svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

5 คำถามวัดใจก่อน "ก่อหนี้" ใช้เพราะอยาก หรือใช้เพราะจำเป็น

07 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป มาตรการควบคุมการก่อหนี้ของแบงก์ชาติจะเริ่มมีผลบังคับใช้ งานนี้แบงก์ชาติพุ่งเป้าไปที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล


ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่ประกาศออกมาแล้ว สันนิษฐานได้ว่า หลักคิดพื้นฐานนั้น มาจากการพิจารณา "ความสามารถในการชำระหนี้" เป็นหลัก

รายได้น้อย ความสามารถในการชำระหนี้น้อย ก็ควรได้รับวงเงินสำหรับใช้จ่ายน้อย รายได้มาก ความสามารถในการชำระหนี้ควรจะมากขึ้น ก็ได้รับอนุมัติวงเงินที่มากขึ้น

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า อ้าวเฮ้ย ! โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ทบทวนให้สั้นๆ แบบนี้ค่ะว่า แบงก์ชาติออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต

โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ รายได้ตั้งแต่ 30,000 ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

ส่วนมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่า และให้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกิน 3 ราย

หรือเท่ากับได้วงเงินสูงสุด 4.5 เท่า สำหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 ขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย

ย้ำว่า มาตรการนี้ควบคุมเฉพาะผู้ขอสินเชื่อ หรือผู้ขออนุมัติบัตรเครดิตรายใหม่ค่ะ ไม่มีผลย้อนหลังให้ยุ่งยากลำบากสำหรับคนที่ใช้บริการอยู่แล้ว

ถ้าถามว่า มาตรการควบคุมการก่อหนี้ของแบงก์ชาตินี่น่าตื่นเต้นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ไม่น่าตื่นเต้น เพราะก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เรามีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่น่ากังวลใจ

ยิ่งล่าสุด มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ร่วมกันจัดทำกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาวะวิกฤติของการออมและการก่อหนี้ เพราะผลสำรวจบ่งชี้ว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 68% มีหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 5 แสนบาท และในจำนวนนี้กว่า 59% ระบุว่า หนี้ที่เกิดขึ้นมาจากการซื้อหรือผ่อนหรือชำระค่าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค

แม้ไม่อาจสรุปได้แบบฟันธงว่า "หนี้ที่เกิดขึ้น" มาจากการกินอยู่ที่ "เกินกว่าฐานะ" แต่ก็ต้องยอมรับว่า "ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง"

ประเด็นอยู่ที่คำถามว่า ถ้าเช่นนั้น การควบคุมการก่อหนี้ของแบงก์ชาติ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต จะช่วยลดการก่อหนี้ภาคครัวเรือนลงได้หรือไม่ คำตอบคือ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร

แต่ประเด็นสำคัญกว่านั้น ต้องกลับไปพูดเรื่องเดิม คือ "วินัยทางการเงิน" ที่ต้องเริ่มจากตัวเองเป็นลำดับแรก เพราะถ้าไม่มี "วินัย" จะกลายเป็นการควบคุมด้วยกลไกของแบงก์ชาติ จะยิ่งผลักให้ลูกหนี้หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมากยิ่งขึ้น

เมื่อ "วินัย" ต้องเริ่มที่ตัวเอง ดังนั้น ก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง ให้ลองตั้งถามกับตัวเองว่า "จำเป็นต้องใช้" หรือ "อยากใช้" ถ้าระหว่างความจำเป็น (Need) กับความอยาก (Want) มันใกล้กันแค่เส้นบางๆ จนแยกไม่ออก

ก็ลองตอบคำถาม 5 ข้อนี้ (ซึ่งเป็นคำถามวัดใจที่เว็บไซต์เครดิต บูโร ตั้งเป็นโจทย์ไว้ให้คิด และเป็นคำถามที่ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น)

คำถามที่ 1 "ถ้าไม่มีป้าย Sale ลดราคาแบบนี้ ฉันจะยังอยากได้ไหม" กระเป๋าสะพายที่ติดป้าย Sale จากราคา 1,000 บาท เหลือ 800 บาท ลองตอบตัวเองดูว่า ถ้ากระเป๋าใบนั้นขายราคา 800 ตั้งแต่แรก จะนับว่าราคาคุ้มค่าไหม เราจะยังอยากซื้อรึเปล่า

คำถามที่ 2 "ถ้าตัดป้ายยี่ห้อออก ฉันยังจะยอมจ่ายราคานี้หรือเปล่า" เพราะมีอยู่หลายครั้งที่เราเผลอซื้อของราคาสูงเกินตัว เพียงเพราะเห็นชื่อยี่ห้อ ทั้งที่ประโยชน์ใช้สอย ไม่คุ้มค่าคุ้มราคาเลย

แต่เราก็ยังปลอบใจตัวเองว่า สมเหตุสมผล เพราะเป็นของแบรนด์เนม พฤติกรรมแบบนี้ค่อนข้างน่าห่วง สุ่มเสี่ยงสภาพการเงินในระยะยาว ดังนั้น ก่อนซื้อ ลองหยุดถามตัวเองก่อน ว่าเราอยากได้ของชิ้นนั้นจริงๆ หรือแค่อยากได้แบรนด์หรือโลโก้ของสินค้าชิ้นนั้น

คำถามที่ 3 "ฉันจะได้ใช้มันจริง ๆ รึเปล่า" เพราะบางครั้งเราซื้อของไม่จำเป็นมากองไว้ โดยคิดเอาเองว่า "ซื้อไปก่อน เดี๋ยวก็ได้ใช้" แต่สุดท้ายก็ไม่เคยแตะแม้แต่ครั้งเดียว

คำถามที่ 4 "ราคานี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของฉันกันนะ" คำถามนี้น่าสนใจ แต่เชื่อว่า น้อยคนนักที่จะถามตัวเอง เพราะ "ความอยาก" ทำให้เราลืมไปว่า มันเหมาะสมกับรายได้ของเราแค่ไหน มันเกินฐานะของเราไปหรือไม่ รายได้ 20,000 บาท ซื้อกระเป๋าใบละ 5,000 บาท ก็เท่ากับ 25% หรือ 1 ใน 4 ของรายได้แล้ว

และคำถามที่ 5 "ถ้าฉันไม่ซื้อ เงินจำนวนนี้จะเอาไปใช้จ่ายสิ่งจำเป็นได้มากแค่ไหน" เช่น จ่ายเป็นค่าข้าวได้กี่มื้อ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือแม้แต่ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ

ถ้าตอบคำถามครบ 5 ข้อแล้วยังแยกเส้นแบ่งระหว่าง "จำเป็นต้องซื้อ" หรือ "อยากซื้อ" ไม่ได้ ให้ลองนึกถึงเวลาที่เรากินอาหารว่า "เรากินเพราะหิว" หรือ "กินเพราะอยาก" หลายครั้งที่เราอิ่มแสนอิ่ม แต่ยัง "อยากกิน"

เมื่อสนองความอยากของตัวเองไปแล้ว ถึงแม้จะสุขใจว่า ได้กินตามปรารถนา แต่อาการทางกายที่ตามมา คือ แน่นท้อง อัดอึด หนักเข้ากลายเป็นอาหารไม่ย่อย เพราะกินมากเกินไป กลายเป็นความทุกข์ไปอีก

ลองเทียบเคียงระหว่าง "กินเพราะหิว หรือกินเพราะอยาก" กับ "ใช้เพราะจำเป็น หรือใช้เพราะอยาก" ก็จะพบว่า ผลลัพธ์แทบไม่ต่างกัน

logoline