svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

การเมืองสหรัฐเร่งปฏิรูปเฟด เมื่อสภาฯมีมติผ่านร่างกฎหมาย ตรวจสอบงบดุลธนาคารกลางสหรัฐ

29 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเมืองสหรัฐตื่นตัวเร่งปฏิรูปเฟด เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างกฎหมายตรวจสอบบัญชีของธนาคารกลางสหรัฐที่เรียกว่า "Audit The Fed" พลิกประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี และท้าทายความเป็นอิสระที่ต้องไม่มีสิ่งแอบแฝงซ่อนเร้น โดยเพิ่มอำนาจให้สภาคองเกรสในการตรวจสอบดังกล่าว หลังจากที่เฟดดำเนินนโยบาย QE โดยลำพังจนเกิดภาระการเงินที่ปูดขึ้นในงบดุลสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ที่สืบเนื่องมาจากวิกฤติฟองสบู่แตกของปัญหาซับไพรมส์ และวิกฤติการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส นำมาสู่วิกฤติการเงินแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2007-2008

ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มกลับถูกจับตามองว่าเป็นการสวนทางความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ในขณะนี้ โดยนักวิเคราะห์ซึ่งจับตามองมาตลอดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สั่นคลอนต่อการนั่งเก้าอี้ประธานเฟดของเจเน็ต เยลเลน จะถูกปลดกลางอากาศหรือไม่
ด้านเทเรซา เมย์ ได้ลงนามในหนังสือที่จะยื่นถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเรียบร้อยแล้ว ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ต่อโดนัลด์ ทัสก์ ในฐานะประธานคณะกรรมิการอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม ส่งผลนักลงทุนจับตาอนาคตของอังกฤษนับจากนี้ไปจะไม่มีผลประโยชน์ร่วมอยู่ในอียูต่อไป
1.เป็นเวลานานถึง 5 ปีที่ ส.ส.ของพรรครีพับลิกันนำโดย Ran Pual พยายามผลักดันร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้สภาคองเกรสมีอำนาจในการตรวจสอบบัญชีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือ Audit The Fed จนสามารถผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยยืนยันภายใต้การดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระของเฟดจะต้องไม่มีสิ่งที่แอบแฝงหรือซ่อนเร้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองสหรัฐตอกย้ำว่าการไม่สามารถตรวจสอบบัญชีของเฟดก็คือการปล่อยให้เกิดสิ่งที่ผิดพลาดในหลายเรื่องจนเกิดเป็นวืกฤติหลายครั้งตามมา ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องนำเข้าสู่วุฒิสภาต่อไป ซึ่งผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าน่าจะผ่านการอนุมัติเนื่องจากพรรครีพับลิกันเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม การผ่านกฎหมายตรวจสอบเฟดดังกล่าว กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายอำนาจบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพุ่งเป้าไปที่เจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดที่ถูกจับตามองมาตลอดว่าอาจจะถูกปลดออกจากตำแหน่งก่อนที่จะครบเทอมในช่วงกลางปี 2018 โดยเฉพาะทรัมป์ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เฟดมาตลอดถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดในการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน จนส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

2.โดยเฉพาะล่าสุดที่เฟดดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ หรือ Quantitative Easing (QE) อัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งส่งผลให้ฐานะงบดุลเฟดเกิดภาระที่บานปลายออกไปนับตั้งแต่เกิดวิกฤติช่วงปี 2007-2008 นั้น ซึ่งกดดันให้ประธานเฟดต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย Fed Fund Rate เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 11 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งจะมีการปรับขึ้นอีก 2 ปีในปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้า เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% ตามเป้าหมาย
หลังจากที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์มีส่วนในการเร่งตัวขึ้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยเงินเฟ้อสหรัฐจ่อที่ 1.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ประมาณการของเฟดคาดว่าหากสามารถขึ้นดอกเบี้ยตามที่วางแผนไว้ จะตรึงเงินเฟ้อตามเป้าหมายจนถึงปี 2019 อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงถูกมองว่ากำลังสวนทางความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ และสร้างความสับสนในตลาดการเงินของสหรัฐขณะนี้ โดยนักวิเคราะห์ซึ่งจับตามองมาตลอดเช่นกันว่า ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สั่นคลอนต่อการนั่งเก้าอี้ประธานเฟดของเจเน็ต เยลเลน นับจากนี้ไป

