svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

หนองคายพร้อมชูลงทุนโลจิสติก-ท่องเที่ยว

29 กรกฎาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หนองคาย - หนองคายพร้อมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเน้นการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว สู่ประตูตะวันออก โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกและท่องเที่ยว ผวจ.เผย โลจิสติกรองรับทั้งระบบล้อและราง แถมติดกับเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว เชิญนักลงทุนเข้าพื้นที่ ด้านประธานหอการค้าระบุ พื้นที่พร้อมหนุนเต็มสูบ กำหนดโซนนิ่งในการประกอบธุรกิจเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผู้ประกอบการยังห่วงเรื่อง "ประกาศช้า" และ "แรงงาน"

วันที่ 29 ก.ค.59 ที่โรงแรมรอยัลนาคารา จ.หนองคาย ได้มีการสัมมนาเรื่อง "เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ศูนย์กลางการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศ โดยมีพ่อค้าประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนากว่า 300 คน
นายสุชาติ นพวรรณ ผวจ.หนองคาย ซึ่งเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า หนองคายเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับการกำหนดให้จัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 โดยลักษณะพิเศษหนองคายมีความสำคัญและโดดเด่นด้านการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว และหนองคายเป็นประตูสู่เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งมีสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 1 พร้อมเส้นทางรถไฟจากหนองคายสู่ท่านาแล้ง สปป.ลาว นอกจากนั้นจากการศึกษาวิเคราะห์ ข้อมูลศักยภาพหนองคาย ด้วยการจัดประชุมระดับจังหวัด อนุภูมิภาคและการรับฟังความคิดเห็นแบบรอบด้าน ของ องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งจังหวัด และนักธุรกิจสามารถแยกประเด็นสำคัญเอาไว้เป็นข้อมูลของหนองคายคือในการคัดกรองกิจการที่จะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประมาณ 10 ตัวแปร กิจการที่เหมาะสมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เป้าหมาย 2 กิจการ คือ โลจิสติก และการสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงกิจการประเภท อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การผลิต คลังสินค้า ยานยนต์ คมนาคม ร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจและเกี่ยวกับวิถีชีวิต ทั้ง ประมง งานซ่อมบำรุง อิเลคทรอนิค ตลาดสด การเกษตร การศึกษา นอกจากนั้นยังศึกษารวมถึง ผลกระทบเรื่องวิถีวัฒนธรรม การศึกษา วิถีชีวิต พื้นที่ ที่ดิน และความปลอดภัยด้วย
โดยเฉพาะภัยคุกคามที่จะเกิดจากการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ คือ อาชญากรรม โรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดจากการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ประชาชน ขยะ มลพิษ มลภาวะทางอากาศ ในอนาคตหนองคาย จะกลายเป็นเมืองหน้าด่านรองรับการค้า การลงทุนจาก สปป.ลาว และเป็นประตูสู่ตะวันออก ประตูส่งออกสินค้าสู่ตลาดอาเซียน ทั้งสินค้าเกษตร อุปโภค บริโภค ซึ่งจะทำให้หนองคายมีมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มอีกหลายเท่าตัวจากเดิมที่สูงที่สุดในประเทศ

