svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จากลูกไล่...สู่มหาอำนาจด้านเทคโนโลยี ICT ย้อนรอยก้าวกระโดดของเกาหลีที่ประเทศไทยต้องศึกษา

16 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประเทศเกาหลีเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีพัฒนาการจากประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับต่ำสู่หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสูงสุดของโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นจนเป็นกรณีศึกษาระดับโลก เพื่อให้ประเทศอื่นได้เรียนรู้"

"เกาหลีมีดีอะไรกว่าไทยหรือ? จึงทำได้!!!"
"มีปัจจัยใดบ้าง??? ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จนทำให้การแพร่กระจายของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศเกาหลีเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบ"
สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) มีความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมากในช่วง 4 ทศวรรษหลังที่ผ่านมานี้ โดยในปี 2015 ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีค่าขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน ICT ที่สูงที่สุดในโลก และที่โดดเด่นคือ ประเทศเกาหลีใต้มีครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นเปอร์เซ็นที่สูงที่สุดในโลก (98.49%) ความหมายคือ เกือบทุกครัวเรือนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั่นเอง
ย้อนรอยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำของโลก
ในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ประเทศเกาหลีมีอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์แค่เพียงอัตราร้อยละ 0.36 ต่อจำนวนประชากร 100 คนหรือคิดเป็นเศษหนึ่งส่วนสิบของอัตราเฉลี่ยทั่วโลก  และไต่ขึ้นมาอยู่ในระดับอัตราเฉลี่ยโลกได้ในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) จนกระทั่งปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) อัตราความแพร่หลายของโทรศัพท์พื้นฐานต่อจำนวนประชากรของเกาหลีก็เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 48.8 หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกเกือบถึงสามเท่า
ในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ประเทศเกาหลีมีอัตราผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตน้อยกว่าหนึ่งคนต่อประชากร 100 คน จนกระทั่ง ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตของประเทศเกาหลีมีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว และในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ประเทศเกาหลีก็กลายเป็นตลาดอินเตอร์เน็ตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มีจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตประมาณ 26 ล้านคน มีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงสุดเป็นอันดับที่สามและได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต้นๆของภูมิภาคเอเชีย ประเทศเกาหลีเป็นผู้นำด้านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของโลกจนกลายเป็นที่หนึ่งด้านอัตราการใช้งานเทคโนโลยีสื่อสารผ่านสายความเร็วสูง (DSL) และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยสายเคเบิลโมเด็มในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)
 
