ายคืนหนี้ทุกใบ
หรือบางคนก็ยังไม่เข้าใจเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิต ว่าถ้าไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ตรงเวลา จ่ายเฉพาะขั้นต่ำ ดอกเบี้ยก็จะทบต้นไปเรื่อยๆ
2.กระแสบริโภคนิยมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป มีคนยุคใหม่จำนวนไม่น้อยที่มีทัศนคติว่า "ถ้าคนอื่นมี ฉันต้องมี" บางคนเริ่มทำงานเดือนแรกก็ไปเที่ยวต่างประเทศแล้ว โดยใช้โปรแกรมผ่อนชำระ 0% แทนที่จะทำงานมาแล้วเก็บเงินไว้ส่วนหนึ่ง จัดสรรให้พ่อแม่ส่วนหนึ่ง ที่เหลือค่อยให้รางวัลตัวเอง
3.สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงิน ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินพอดี โดยมุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินตามความต้องการของ "ผู้ขาย" มากกว่าจะเป็นไปตามความต้องการของผู้ซื้อ4.เวลาลูกหนี้ตกเข้าไปอยู่ใน "วงจรหนี้สินล้นพ้นตัว" มักจะหาทางออกได้ยาก เนื่องจากกลไกประนอมหนี้ของแต่ละสถาบันการเงินต่างกัน การติดตามหนี้ การพิจารณาหนี้เสียใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน ลูกหนี้ที่มีหนี้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ครบวงจรในคราวเดียวกันดร.วิรไท ปิดท้ายว่า การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ทุกคนสามารถก่อหนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองได้ และเป็นเรื่องปกติที่คนวัยทำงานอาจจะก่อหนี้เพื่อสร้างความมั่นคงในครอบครัว
แต่ "เราต้องรู้จักความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง" ต้องรู้จักประมาณตน
และต้องตระหนักว่า "การมีหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายที่สุดเรื่องหนึ่ง"

logoline