หนองคายพร้อมชูลงทุนโลจิสติก-ท่องเที่ยว


"ในการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการช่วยในการเพิ่มข้อมูลและสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ เพราะก่อนหน้านี้นักธุรกิจค่อนข้างกังวล เรื่องคมนาคมจะสะดวกไหม แต่ขอยืนยันว่า หนองคายพร้อมทั้งระบบล้อ และระบบราง ระบบล้อหรือทางถนนมี 4 เลนส์ ในอนาคตจะขยายเพิ่ม 4 เลนส์ไปยังอ.ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ สังคม ปากคาด เพื่อเชื่อมไปยังอ.เชียงคาน จ.เลย ส่วนระบบราง หนองคายเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดระบบรางของประเทศ และมีนักธุรกิจมาใช้การขนส่งระบบรางส่งสินค้าไปยังแหลมฉบัง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนน และมั่นใจว่าอนาคตหนองคายจะเป็นประตูการค้าและเพิ่มมูลค่าการค้าได้มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน"นายสุชาติ กล่าวด้านนางมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ความพร้อมของหนองคายพร้อมที่สุดเรื่องคมนาคม และการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนนั้น จังหวัดได้กำหนดเขตคร่าวๆเอาไว้ว่า 5 อำเภอที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเอาไว้นั้น อ. สังคมให้เป็นพื้นที่ อุตสาหกรรมการเกษตร อ.เมือง อ.ท่าบ่อ อ.สระใคร เน้นพื้นที่อุตสาหกรรมเบา จำพวกแปรรูปอาหาร ด้านขนส่ง การท่องเที่ยว ส่วนการขนส่งนั้นที่สถานีรถไฟนาทา มีการสร้างศูนย์ OSS เอาไว้แล้วและเพิ่มช่องบริการเป็น 4 ช่องบริการแล้ว และระบบรางในอนาคตก็จะมีรถไฟรางคู่ เข้ามาเพิ่มอีกด้วย
"อยากให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าหนองคายพร้อมในการจะรองรับนักลงทุนทุกด้าน แม้รถไฟรางคู่อาจจะมาช้าและยังไม่ถึงหนองคายในตอนนี้ แต่มั่นใจว่าในอนาคตจะต้องมาถึงแน่นอน และอนาคตรถไฟความเร็วสูงก็จะต้องตามมาด้วยเช่นกัน" นางมนนิภา กล่าว
ส่วนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนหนองคายห่วงนั้น ประธานหอการค้าหนองคาย กล่าวว่า คนหนองคายห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม เกรงจะมีมลภาวะ มลพิษ เน้นให้หอการค้าดูแลเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้หนองคายเป็นเมืองสงบ อยู่สบาย แต่เรื่องเศรษฐกิจเราก็ได้เสนอว่าเราเน้นเหมือนกันเพื่อให้จังหวัดเราได้พัฒนา และอยากจะมีตลาดแน่นอน ซึ่งพอมีการชี้แจงเรื่องนี้ประชาชนเข้าใจแต่ยังเป็นห่วงเรื่อง ผลกระทบอยู่จึงจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง โดยชาวหนองคายขณะนี้เปิดใจเพื่อรองรับนักลงทุนอย่างเต็มที่ โดยมีนักธุรกิจจากญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะจีนเข้ามาดูพื้นที่เพื่อผลิตพืชสมุนไพรส่งขายไปทั่วโลก เพราะมองว่าไทยสามารถปลูกสมุนไพรได้ดี และหวังได้ อย.ที่ไทยเพื่อเป็นมาตรฐานส่งออกไปทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เกษตรของเราด้วย และในพื้นที่เองก็มีพืชเกษตรหลักๆคือ อ้อย ยางพารา ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศ ที่ในพื้นที่ผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้ว โดยเฉพาะมะเขือเทศมีการผลิต แปรรูปและส่งออกอยู่