ปัจจัยใดบ้างที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศเกาหลี???
จากการวิจัยของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ไม่พบว่าประเทศเกาหลีมีข้อได้เปรียบเชิงประชากรศาสตร์ใดๆ ที่เอื้อให้เกาหลีได้ครองตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ทั้งในแง่ของขนาดพื้นที่และประชากร โดยจำนวนประชากรของสาธารณะรัฐเกาหลีอยู่ที่ 47.7 ล้านคนในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากกว่าไต้หวันถึง 2 เท่ามากกว่าฮ่องกงถึง 7 เท่า และมากกว่า ประเทศสิงคโปร์ถึง 11 เท่า
นอกจากนี้เกาหลีก็ยังไม่มีข้อได้เปรียบในแง่ของเศรษฐกิจที่เอื้อให้ครองตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงสุดในเอเชีย  เนื่องจากเสือแห่งเอเชียตัวอื่นๆที่เหลือต่างก็มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงกว่าประเทศเกาหลีซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) อยู่ที่ 9,400 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆอีก 50 ประเทศ ทั้งนี้ธนาคารโลกได้จัดให้ประเทศเกาหลีอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นระดับรองลงมาจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง จะเห็นได้ว่าประเทศเกาหลีไม่ใช่ประเทศที่ยากจนแต่ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางการเงินของโลกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศเกาหลีจึงไม่ได้สัมพันธ์กับระดับรายได้ของประชากรภายในประเทศแต่อย่างใด
อีกปัจจัยหนึ่งที่ดูเหมือนจะถ่วงไม่ให้ประเทศเกาหลีเกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็คือ ปัจจัยทางด้านภาษา ชาวเกาหลีมีภาษาเป็นของตัวเองจึงเป็นไปได้ยากที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อหาจำนวนมากที่พัฒนาขึ้นด้วยระบบภาษาอื่นที่เป็นภาษาสากล นอกจากนี้แล้วตัวอักษรฮันกึลของประเทศเกาหลีก็ยังถูกจัดอยู่ในระบบรูปแบบอักษรภาพ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์มากนัก ในทางตรงกันข้าม ฮันกึลเป็นระบบสัญลักษณ์แทนเสียงสากลซึ่งตัวอักษรหนึ่งตัวแทนเสียงหนึ่งเสียง ดังนั้นการเรียนรู้ฮันกึลซึ่งเป็นรูปแบบภาษาที่มีระบบแบบแผนตายตัวจึงไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยเหตุที่ฮันกึลสามารถเรียนรู้ได้ง่ายนี้เองก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการรู้หนังสือของประชากรเกาหลีนั้นสูงอยู่ในระดับต้นๆของโลก  สาเหตุนี้เองเป็นต้นน้ำที่เอื้อประโยชน์ให้เกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือถึงร้อยละ 97.6 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในหมู่ประเทศชั้นนำแห่งเอเชียเลยทีเดียว
ประเทศเกาหลีมีความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา มีอัตราการเข้าศึกษาในโรงเรียนของประชากร (ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา) อยู่ที่ร้อยละ 90 ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดในกลุ่มประเทศชั้นนำในเอเชีย ในประเทศเกาหลีการศึกษาในระดับประถมศึกษาถือเป็นภาคบังคับ (ฟรี) ส่วนอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศเกาหลีก็อยู่ในระดับค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 68 อีกทั้งเกาหลีก็ยังเป็นประเทศที่มีประชากรจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสูงสุดในบรรดาประเทศรายได้สูงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วยเช่นกัน
อัตราการรู้หนังสือและการเข้าศึกษาในโรงเรียนของประเทศเกาหลีที่สูงมากเช่นนี้เป็นปัจจัยตั้งต้นที่ก่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่างๆอย่างแพร่หลาย ปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เกิดผลพวงต่างๆทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกาหลี
สภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีมักถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษ ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เกาหลียังเป็นประเทศที่มีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยคงที่ประมาณร้อยละ 8 ต่อปี แต่ต่อมา 40 ปีให้หลัง อัตรารายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวของเกาหลีในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) อยู่ที่ 8,910 ดอลลาร์สหรัฐและระดับเศรษฐกิจของเกาหลีก็รุดหน้าขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก โดยหลักการแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ ฐานการผลิตของเกาหลีที่เน้นผลผลิตทางด้านสิ่งทอแต่ดั้งเดิมก็ถูกยกระดับขึ้นเป็นฐานการผลิตเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ จนในปัจจุบันผลผลิตและบริการทางด้านความรู้และสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ
เกาหลีได้จำแนกเทคโนโลยีสารสนเทศออกเป็นสามภาคส่วน ได้แก่ บริการด้านโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสารสารสนเทศ และ ซอฟท์แวร์สื่อสารสารสนเทศ โดยตลาดโทรคมนาคมของเกาหลีมีมูลค่าสูงถึงขั้นมีผลกระทบต่อการเจริญของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีมีส่วนบ่งทางการตลาดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคิดเป็นร้อยละ 13 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ถึงร้อยละ 8.6 อยู่ในอัตราที่สูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังได้เพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจของเกาหลีในอัตราที่มากกว่าภาคส่วนอื่นๆ ร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเกาหลี (GDP)
