svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

Blockchain กับอุตสาหกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ : กรณีศึกษา Brooklyn Microgrid

28 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมเครือข่ายพลังงาน ด้วยการผ่านระบบ smart contracts ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังระบบเมื่อมีการเริ่มต้นทำธุรกรรม ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าการใช้พลังงานและการจัดเก็บพลังงาน จะถูกควบคุมโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

เมื่อใดก็ตามที่มีการสร้างพลังงานมากเกินความต้องการ smart contracts จะนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานส่วนเกินนี้ จะถูกส่งเข้าสู่ที่เก็บพลังงานโดยอัตโนมัติ

ในทางกลับกัน พลังงานที่เก็บไว้ในที่จัดเก็บดังกล่าว สามารถนำไปใช้งานเมื่อใดก็ตามที่พลังงานที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ

การจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรม smart contracts ทั้งหมดบนระบบ Blockchain แบบกระจายศูนย์ (Decentralized) จะช่วยให้สามารถจำแนก บันทึกด้วยความความปลอดภัยของกระแสพลังงานและกิจกรรมทางธุรกิจพลังงานทั้งหมดได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นจริงในการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อทำให้เกิดระบบ smart contracts คือ โครงการ "Brooklyn Microgrid" ที่ถูกพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท TransactiveGrid ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง LO3 Energy และ ConsenSys โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทดสอบวิธีการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain ว่าจะสามารถทำให้เกิดการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างเพื่อนบ้านแต่ละหลังโดยตรงได้อย่างไร

ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการนี้ ได้นำเอา Ethereum blockchain มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินการด้านพลังงานแบบกระจายศูนย์ได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถที่จะผลิตพลังงานมาขายหรือซื้อจากเพื่อนบ้านมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2016 โครงการนำร่องนี้ เริ่มต้นที่ Brooklyn ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการสำรวจอาคารที่ติดตั้งระบบการแจกจ่ายทรัพยากรด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ในระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ peer-to-peer ซึ่งระบบที่ให้แหล่งกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา จะถูกติดตั้งบนอาคาร 5 หลัง ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างพลังงานแสงอาทิตย์

แต่พลังงานทั้งหมดจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ภายในอาคาร แต่จะถูกนำไปขายให้กับอาคารใกล้เคียง และอาคารทั้งหมดจะเชื่อมต่อถึงกัน โดยอาศัยโครงข่ายไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งจะมีการจัดการและจัดเก็บรายการธุรกรรม โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain

ซึ่งโครงการนี้แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในอนาคตนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะทำได้อย่างอิสระโดยชุมชนในท้องถิ่น

การดำเนินการของโครงการนี้ มีการบูรณาการระบบ smart contract เข้ากับเทคโนโลยี smart meter และซอฟท์แวร์ Blockchain

ซึ่งจำเป็นต้องใช้ smart meter เพื่อบันทึกปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ และซอฟต์แวร์ Blockchain จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมระหว่างเพื่อนบ้านและ smart contracts จะถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินการและบันทึกการทำธุรกรรมเหล่านี้โดยอัตโนมัติและมีความปลอดภัยด้วยคุณสมบัติด้านการเข้ารหัสของ Blockchain

หนึ่งในเป้าหมายของโครงการนี้ คือการสร้างพลังงานทดแทนให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่จะสามารถทดสอบว่า ผู้บริโภคมีการซื้อขายพลังงานกับผู้อื่นหรือไม่

ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้ จะทำให้เกิดตลาดด้านพลังงาน ที่สามารถเข้าถึงผู้ที่มีแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับ prosumer ที่สามารถนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกิน นำออกมาขายสู่ตลาดได้

ในอนาคตโครงการนี้ ได้ถูกวางแผนให้ดำเนินการโดยองค์กรการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยอาศัยกลุ่มผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียง ให้มาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท

โดยแผนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดจะเป็นของชุมชนเอง โดยสมาชิกในชุมชนจะช่วยกันตัดสินใจเลือกวิธีการสร้างรายได้ให้กับองค์กรของชุมชน

และในปัจจุบันเจ้าของบ้านและผู้เช่ามากกว่า 130 ราย ได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการทั้งในฐานะที่เป็นผู้บริโภคและผู้จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ชัดเจนในโครงการลักษณะนี้ มักจะใช้เวลาอยู่บ้าง จนกว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีจำนวนมากพอ

ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ เทคโนโลยีนี้จะได้รับการพัฒนาต่อไปอีกในอนาคตหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับชุมชนเห็นความสำคัญในการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานกันเองหรือไม่

แน่นอนว่า ในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงาน คงยากที่จะเชื่อในการประยุกต์ใช้ Blockchain ในการบริหารจัดการที่พลิกผัน business model ดั้งเดิมดังกล่าวได้

เพราะโครงสร้างพื้นฐานสายส่งพลังงานที่มีอยู่ในขณะนี้ มองดูแล้วยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

แต่อย่าลืมว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อว่า โครงข่ายอินเทอร์เน็ต จะสามารถครอบคลุมถึงตัวบุคคลได้นับหลายพันล้านคนทั่วโลก... Impossible is nothing.


Reference

http://www.brooklynmicrogrid.com

------------------

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม

www.เศรษฐพงค์.com

LINE id : @march4g

logoline