svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

มติเฟด 9:1 ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ยืนยันจะขึ้นต่ออีกปีนี้ แต่อาจยยอมผ่อนช่วงสั้นประคองจีดีพีโตต่อเนื่อง

16 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นต่อเนื่องในปีนี้อีกตามที่ประกาศไว้ แม้จะยอมผ่อนคลายลงบ้าง โดยยืนยันพร้อมจะขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งต่อไปภายใต้นโยบายการเงินใหม่ที่ดำเนินการอยู่ในการกลับสู่ภาวะที่เป็น Normalization หลังมีมติ 9 ต่อ 1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นอีก 0.25% จากระดับ 0.75% เป็น 1% เมื่อวันพุธ คาดเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% จะเกิดขึ้นในปี 2018

ท่ามกลางข้อสงสัยแนวโน้มจีดีพีที่อ่อนตัวลงแรงในไตรมาสหนึ่ง โดยล่าสุดที่สาขาเฟดในแอตแลนตาชี้ว่า จีดีพีสหรัฐในไตรมาสหนึ่งปีนี้จะเติบโตเหลือแค่ 0.9% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาเป็นครั้งที่ 4 จากต้นปีลงมาเหลือแค่ 1 ใน 3 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่แล้วที่คาดไว้ 2.5%
อย่างไรก็ตาม เฟดอาจจะไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในแถลงการณ์ที่มีขึ้นหลังการประชุมเมื่อวันพุธ เพียงแต่บอกว่าอาจจะผ่อนคลายลงเพื่อให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป ส่งผลให้ดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 100 จุดที่ระดับ 20,950 หลังจากที่ปรับตัวลงตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา

1.คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติด้วยคะแนนเสียง 9-1 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยยังคงจุดยืนของนโยบายการเงินในบริบทใหม่นี้ยังคงจะสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมั่นคง มีสภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งต่อไป และหนุนให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% ที่จะมีเสถียรภาพในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2018
การปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมานี้ นับเป็นครั้งแรกในปีนี้ และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนนับจากเดือนธีนวามคม 2016 และเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 11 ปี ทั้งนี้เฟดคาดการณ์ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปี 2018 เพื่อให้เงินเฟ้อขับเคลื่อนสู่จุดเป้าหมายที่ 2% ซึ่งเฟดเชื่อว่าจะเป็นระดับที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดยตลาดการเงินคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ มีความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน และธันวาคม ขณะที่มีบางกระแสมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งอาจจะเป็นเดือนมิถุนายนและกันยายนนี้


2. ในการคาดการณ์ของเฟดชี้ว่า จีดีพีสหรัฐจะมีการขยายตัว 2.1% ในปีนี้ และปีหน้า ก่อนจะชะลอลงที่ 1.9% ในปี 2019 ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 4.5% ภายในสิ้นปีนี้ และจะทรงตัวในระดับนี้ไปจนถึงปี 2019 โดยอัตราการว่างงานปัจจุบันอยู่ที่ 4.7% ฟื้นตัวดีจากเดือนก่อนที่ 4.8%
นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.9% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวเข้าใกล้ระดับ 2% ในปี 2018

3. ล่าสุดสาขาเฟดในแอตแลนตาทำเซอร์ไพร์ส โดยออกมาคาดการณ์ใหม่ว่า จีดีพีสหรัฐในไตรมาสหนึ่งนี้ จะเติบโตเหลือแค่ 0.9% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาเป็นครั้งที่ 4 เป็นการเติบโตเพียงแค่ 1 ใน 3 จากที่คาดกก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่แล้วที่คาดการณ์ไว้ 2.5%
ต่อมามีกาปรับลดลงคาดการฌ์เป็นครั้งแรกที่ 1.8% หลังจากจีดีพีไตรมาสสี่ของปีที่แล้วลดลงมาอยู่ที่ 1.9% แต่เมื่อเจเน็ต เยลเลน ออกมากล่าวถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมก็ส่งผลให้คาดการณ์จีดีพีครั้งที่สองลดลงมาอยู่ที่ 1.3% ในวันที่ 1 มีนาคม ถัดมาเพียงวันเดียวก็มีการปรับลดคาดการณ์ใหม่เป็นครั้งที่สามลงมาที่ระดับ 1.2%


4. คำถามของตลาดจึงสงสัยว่า เฟดจะยังคงฝืนปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปทั้งที่สวนทางกับตัวเลขจีดีพีที่ชะลอตัวลงในระยะสั้นหรือไม่ ซึ่งเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในแถลงการณ์ที่มีขึ้นหลังการประชุมเมื่อวันพุธ แต่อาจจะผ่อนคลายนโยบายลงเพื่อให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป ส่งผลให้ดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 112 จุดหรือเพิ่มขึ้น 0.54% ปิดที่ระดับ 20,950 หลังจากที่ปรับตัวลงตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วน S&P 500 พุ่งขึ้นมากที่สุด 0.84% ปิดที่ 2,385 ขณะที่ Nasdaq ปิดตลาดทะลุแตะระดับ 5,900 อีกครั้ง เพิ่มขึ้น 0.74%


5.ในขณะที่สิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีก ด้วยอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 3.5-4% ด้วยการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานที่เพิ่ม 25 ล้านคนในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไป กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ทรัมป์อาจต้องตกม้าตายทั้งที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำปนะเทศ จากปัญหาหนี้ของรัฐบาลจำนวน 20 ล้านล้านดอลลาร์ พุ่งชนเพดานตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม
ทำให้ทรัมต้องตัดงบประมาณด้านปกป้องสิ่งแวดล้อมลงถึง 31% และตัดงบประมาณของกรทรวงต่างประเทศที่เน้นเป็นเงินช่วยเหลือกิจการในประเทศต่างๆ ลงอีก 28% เพื่อจัดสรรมาใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน
อย่างไรแผนการใช้เงินลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน และแผนการปฏิรูปและลดภาษีที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ 5.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีนี้ ก็กลังเจอปัญหาใหญ่ที่น่าหนักใจสำหรับทรัมป์เช่นเดียวกัน เมื่อฐานะการคลังมีการขาดดุลที่สูงถึงปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์
ในขณะที่หนี้รัฐพุ่งชนเพดานจนอาจจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศที่เกิดภาวะที่เรียกว่า Government Shutdown กำลังทำให้นักลงทุนหวาดหวั่นต่อผลกระทบเชิงลบที่มีมากขึ้น

logoline