svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

รัฐ-เอกชน ร่วมปฏิรูปกฎหมายโทรคมนาคม

21 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายฝ่ายเสนอ ปฏิรูปกฏหมายโทรคมนาคมทั้งหมดให้มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรความถี่ควรมีแผนที่ชัดเจน โปร่งใส และเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ในงานเสวนา 'พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตัวแปรเศรษฐกิจดิจิทัล' จัดโดยเนชั่นทีวี โดย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ บอกว่า กระทรวงดิจิทัลฯมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคตให้ประเทศไทยนั้นสามารถมีอินเตอร์เน๊ตใช้งานที่มีค่าบริการต่ำกว่าในปัจจุบันที่ใช้บริการอยู่ เนื่องจากคลื่นความถี่ของไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อให้เกิดการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้เหมาะสม มีการจัดสรรนำคลื่นที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยเน้นเรื่องการบูรณาการการำงานร่วมกันและมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่จะยังคงรักษาการแข่งขันให้มีความเป็นธรรมเพื่อนำเงินเข้าสู่ภาครัฐในการสานต่อนโยบายการบริหารงานของประเทศต่อไป และเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายตามแผนแม่บทของกระทรวงดีอีเช่นกันเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนไปได้ภายใต้กรอบข้อกฎหมาย

กรรมการ กสทช.นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา บอกว่า ปัจจุบันการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คลื่นความถี่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค และยังขาดความชัดเจนในการวางแผนการจัดสรรคลื่นความถี่เช่น เมื่อคลื่นใดที่จะหมดอายุสัมปทาน สิ่งที่ควรต้องมีคือ แผนการจัดการประมูลล่วงหน้า ซึ่งในหลายประเทศในอียูจะกำหนดเป็นแผนโรดแมพอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการจัดประมูลล่วงหน้าก่อนสัมปทานเดิมจะหมดอายุอย่างต่ำ 3-5 ปี ซึ่งหลังจากได้อ่านร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่อย่างคร่าวๆ แล้ว พบว่า ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการปฏิรูปกฏหมายที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมทั้งหมด ให้มีความสอดคล้องกัน พร้อมทั้งลดขั้นตอนและลดความซับซ้อนในการขอใบอนุญาต

ด้านผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฏหมาย บ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ บอกว่า ทรัพยากรด้านคลื่นความถี่ของไทยปัจจุบันถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์น้อยมาก ซึ่งมองว่าสัดส่วนที่ถูกนำมาใช้ยังขาดสมดุลกับจำนวนประชากรในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาราคาสูงเกินที่ควรจะเป็น ดังนั้นการจัดทำกฏหมายใหม่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่หลักสำคัญคือ 1. จะต้องมีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ต้องจัดทำโรดแมพการประมูลคลื่นความถี่ไว้ล่วงหน้า 2.รูปแบบขั้นตอนการประมูลต้องมีความโปร่งใส ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรที่เป็นอิสระ และ 3.จะต้องเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมดับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

สำหรับที่มาของการแก้ไขกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่ง ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของ ไทยแลนด์ 4.0 ว่าหากถ้าร่าง พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริงหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรต่อภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทยอย่างไร และประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์อย่างไรหรือมีผลกระทบอย่างไร

logoline