svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

Big data คือเกมใหม่ในยุทธศาสตร์ระดับโลก...จะไปกันใหญ่แล้ว!!!

18 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตั้งแต่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ประกาศ "Big Data Research and Development Initiative" ในปี 2012 เป็นต้นมา

ทำให้ผู้นำประเทศต่างๆ หลายประเทศได้หันมาให้ความสนใจ Big data และเห็นพ้องว่า Big data ควรถูกพิจารณาให้เป็นแผนระดับชาติ (National Big Data Plan)

แม้แต่ EU เองก็ยังไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยกับ Big data โดยได้ออกแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2014 เกี่ยวกับ Big data

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนและเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Economy)

ซึ่ง EU เชื่อว่า Big data จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก โดย EU จะพยายามสนับสนุนส่งเสริมให้นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญมุ่งทำการวิจัยและพัฒนาให้ผู้ประกอบการได้ใช้ศักยภาพจาก Big data มาเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU ให้แข็งแกร่ง

ข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตซึ่งมีจำนวนมหาศาล ประกอบไปด้วยข้อมูลหลากหลายเกินจินตนาการ

เช่น ข้อมูลสภาวะอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายส่วนบุคคล ข้อมูลธุรกรรมทางการค้า ซึ่งข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้ หากเรานำมาแยกแยะ คัดกรองและเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เราอาจจะพบกับศักยภาพอย่างน่ามหัศจรรย์ของมัน

ด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่จะได้จากระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้นจะทำให้ธุรกิจ SMEs ขับเคลื่อนและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการที่ SMEs ได้คนพบความรู้และโอกาสใหม่ๆ นั่นเอง

การวิจัยและพัฒนาอย่างรวดเร็วในสาขา Big data จะทำให้เกิดการเพิ่มศักยภาพในหลายภาคส่วนที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบหลัก

เช่น ด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัยของอาหาร (food security) ด้านระบบคมนาคมอัจฉริยะ (intelligent transport systems) และด้านเมืองอัจฉริยะ (smart cities) ซึ่งรัฐควรมุ่งเน้นบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้ Big data ให้เกิดในทั้งภาครัฐและเอกชนในประเด็นดังต่อไปนี้
(1) มีบทบาทในการริเริ่มโครงการ Big data ที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักในด้านคุณภาพการให้บริการสาธารณะและคุณภาพชีวิต
(2) พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการสร้างความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี Big data แก่ SMEs
(3) สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการร่วมใช้และพัฒนา Big data ที่เป็นแหล่งข้อมูลเปิด (open data sources) และให้เกิดการวิจัยโครงการขนาดใหญ่
(4) มุ่งเน้นงานวิจัย Big data เพื่อสาธารณะเพื่อเสาะแสวงหาเทคโนโลยีและกฎหมายที่เหมาะสม รวมทั้งลดอุปสรรคที่เกิดจากรัฐเอง
(5) สร้างให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการใช้งาน Big data ที่สะดวกและง่าย (Data-friendly environment) ด้วยนโยบายและกฎหมายที่เอื้ออำนวย
(6) สร้างกระบวนการการจัดการสาธารณะที่รวดเร็ว โดยตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก และสร้างระบบบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

อย่างไรก็ตามความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเผชิญในประเด็นแรกคือ รัฐจะบริหารจัดการเพื่อนำข้อมูลอันมหาศาลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรในรูปแบบ Big data

ภายใต้ความยุ่งยากจากการที่ข้อมูกระจัดกระจายและไม่เป็นระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการให้บริการประชาชน

ประเด็นต่อมาคือ หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบให้มีความทันสมัยได้อย่างไร

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินการธนาคาร เพื่อให้ประชาชนในทุกภาคส่วนสามารถใช้ Big data ที่ภาครัฐเตรียมไว้ให้ ได้อย่างมีประสิทธิผล

ยุทธศาสตร์ชาติด้าน Big data เมื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วจะสามารถสนับสนุนงานภายในภาครัฐและงานบริการประชาชนได้ ดังนี้
- ทำให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกฎระเบียบการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐต่อภาคธุรกิจได้ดีขึ้น เพราะรัฐเข้าใจปัญหามากขึ้น และแก้ปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากมองเห็นข้อมูลครบรอบด้าน
- สามารถเข้าถึงและให้บริการประชาชนได้แบบเฉพาะบุคคล (Personalizing government services)
- สามารถทำให้ประชาชนมีช่องทางและมีสิทธิในการตัดสินใจร่วมกับภาครัฐได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
- รัฐสามารถแก้ปัญหานโยบายสาธารณะที่ซับซ้อนได้ดีขึ้นและแม่นยำขึ้นด้วยข้อมูลที่ครบรอบด้าน
- รัฐสามารถสนับสนุนส่งเสริมด้านนวัตกรรมได้ดีขึ้นด้วยกระบวนการที่ชาญฉลาดและรวดเร็วขึ้นจากแหล่งข้อมูล Big data ที่ทรงพลัง
- ภาครัฐและเอกชนสามารถลดต้นทุนการทำธุรกรรม (transaction cost) และลดค่าใช้จ่ายในการทำงานที่ซ้ำซ้อน จากการใช้ Big data ที่สมบูรณ์

ตัวอย่างอีก 2 ประเทศเล็กๆ แต่ทรงพลัง ที่นำเอา Big data มาบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น Big data national strategy ของประเทศสิงคโปร์ที่พยายามจะใช้ Big data มาขับเคลื่อนนโยบาย "Smart Nation"
และประเทศเอสโทเนียได้นำเอา Big data มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และได้นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อความมีเสถียรภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศอีกด้วย

อีกทั้งเอสโทเนียยังเป็นประเทศที่มีระบบ vote แบบ online เป็นประเทศแรกของโลก ซึ่ง 25% ของการ vote ทั้งหมดของประชากรเอสโนเนีย ได้ทำผ่านระบบ vote แบบ online

และ 99.6% ของการทำธุรกรรมธนาคารทั้งหมดเป็นการทำผ่านระบบ online โดยประเทศเอสโทเนียได้ประกาศในนโยบาย "Digital Agenda 2020" ว่าจะนำเอา Big data มาใช้เพื่อการพัฒนาและให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

Big data กำลังเป็น Megatrend ในแวดวงนักยุทธศาสตร์ระดับชาติทั่วโลกแล้วในวันนี้

เพราะ Big data จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถร่วมกันทำงาน (Collaboration) เพื่อทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในยุค Industry 4.0 และทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชาติได้

โดย Big data จะสร้างงานใหม่ๆ เพิ่มคุณภาพในด้านการผลิต และทำให้การทำงานของภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประเทศที่ตามไม่ทันอาจตกยุคอย่างรวดเร็ว

Reference[1] https://www.nist.gov/sites/default/files/documents/itl/ssd/is/NIST-BD-Platforms-05-Big-Data-Wactlar-slides.pdf[2] https://obamawhitehouse.archives.gov/blog/2016/05/23/administration-issues-strategic-plan-big-data-research-and-development[3] https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/xe/Documents/About-Deloitte/mepovdocuments/mepov18/big-data_mepov18.pdf[4] http://www.itl.ee/Digital_Agenda_2020

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณกรรมการกิจการกระจทิ้งายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)www.เศรษฐพงค์.com

logoline