ผลิตภัณฑ์ประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากผลประโยชน์ทางตรงที่มีต่อประชาชนเกาหลีและบรรดาบริษัทสัญชาติเกาหลีแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังส่งผลบวกทางอ้อมแก่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศในภาพรวม
อุตสาหกรรมการผลิตมีส่วนผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีเติบโต แต่ไหนแต่ไรคือ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก (เช่น Samsung, LG, Hyundai) ต่างก็ครองภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเกาหลีเรื่อยมา ผลิตผลที่ได้จากบรรดาบริษัทเหล่านี้ก็ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ในทุกรายการ ตั้งแต่ชุดอุปกรณ์โทรทัศน์ สารกึ่งตัวนำที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังมีปริมาณมากถึงหนึ่งในสามของปริมาณสินค้าที่ส่งออกทั้งหมดของประเทศเกาหลี อุตสาหกรรมการส่งออกขนาดใหญ่ดังกล่าวรวมทั้งแนวโน้มด้านการส่งออกต่างส่งผลกระทบในทางยุทธศาสตร์ต่อภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศเกาหลี
ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าทำไมประเทศเกาหลีจึงสามารถแสวงหาประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว อันดับสำคัญแรกสุดคือ เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆที่ทำให้ตลาดภายในประเทศเกิดขึ้นใหม่มากมายและส่งผลให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆเพื่อรองรับอุปสงค์ทางด้านโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆยังทำให้เกาหลีมีความแข็งแกร่งในเชิงยุทธศาสตร์ด้านการส่งออกเทคโนโลยี แทนที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ เกาหลีมองเห็นลู่ทางว่าหากสามารถเป็นชาติแรกที่ผลิตและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆได้ ก็จะทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศเพิ่มพูนประสบการณ์และใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการส่งออก  บริษัทสัญชาติเกาหลีเองก็จะได้รับประโยชน์จากการป้อนสินค้าสู่ตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายในประเทศ โดยพยายามเพิ่มขีดความสามารถเพื่อแข่งขันในตลาดส่งออก
สิ่งที่ไม่สร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้แก่เกาหลีในช่วงเวลานั้นก็คือซอฟต์แวร์ เกาหลีต่างกับประเทศอื่นเช่นประเทศอินเดียที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้สามารถทำกำไรได้ในต่างประเทศ ในทางตรงกันข้ามเกาหลีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือฮาร์ดแวร์มากกว่า ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) เกาหลีมีส่วนแบ่งในตลาดซอฟต์แวร์โลกอยู่เพียงแค่ร้อยละ 1.3 และประสบกับสภาวะขาดดุลทางการค้าเป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากอุปสรรคทางด้านภาษา ในการนี้จะเห็นได้ว่าประเทศอินเดียมีความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์เนื่องจากใช้ภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาในขณะที่ภาษาเกาหลีไม่ใช่ภาษาสากล แม้กระนั้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการส่งออกของประเทศเกาหลีก็ไมใช่ว่าไม่เติบโตเอาเสียเลย จะเห็นได้ว่าเมื่อปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ตลาดซอฟต์แวร์มีอัตราการเติบโตสูงสุดในหมู่ภาคส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้แล้วยังมีตลาดเฉพาะกลุ่มบางประเภทที่เกาหลีเป็นผู้นำอยู่  เช่น ตลาดเกมออนไลน์ ซึ่งบริษัทสัญชาติเกาหลี ก็เป็นบริษัทเกมออนไลน์อิสระที่ใหญ่ที่สุดของโลก และเกมต่างๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งในเกาหลีเองและถูกขายต่อไปยังประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศทั่วโลก
....ประเทศเกาหลีใต้ในอดีต ก็เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่มาวันนี้ประเทศเกาหลีใต้ได้ยืนอยู่บนแท่นของประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการสร้างระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งสร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพและครอบคุมประชากรเกือบ 100% จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า "ความรู้และปัญญาของคนในชาติ พร้อมกับการมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่โลก" ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อช่วยขับเคลื่อนความเจริญของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อนำเอาบทเรียนแห่งความสำเร็จดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชาติของเราต่อไป..."




พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com-------------------LINE id : @march4g-------------------

logoline