svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

การรถไฟฯ วางกฎ 10 ข้อป้องกันเครนก่อสร้างรถไฟฟ้าหล่น

13 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตามที่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุโครงสร้าง Front Support ของ Launching truss ร่วงหล่นลงมาบริเวณด้านหน้าวัดดอนเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายซึ่งเป็นคนงานของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต


ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอุบัติเหตุดังกล่าวและได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าวตามที่ วสท. ได้ชี้แจงทางสื่อ Social network และแจ้งให้โครงการฯ ผู้รับจ้างบริษัท อิตาเลียนไทยฯนำชิ้นส่วนเหล็ก PT Bar ไปทดสอบการวิเคราะห์ชิ้นงานแบบทำลายของเหล็ก PT Bar ด้วยวิธีการ Microstructure Test   โดยผู้รับจ้างบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ปรึกษาควบคุมงาน CSC และการรถไฟฯ พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง นำชิ้นส่วนเหล็ก PT Bar ในที่เกิดเหตุนำไปทดสอบที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 
โดยทางสถาบันฯ แจ้งว่าต้องใช้เวลาทดสอบประมาณ 2 เดือน จึงจะทราบผล จากนั้นโครงการฯ จะนำผลการทดสอบดังกล่าวนำส่งให้ เป็นทางการเพื่อประกอบการวิเคราะห์ความสอดคล้องตามข้อสันนิษฐานทางวิศวกรรมเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงต่อไป 
ขณะเดียวกัน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้เสนอมาตรการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างรถไฟฟ้า ดังนี้
1. เพิ่มความแข็งแรงของการยึด ชุดล้อเลื่อน คานเหล็ก และขายึด ให้ติดกับเสาตอม่อให้แข็งแรงขึ้น ให้สามารถรับน้ำหนักแนวราบในทางเดินหน้า และถอยหลังไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนัก (โครงเหล็ก 360 ตัน) และไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของน้ำหนัก โครงเหล็ก และน้ำหนักชิ้นส่วนคานคอนกรีต 129 ตัน ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นเพิ่มคานเหล็กและ PT Bar รัดขาเหล็กติดกับเสาโดยมี Safety factor  ที่เหมาะสม
2. ติดตั้ง limit switch เพื่อจำกัด แรงดัน และแรงดึงที่ควบคุมการ เดินหน้า และถอยหลัง โครงเหล็ก ให้มีค่าแรงไม่เกิน แรงที่ใช้ออกแบบ
3. จัดอบรมพนักงาน ช่างเทคนิคและคนงานที่ทำการติดตั้งโครงสร้างชิ้นส่วนคานคอนกรีตที่มีน้ำหนัก ให้มีเข้าใจขั้นตอนที่ถูกต้อง และขีดจำกัดของอุปกรณ์
4. จัดให้มีวิศวกรหรือช่างเทคนิค ให้มีหน้าที่ตรวจสอบขั้นตอนการทำงานอย่างเข้มงวด หากพบการทำงานผิดขั้นตอนหรือลัดขั้นตอนให้ถือว่า พนักงานหรือคนงานจงใจกระทำผิดเพื่อเป็นการบ่อนทำลายให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานก่อสร้าง ความผิดเทียบเท่าการกระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรง ให้ลงโทษขั้นสูงสุด
5. ให้มีการรัดหัวเสาเหล็กโดยรอบทุกตัว
6. ในกรณีที่เกิดความขัดข้องเครื่องจักรอุปกรณ์ระหว่างปฏิบัติงานต้องหยุดดำเนินการทันที และให้แจ้งวิศวกรควบคุมและหัวหน้าโครงการทันที
7. กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้คนทำงานอยู่บริเวณเสาตัวแรกของการยกอุปกรณ์  
8. กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้รถผ่านไปมาระหว่างการยกแท่งเหล็ก
9.ติดตั้งวัสดุทึบป้องกันวัสดุตกหล่นจากที่สูง 
10.ต้องทำการตรวจ Launching truss ทุกตัว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ได้มีการประชุมหารือภายในของผู้เกี่ยวข้องในโครงการทุกฝ่าย อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยที่ปรึกษาบริหารโครงการที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และผู้รับจ้าง ได้มีการหารือถึงมาตรการการป้องกันในการทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานฉบับเต็มของที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC)และบริษัท อิตาเลียนไทยฯเพื่อที่การรถไฟฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจะได้ประมวลมาตรการต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติงานให้เกิดความรัดกุม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนโดยจะนำมาตรการไปใช้เป็นมาตรฐานในการกำกับดูแลโครงการอื่นๆของการรถไฟฯต่อไป

logoline