svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก กำลังสร้างความเป็นอัจฉริยะ

26 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แนวโน้มของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มมุ่งไปยังการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์หาโอกาสและความรู้ใหม่ๆ


เพื่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศของตน เพื่อให้ทันต่อการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอย่างยิ่งในวันนี้และในอนาคต

การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย เพราะต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ในรูปแบบสหวิทยาการ ไม่ว่าจะเป็นในสาขา วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

แน่นอนว่า หากประเทศต้องการเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถที่จะยืนอยู่ได้ในทศวรรษหน้า ประเทศนั้นคงจะต้องมีความเป็นอัจฉริยะ

ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือที่ทรงพลัง ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประชากรของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการในรูปแบบที่โลกต้องการ ซึ่งจะไม่มีรูปแบบเหมือนที่เคยมีอยู่ในอดีต

เมื่อผู้เขียนลองสืบค้นดูจากยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงได้พบว่าประเทศชั้นนำทุกประเทศจะมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่อง Big Data, AI, Digital Platform ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศในระดับ Soft Power ที่เหนือไปกว่าการสร้างระบบ Hardware ในด้านโทรคมนาคมไปแล้ว

ซึ่งประเทศเหล่านั้น ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมสำเร็จในระดับที่สูงมากแล้ว เช่น เกาหลีใต้ที่มีโครงสร้างบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเข้าถึงครัวเรือนเกือบ 100% แล้ว เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Economy) หรือระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเซ็นเซอร์จำนวนมหาศาล (A Trillion-Sensor Economy) ได้เริ่มมีการพูดถึงกันแล้วในหลายประเทศ

เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โลกของเรากำลังจะเชื่อมโยงกันด้วย smartphone และ IoT นับแสนล้านชิ้นในอนาคตอันใกล้ จนโลกของเราจะมีข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) ที่วิ่งอยู่บนอินเทอร์เน็ต

ซึ่งถ้าหากประเทศใดมีเครื่องมือและทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถเพียงพอ ก็จะสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลได้

เราลองมาดูตัวอย่างยุทธศาสตร์อัจฉริยะของประเทศต่างๆ เท่าที่ผู้เขียนมีเวลาหาได้ ดังนี้

สหราชอาณาจักร : ยุทธศาสตร์ "The Data Strategy" โดยมียุทธศาตร์ที่ออกเป็นเอกสาร "The UK Strategy for Data Resources for Social and Economic Research 2013-2018"

-https://www.gov.uk/government/publications/government-transformation-strategy-2017-to-2020/government-transformation-strategy#the-vision-beyond-2020

สหรัฐอเมริกา : แผนยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National Artificial Intelligence R&D Strategic Plan)

-https://www.nitrd.gov/news/national_ai_rd_strategic_plan.aspx

จีน : สภาแห่งชาติ (The State Counsil) ของประเทศจีน ได้ประกาศ "A Guideline on Developing Artificial Intelligence" ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับให้ AI เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศจีนเป็นผู้นำของโลกในด้าน AI ภายในปี 2030

- http://english.gov.cn/policies/latest_releases/2017/07/20/content_281475742458322.htm

เกาหลีใต้ : รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนระดับชาติ "Korea National Action Plan on Open Government Partnership" และเพื่อให้แผนดังกล่าวขับเคลื่อนได้เป็นรูปธรรม

มีได้จัดตั้ง "The National Data Hub" เพื่อรวบรวมข้อมูลของชาติที่เกี่ยวข้องกับ การแพทย์, กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา และใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ภาครัฐ, เอกชน และองค์กรต่างๆ นำไปใช้ในการพัฒนาต่อไป

-http://www.businesskorea.co.kr/english/news/ict/15151-ai-based-data-hub-korean-government-establish-national-data-hub-promoting-sw-industry

สิงคโปร์ : รัฐบาลโดย The National Research Foundation (NRF) ของสิงคโปร์ได้ประกาศแผนระดับชาติ "A National Programme in Artificial Intelligence" ในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI และมีเป้าหมายการลงทุนด้าน AI ภายใน 5 ปีนี้ถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

-https://www.enterpriseinnovation.net/article/singapore-launches-national-artificial-intelligence-programme-1208567244

มาเลเซีย : รัฐบาลมาเลเซียประกาศยุทธศาสตร์ระดับชาติ "National Internet of Things (IoT) Strategic Roadmap" เพื่อสร้าง IoT แพลตฟอร์มแห่งชาติ

นำไปสู่การสร้างระบบนิเวศ IoT ที่สามารถเสริมความแข็งแกร่งแก่ผู้ประกอบการยุคใหม่ด้วยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของการให้บริการแอพพริเคชั่น และยังเป็นโครงสร้างหลักของ IoT Hub ในระดับภูมิภาค

-http://mimos.my/iot/National_IoT_Strategic_Roadmap_Summary.pdf

Big data, AI, IoT กำลังเป็น Megatrend ในแวดวงนักยุทธศาสตร์ระดับชาติทั่วโลกแล้วในวันนี้ เพราะเทคโนโลยีกำลังจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถร่วมกันทำงาน (Collaboration) ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในยุค Industry 4.0 และทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชาติได้

โดยเทคโนโลยีดังกล่าว จะสร้างงานรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของโลก เพิ่มคุณภาพในด้านการผลิต และทำให้การทำงานของภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประเทศที่ตามไม่ทันอาจตกยุคอย่างรวดเร็ว


พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
www.เศรษฐพงค์.com
[email protected]

logoline