3.เทเรซา เมย์ ลงนามแล้วในหนังสือเมื่อวันอังคารที่จะยื่นถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ต่อโดนัลด์ ทัสก์ ในฐานะประธานคณะกรรมิการอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคมแล้ว โดยส่งผลนักลงทุนหันมาจับตาอนาคตของอังกฤษนับจากนี้ไป
เป็นเรื่องที่แน่นอนว่าการเจรจากระบวนการถอนตัวจากอียูของอังกฤษนับจากนี้ไปเป็นเวลา 2 ปี จะไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ของอังกฤษร่วมอยู่ในอียูต่อไปเช่นกัน ขณะเดียวกันนักลงทุนเริ่มจับตาทิศทางเงินปอนด์อีกครั้งหลังจากที่อ่อนค่าลงถึง 15% นับตั้งแต่มีมติโหวต Brexit เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 เป็นต้นมา รวมไปถึงอนาคตฐานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินยุโรปของอังกฤษจะยังดำเนินต่อไปได้หรือไม่ รวมทั้งอนาคตของแรงงานในอียูที่มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี และการใช้วืซ่าที่สามารถเดินทางอย่างมีอิสระในอียู ก็จะเริ่มมีบล็อกสกัดกั้นแรงงานเกิดขึ้น

4.โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามยกเลิกคำสั่งบารัก โอบามา ในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของอากาศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในด้านพลังงานและการจ้างงาน ท่ามกลางกระแสคัดค้านของกลุ่มต่อต้านโรคร้อนที่เรียกร้องให้มี Clean Energy เพื่อให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นสีเขียวต่อไป โดยเฉพาะนโยบายในเรื่อง Clean Power Plan เป็นสิ่งโอบามานำเสนอในปี 2014 เพื่อจะลดปริมาณคาร์บอนลง 32% ภ่ยในปี 2030
ในการเซ็นคำสั่งบริหารของทรัมป์ดังกล่าว เท่ากับเป็นทวนกระแสว่าสหรัฐจะไม่ดำเนินนโยบายตามสนธิสัญญาปารีสว่าด้วย Climate Change ที่กำหนดให้มีการลดและจำกัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการลดมลภาวะโลกร้อน ที่มีการลงนามกว่าร้อยประเทศเมื่อปี 2015

5.นักลงทุนทั่วโลกเริ่มหวาดหวั่นดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญของโลกทั้งสกุลเงินยูโร เงินเยน ฟรังก์สวิส และเงินปอนด์ จะส่งผลต่อการซื้อขายเงินดอลลาร์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่าถึงวันละ 5.1 ล้านดอลลาร์รวมทั้งมูลค่าของหลักประกันที่ตีค่าเป็นเงินดอลลาร์ตกต่ำลงด้วย
หลังจากตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งเงินดอลลาร์ร่วงลงถึง 5.32% เมี่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลง 3.22% เทียบเงินยูโร รวมทั้งเทียบฟรังก์สวิสอ่อนค่าลง 3.18% และเทียบเงินปอนด์อ่อนค่าลง 1.86% ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงถึง 9.03% เมื่อเทียบราคาทองคำ
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของดอลลาร์กลับสางผลให่ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่แข็งค่ามากขึ้น เช่น เม็กซิกันเปโซแข็งค่า 5.15% วอนเกาหลีแข็งค่า 2.16% ดอลลาร์ไต้หวันข็งค่า 1.05% เงินเรียลของบราซิลแข็งค่า 0.44% รวมทั้งเงินบาทแข็งค่า 3.68% จากระดับ 35.83 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ 34.51 บาทช่วงเช้าวันนี้

logoline