สำหรับการท่องเที่ยว เน้นรูปแบบเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรม โดยเน้นที่อ.สังคม มีน้ำตก ภูเขา และด้านวัฒนธรรมมีวัดวาอาราม อย่างวัดหลวงพ่อพระใส วัดพระธาตุบังพวน วัดหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เหรียญ ส่วนธุรกิจที่มองว่ามีอนาคตและเติบโตคือ การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งพอมีช่องว่างให้นักลงทุนมาลงทุนได้
ในขณะที่ปัญหาแรงงานซึ่งผู้ประกอบการเป็นห่วงนั้น นางมนนิภา กล่าวว่า เรายังหวังพึ่งแรงงานจากลาวอยู่ แต่ก็ได้เตรียมผลิตแรงงานของเราเองเพื่อรองรับ บัณฑิตเพื่อรองรับงานในตรงนี้ ทั้งภาษา ช่าง และ ช่างคอมพิวเตอร์ ส่วนที่หลายฝ่ายมองเรื่องคู่แข่งเพื่อนบ้านลาว ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว และดูเหมือนของเราจะเริ่มช้านั้น จริงๆ แล้วการลงทุนในเพื่อนบ้านมีความเสี่ยงสูงแต่ของไทยมีความมั่นคงและน่าเชื่อถือกว่า ไม่มีการแปรเปลี่ยนง่าย ตรงนี้คือจุดสำคัญที่จะดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่
ส่วนภาคธุรกิจ นายพงษ์ปณต อิงคสิทธิ์ ผู้บริหารงานกลยุทธ์ธุรกิจข้ามประเทศ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เพื่อนบ้านอย่างลาวมีความพร้อมมาก โดยเฉพาะทางลาวพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ จากแลนด์ล็อค เป็นแลนด์ลิงค์ มีเส้นทางรถไฟเชื่อมจากจีน ศักยภาพไม่ได้แค่การข้ามไปแค่ลาว แต่สามารถเชื่อมไปจีนได้ และจีนมีตลาดใหญ่มาก เป็นศักยภาพที่หนองคายจะเป็นศูนย์การค้าการลงทุนมหาศาล จำนวนการค้าชายแดนเติบโตมาก ถ้าเราไปดูเนื้อในจริงๆ ไม่ใช่การแค่บริโภคของสปป.ลาว ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่มีกำลังซื้อไปยังจีนตอนใต้ด้วย
"ส่วนการทำธุรกิจกับเพื่อนบ้าน ไม่ใช่คู่ค้าแค่ลาว แต่มองไกลไปถึงจีน เวียดนาม เวลาชำระเงินจะผ่านวิธีโอน ตอนนี้ธนาคารกสิกรไทยมีสาขาอยู่ลาว และจีนแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องการโอนจ่ายชำระค่าสินค้าและการซื้อขายเน้นการชำระเงินด้วยสกุลเงินของท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งลูกค้าในลาวของกสิกร มีหลากหลายทั้งก่อสร้าง อาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม มีการเชื่อมโยงธุรกิจสองประเทศ โดยมีการจับคู่ธุรกิจสองฝั่งเพื่อให้เชื่อมโยงกัน แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วงขณะนี้คือ เราประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษช้าไปไหม ดีกรีของเพื่อนบ้านเราไปไกลแล้ว ลาวมีบ่อเต็ง ที่ประกาศเขตพัฒนาไปแล้ว วิธีการแตกต่างจากเรา เพราะลาวให้วิธีการสัมปทาน ทั้งจีน สิงคโปร์ เข้ามาสัมปทานแล้ว แต่บ้านเราอาจจะต้องเร่งรัด วางแผนให้ดีกว่า เรามองนักลงทุนจากตรงไหน ต่างชาติ หรือในพื้นที่ หนองคายเป็นเก็ตเวย์ที่ดีกับการเชื่อมสปป.ลาว แต่การค้าที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ไทยควรจะขยับเรื่องเวลาเพราะเราช้ากว่าเพื่อนบ้าน เพราะเพื่อนบ้านเขาไปไกลแล้ว และมีนักลงทุนจากจีนเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ ลงทุนในธุรกิจเกือบทุกด้านแต่เรายังช้าอยู่ โดยเฉพาะโลจิสติกต่างๆ " นายพงษ์ปณต กล่าว

