svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ถกปัญหา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

29 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดงานเสวนาหัวข้อ "พ.ร.บ.ปิโตรเลียมสะดุด ฉุดประเทศไทยเสียโอกาส" โดยมีทั้งภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วมหลายท่าน ติดตามรายละเอียดจากคุณฐานิตา บุญหล้า

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน บวร วงศ์อุดม บอกว่า หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ทั้ง 2 ฉบับ ที่กำลังจะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญิตแห่งชาติ หรือ สนช. ยังมีความล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับประชาชนที่จะต้องแบกรับภาระค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี จากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อมาทดแทนปริมาณไฟฟ้าที่หายไปจากระบบ ร้อยละ 30 และจะกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรม หากปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการผลิต ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความชัดเจน และอยากให้รัฐบาลเดินหน้าในระบบสัปทานเดิมไปก่อน เพราะที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็สามารถที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังานและไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ NOC ไม่มีความจำเป็น และยากต่อการสร้างความโปร่งใสด้านผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย อมรเทพ จาวะลา บอกว่า หากยังไม่ได้ข้อสรุปด้านความมั่นคงด้านพลังงานจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน เพราะเอกชนไม่ชอบความไม่ชัดเจน ซึ่งก็อาจจะทำให้เอกชนหันไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6-8 และมีทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อม

ขณะที่หัวหน้าภาควิชาการวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ มองว่า ตามหลักการ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ จะต้องทำให้รัฐและเอกชนสามารถแบ่งปันผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสม ถ้าหากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังล่าช้าออกไปจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน เกิดความไม่แน่นอนในการจัดหาแหล่งพลังงานและวัตถุดิบในด้านปิโตรเลียม รวมถึงลดขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้านรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลุยทธ์และพัฒนาธุรกิจ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล บอกว่า จะต้องเร่งให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกิดขึ้นโดยเร็ว อย่างช้าต้องจัดการประมูลสัมปทานให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียกับรัฐ โดยที่ผ่านมารัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ได้ถึงปีละ 240,000 ล้านบาท และหากล่าช้าจะยิ่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 สนช. จะพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่... พ.ศ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อเดินหน้าการเปิดประมูลแหล่งสัมปทาน แหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช จะหมดอายุในปี 2565-2566 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือมาตราที่ 10/1 การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เอาไว้ในบทเฉพาะกาล ยังเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน

logoline