svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

IoT-Machine learning-AI เปลี่ยนอุตสาหกรรมโลก

07 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก คือเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้โลกเกิดความรุ่งเรืองมากตลอด 50 ปี หลังการค้นพบครั้งที่สอง คือการปฎิวัติทางพลังงานไฟฟ้า เมื่อถูกคิดค้นได้หลังจากนั้น 50 ปี โลกก็เจริญรุ่งเรือง แต่ที่น่าสนใจคืออินเทอร์เน็ต ซึ่งหลังจากถูกคิดค้นได้แค่ 20 ปี ก็เริ่มมีผลกระทบต่อโลก

ซึ่งต่อจากนี้ไปอีก 30 ปี จะเป็นช่วงสำคัญที่จะมีการเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่มีอยู่ทั้งหมดไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยที่มีการพัฒนาไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่แทรกอยู่ทุกจุดบนโลกใบนี้เพื่อช่วยในการตัดสินใจในมิติต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
การตัดสินใจของมนุษย์เราในเรื่องต่างๆ แต่ละครั้ง อาจจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้และประสบการณ์ ซึ่งถือว่ามีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการตัดสินใจในเรื่องเดียวกัน ปัญหาเดียวกันแท้ๆ เพียงแต่คนที่ตัดสินใจคนละคนกันก็อาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ว่าได้ เนื่องจากคนเรามีอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาผสมกับเหตุผล จึงอาจทำให้การตัดสินใจในแต่ละครั้งผิดพลาดจากสิ่งที่ควรจะเป็น และมันมักจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วยในหลายครั้ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้นักวิจัยในสาขาต่างๆ พยายามหาแบบจำลองเพื่อช่วยมนุษย์ตัดสินใจไปในทางที่มีเหตุผลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามในบางแบบจำลองที่ต้องการผลการตัดสินใจที่ผสมไปด้วยอารมณ์ธรรมชาติแบบมนุษย์ ก็มีนักวิจัยด้านการตลาดพยายามคิดค้นด้วยเช่นกัน เพราะการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการก็อาจเกิดจากอารมณ์ที่เหนือเหตุผล
ในปัจจุบัน แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมุ่งไปสู่การใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งในทุกๆ อุตสาหกรรม ล้วนได้รับผลกระทบจนถูกกดดันให้ต้องนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในทุกอุตสาหกรรมแล้วในขณะนี้
ระบบตรวจจับ (Sensors) ที่ใช้ในเทคโนโลยี IoT ทำให้แอพพลิเคชั่นเหมืองข้อมูล (Data mining) ทรงพลังและมีคุณค่าขึ้นอย่างแท้จริง จนทำให้เทคโนโลยีไม่ใช่เพียงแต่เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานให้แก่องค์กรเพียงเท่านั้น แต่กลายเป็นตัวขับเคลื่อนในระดับกลยุทธ์ขององค์กรไปแล้ว
ปัจจุบันพบว่าการทำ Data mining ทำให้ข้อมูลข่าวสารมีคุณค่ามากขึ้น เช่นทำให้การโฆษณาสามารถกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทำให้องค์กรมองเห็นภาพได้มากขึ้นว่าใครคือลูกค้า และผู้บริโภคต้องการอะไร ดังนั้นการพัฒนา IoT ให้เป็นตัวเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้เหมืองข้อมูล จึงถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับการพัฒนากลยุทธ์โดยรวมขององค์กร
สองในสามของนักพัฒนาด้านดิจิทัลเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถนำแอพพลิเคชั่น Cloud-based มาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในระบบสารสนเทศทุกอุตสาหกรรมภายในเวลาไม่นานนับจากนี้ โดยที่นักพัฒนาจำนวนมากคาดว่าจะทำการพัฒนาและปรับใช้แอพพลิเคชั่น Cloud-based ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2017 นี้ ซึ่งแอพพลิเคชั่น Cloud-based นี้เอง จะทำให้การใช้งานข้อมูลจำนวนมหาศาลบน IoT platform มีความยืดหยุ่น และยังทำให้นักพัฒนาสามารถเพิ่มฟังก์ชันการทำงานได้อย่างหลากหลายและรวดเร็วโดยไม่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงฮาร์ดแวร์ และยังสามารถทำให้การทำงานร่วมกันข้ามแพลตฟอร์มเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่านักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จะสร้างการเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครืองข่ายให้เชื่อมโยงกันได้ทั่วโลกจนอาจทำให้ business model ในทุกๆ อุตสาหกรรมเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ทั้งหมดภายใน 1-2 ทศวรรษนี้
ในขณะที่อุปกรณ์ IoT เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber attack) ก็มีความถี่และมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจทำให้มีการคิดค้นวิธีที่สามารถยับยั้งการไหลบ่าของข้อมูลในโลกแห่งดิจิทัลที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน ให้มีความเสียงจากการโจมตีทางไซเบอร์น้อยลงก็เป็นได้
เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) และ AI กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในปัจจุบันว่า จะเข้ามาเปลี่ยนโลกในทุกมิติ ซึ่งเทคโนโลยีทั้งสองมีความแตกต่างกัน โดยเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) เป็นการรวบรวมศาสตร์หลายแขนง ทั้งวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรม และสถิติ ที่ทำให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้และหาข้อมูลเชิงลึกโดยไม่ต้องมีการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจนในสิ่งที่ต้องทำ
ดังนั้นจึงสามารถเรียนรู้ คิด และแก้ไขปัญหาได้เองด้วยการเรียนรู้และสังเกตุผลของเหตุการณ์ต่างๆในจำนวนครั้งที่มหาศาล ในทางตรงกันข้าม AI เป็นวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer science) ที่เป็นการทำเลียนแบบกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ด้วยการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีรูปแบบในการตัดสินใจในรูปแบบอัลกอริธึม (Algorithm)
การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิความก้าวหน้าจนทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ทำงานคล้ายมนุษย์ ซึ่ง AI จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวอย่างมากของ IoT ทั้งนี้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลของ AI ผ่านการเรียนรู้ของเครื่องจักร จะทำให้มนุษย์เข้ามาแทรกแซงการทำงานน้อยลงอย่างมาก (มนุษย์ถูกแทนที่) และช่วยให้มนุษย์สามารถทำการตัดสินใจได้ดีที่สุดและเร็วที่สุดอีกด้วย ซึ่งข้อมูล IoT จะมีค่าที่สุดก็ต่อเมื่อมันสามารถตอบสนองได้ทันทีแบบ Realtime นั่นหมายความว่าข้อมูลจะต้องมีการวิเคราะห์โดยทันที และมีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานที่มีให้เห็นแล้ว เช่น เครื่องควบคุมความร้อนอัตโนมัติของ Nest ที่ใช้ AI ในการเรียนรู้อุณหภูมิและปรับการใช้พลังงานตามที่ผู้ใช้งานชอบ นอกจากนี้รถทุกคันที่ขายโดย Tesla จะทำงานเป็นเครือข่าย เมื่อรถยนต์คันหนึ่งมีการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างอย่าง รถยนต์ทั้งหมดในเครือข่ายจะมีการเรียนรู้ตามไปด้วย โดยนักวิเคราะห์พบว่าการลงทุนทั่วโลกของผู้ประกอบการทั้งในภาคบริการและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 255,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2019 องค์กรที่ทำตลาดด้าน IoT เพียงอย่างเดียวจะมีขนาดใหญ่กว่าตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรวมกัน
Bain ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 รายได้ต่อปีของผู้จำหน่ายอุปกรณ์ IoT ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ จะมีมูลค่าถึง 470,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Gartner ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2016 จะมีการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ถึง 64,000 ล้านชิ้นทั่วโลก และมากถึง 20,800 ล้านชิ้นภายในปี 2020
IDC ได้คาดการณ์ว่า รายได้ทั่วโลกที่เกิดจาก IoT จะมีค่าสูงถึง 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2020
Ericsson พยากรณ์ว่า IoT sensors และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจะมีจำนวนรวมกันมากกว่า mobile phone ในปี 2018 ด้วยอัตราการเติบโต 23%
IndustryARC research คาดการณ์ว่าตลาด IoT ในอุตสาหกรรมโดยรวมจะมีมูลค่าถึง 123,890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2021
IDC คาดการณ์ว่า ภาคโรงงานการผลิตทั่วโลกจะใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน IoT และ Big Data ที่เขื่อมโยงกับอุปกรณ์ที่ผลิตออกมาจำหน่ายทั่วโลกกว่า 60% ของจำนวนสินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่ายในตลาด
สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหลายรายเริ่มมีการขยับตัวแล้วที่จะมีการวาง IoT platform และ Big Data โดยใช้ขีดความสามารถการวิเคราะห์ (Data Analytics) ผ่าน Machine learning และ AI แล้วอย่างชัดเจน ทุกภาคอุตสาหกรรมจึงควรจับตามองเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ต่อไปเร็วๆ นี้



Reference[1] http://readwrite.com/2016/10/17/why-artificial-intelligence-will-finally-unlock-iot/http://readwrite.com/2016/06/22/developers-focus-more-on-iot-robotics-and-cloud-pt4/[2] http://www.forbes.com/sites/louiscolumbus/2016/11/27/roundup-of-internet-of-things-forecasts-and-market-estimates-2016/#2d5e75b04ba5---------------พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม6 กุมภาพันธ์ 2560 08:30www.เศรษฐพงค์.com-------------------หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัล เข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่ LINE id : @march4g

logoline