svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ช็อค !! HSBC ธนาคารอันดับ 3 ของโลก กำไรปี 2016 ดิ่งลงถึง 62%

22 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

HSBC ธนาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดของยุโรป ถูกกระทบหนักจากผลกำไรก่อนหักภาษีในปี 2016 ดิ่งลงถึง 62% เหลือกำไรที่ 7.1 พันล้านดอลลาร์ เหตุฐานลูกค้าหลักในฮ่องกงและอังกฤษลดลงต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงรายได้บริการทางการเงินที่ตกต่ำลงในบราซิล ส่งผลหนี้เสียพุ่งขึ้น 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับจากวิกฤติการเงินรอบล่าสุด เตือนเศรษฐกิจการค้าโลกอาจเกิดภาวะชะงักงัน หากทรัมป์เดินหน้านโยบายกีดกัดทางการค้า อีกทั้ง Brexit และแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ที่จะส่งผลทำให้เกิดความความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์โลก


รัสเซียขยับขึ้นเป็นอันดับหนึ่งผลิตน้ำมันมากที่สุดของโลกแซงหน้าซาอุดิอารเบีย ไปแล้ว ด้วยปริมาณการผลิตน้ำมันสูงถึงวันละ 10.76 ล้านบาร์เรลในเดือนพฤศจิกายน 2016 ก่อนย่อตัวลงที่ 10.49 ล้านบาร์เรลในเดือนธันวาคม
ด้าน Google กลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกถึง 1.09 แสนล้านดอลลาร์ แซงหน้า Apple ที่ตกลงเป็นอันดับ 2 มูลค่า 1.07 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 64% และยังสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจโฆษณาสื่อดิจิทัลพุ่งขึ้นถึง 41% ในปี 2016

1. HSBC Holdings ธนาคารสัญชาติอังกฤษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เปิดเผยผลกำไรก่อนหักภาษีปี 2016 ตกต่ำลงถึง 62% จากปีก่อนหน้า โดยมีผลกำไรอยู่ที่ 7,100 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 18,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 ซึ่งดักลาส ฟลินท์ ประธานของ HSBC แถลงสาเหตุที่ทำให้กำไรของบริษัทดิ่งลง เกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในฮ่องกงและอังกฤษกระทบฐานลูกค้าหลัก รวมถึงต่อรายได้จากการบริการทางการเงินที่ตกต่ำลงในบราซิล และความนิยมที่ลดลงในยุโรป
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่พลิกผันในปีที่ผ่านมา นับจากการลงประชามติของชาวอังกฤษที่ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit และชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อีกทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ จะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนกระทบต่อการลงทุน ซึ่งนำไปสู่สภาวะตลาดการเงินที่อยู่เหนือการคาดการณ์
รวมทั้งจะยังคงส่งผลให้เกิดความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของผู้นำสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ตลาดการค้าโลกหยุดชะงักและมีผลกระทบต่อธุรกิจเดิมของธนาคาร ทั้งนี้ HSBC ยังเตรียมโยกงาน 1,000 ตำแหน่งจากลอนดอนไปสู่ปารีสของฝรั่งเศสแทนภายในช่วง 2 ปีนี้ หลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากสมาชิกของอียู รวมทั้งประกาศปิดสาขาอีก 62 แห่งในอังกฤษปีนี้ด้วย
พร้อมเตรียมแผนการซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีการซื้อค้นหุ้น 2,000 ล้านดอลลาร์ หลังราคาดิ่งลง 6% เนื่องจากผลประกอบการที่ตกต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา

2. นักวิเคราะห์เตือนสินเชื่อรถยนต์บูมในสหรัฐ ดันทะลุยอด 1.16 ล้านล้านดอลลาร์ ส่อเค้าเสี่ยงสูงตามรอยวิกฤติซับไพรม์ในปี 2007-2008 ทั้งนี้จากการเปิดเผยในรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก โดยเฉพาะยอดสินเชื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ในรัฐ Maine และ San Francisco ที่มียอดการผลิตพุ่งสูงถึง 17.55 ล้านคันในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตรถประเภท SUV และรถบรรทุก
โดยที่อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้กู้กับคนซื้อรถปรับตัวขึ้นถึง 4% จากเดิมที่เติบโตต่ำกว่า 2% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์ เนื่องจากมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกู้ยืมที่ต่ำกว่ามาตรฐานการปล่อยกู้

3. รัสเซียผลิตน้ำมันมากที่สุดขึ้นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าซาอุดิอารเบียไปแล้ว ด้วยปริมาณการผลิตน้ำมันสูงถึงวันละ 10.76 ล้านบาร์เรลในเดือนพฤศจิกายน 2016 ก่อนย่อตัวลงที่ 10.49 ล้านบาร์เรลในเดือนธันวาคม แต่ยังคงสูงกว่าซาอุดิอารเบียที่ผลิตได้ 10.46 ล้านบาร์เรล ส่วนสหรัฐผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับสามที่วันละ 8.8 ล้านบาร์เรล ตามด้วยอิรักผลิตได้เป็นอันดับสี่วันละ 5 ล้านบาร์เรล
ขณะที่การแข่งขันกันผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกยังคงเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ท่ามกลางนักลงทุนทั่วโลกที่ยังคงจับตาข้อตกลงการลดกำลังผลิตน้ำมัน 1.2 ล้านบาร์เรลในกลุ่มโอเปค และนอกกลุ่มโอเปคที่มีรัสเซียเป็นผู้นำอีก 6 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 จะเกิดผลเป็นจริงในทางปฏิบัติหรือไม่ หลังจากที่ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 54.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับ 49.44 ดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนเบรนท์ขึ้นมาอยู่ที่ 56.79 ดอลลาร์ จากระดับ 50.79 ดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน
4. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสินค้าอุตสาหกรรม หรือ PMI ของกลุ่มยูโรโซนทำเซอร์ไพรส์พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2011 มาอยู่ทีระดับ 56 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมอยู่ที่ 54.4 เป็นผลมาจากกิจกรรมของภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น และเป็นแรงกระตุ้นมาจากการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาของฝรั่งเศส ซึ่งมีระดับ PMI ที่ใกล้เคียงกับเยอรมันในเดือนล่าสุดนี้
โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะมีขึ้นในเดือนเมษายน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้นำการเมืองในเยอรมันจะมีขึ้นในเดือนกันยายน ท่ามกลางความกังวลที่กระแสการเมืองฝ่ายขวาชาตินิยมจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการบริหารประเทศในอนาคตก็ตาม

5. จากการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดทั่วโลกของ Visual Capitalist โดย Google กลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกถึง 1.09 แสนล้านดอลลาร์ แซงหน้า Apple ที่ตกลงเป็นอันดับ 2 ที่ 1.07 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึงกว่า 64% ในทิศทางเดียวกับที่สร้างรายได้จากธุรกิจโฆษณาด้านสื่อดิจิทัลพุ่งขึ้นถึง 41% ในปี 2016 ที่ผ่านมา
ส่วนอันดับ 3 เป็นแบนด์ซัมซุงของเกาหลีใต้มีมูลค่า 6.62 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามด้วยแบรนด์ ICBC ของจีนเป็นอันดับ 4 มูลค่า 4.78 หมื่นล้านดอลลาร์ และอันดับ 5 เป็นแบรนด์โตโยต้าของญี่ปุ่นมีมูลค่า 4.63 หมื่นล้านดอลลาร์

logoline