หนองคายพร้อมชูลงทุนโลจิสติก-ท่องเที่ยว


ในขณะที่นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายรัฐสัมพันธ์ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้โลตัส เห็นศักยภาพหนองคายตั้งแต่มาลงทุนทำธุรกิจครั้งแรกแล้ว หนองคายเป็นประตูเชื่อมไปยังประเทศอื่น ไม่ใช่แค่ สปป.ลาว แต่เชื่อมผ่านแดนไปยังจีน เวียดนามตอนบนด้วย โดยกำลังซื้อจะวิ่งเข้ามาหาแบรนด์ไทย เพราะผู้บริโภคลาว จีน มองสินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ตอนที่โลตัสมาเปิด พบว่าลูกค้ามีทั้งในหนองคายและลาว เพื่อซื้อสินค้าเอากลับไปใช้สอยและจำหน่ายต่อด้วย ศักยภาพของหนองคายเป็นเทรดดิ้งเซชั่น ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 ที่นั้น หนองคายจะเป็นศูนย์ค้าส่งค้าปลีกจะเป็นอันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้
"ส่วนหนึ่งเรามองว่า เขาต้องการสินค้าไทยมาก ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือสินค้าเกษตรกรรม ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ของไทยเป็นที่ยอมรับมากของ สปป.ลาว และถือกลับไปที่บ้านเขา เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ" นายโชคชัย ระบุ
ในขณะที่ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเอสเอ็มอีแบงค์นั้น นายโชคชัย รวมทวี ผู้จัดการเขตศูนย์พัฒนาภาค 4 เอสเอ็มอีแบงค์ กล่าวว่า ตัวเลขเอสเอ็มอีแบงค์ของหนองคาย มีตัวเลขน่าสนใจว่าเมื่อปีที่แล้วได้ให้เงินสินเชื่อไป 200 กว่าล้านปรากฎว่ามีลูกค้าเบิกจ่ายไปแค่ 6 เดือนสูงถึง 154 ล้านแล้ว แสดงว่าเติบโตมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีแบงค์ ประกอบธุรกิจด้าน การส่งออกวัสดุก่อสร้าง การเกษตร โดยทุกรายส่งผ่อนงวดตรงทุกราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แสดงว่ารายได้ดี ส่งผลให้ธุรกิจดีด้วย "การปล่อยสินเชื่อ 7 เดือนยอดพุ่งเพราะพอพูดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้ประกอบการในพื้นที่ก็วางแผนการขยายเศรษฐกิจของเขา มีการลงทุน เป็นการลงทุนจากข้างนอกมาข้างใน ธนาคารของเราสนับสนุนผู้ประกอบการระดับ เอส กับ เอ็ม ก็ลุยกลุ่มธุรกิจตรงนี้ โดยการช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นน่าจะมีธุรกิจประเภท เรียลเซกเตอร์ทางแบงค์ก็จะออกสินเชื่อด้านเครื่องจักรที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการใหม่ก็จะมีโครงการนอบรมและให้เงินกู้ ให้มากถึง 5 ล้านบาท โดยไม่มีข้อจำกัด กลุ่มที่มาขอสินเชื่อมากเป็นพิเศษคือกลุ่มธุรกิจใหม่ ค้าขาย อาหาร ร้านกาแฟ แต่เรายังขาดความเป็นมาตรฐาน อย่างผลิตอาหารยังไม่มีจีเอ็มพี ไม่มีอย. ทาง แบงค์ก็ช่วยเหลือด้วยการจะพาไปขอ อย. ไปขอ จีเอ็มพี เพื่อให้เขาขยายธุรกิจของเขาให้เติบโตมากขึ้นสู่ระดับอาเซียน เพื่อให้มีมาตรฐานด้วย"นายโชคชัย กล่าว
ส่วนปัญหาของผู้ประกอบการที่พบขณะนี้ นายโชคชัย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่พบคือกลุ่มผลิตจะไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตแต่มีปัญหาเรื่องการตลาดที่สู้รายใหญ่ไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนกลุ่มบริการร้านอาหาร อพาทเม้นท์ โรงแรม จะมีปัญหารายได้ไม่แน่นอน กลุ่มผู้ใช้บริการไม่แน่อน เวลาสัมภาษณ์ให้สินเชื่อผู้ประกอบการไม่รู้จะให้บริการกลุ่มไหน เพราะแม้จะทำหอพักอพาร์ทเม้นท์ได้แต่ไม่รู้จะขายให้ใคร ซึ่งตรงนี้ทางแบงค์จะต้องจัดอบรมให้ความรู้ก่อน ก่อนจะปล่อยสินเชื่อ และสิ่งหนึ่งคือคุณภาพไม่สูงแต่ตั้งราคาสูงทำให้ไปไม่รอดก็จะต้องแนะนำเพื่อให้ปรับเปลี่ยนและเอาตัวให้รอด
"การที่หนองคายจะประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจจะต้องมีตลาดว่าจะขายที่ไหน วางที่ไหน ขายให้ใครกับคนลาวหรือคนไทย จะต้องมีเป้าหมายชัดเจนแยกให้ชัด เพื่อผลิตสินค้าป้อนได้ชัดเจน จะขายทางออนไลน์หรือมีหน้าร้านชัดเจน ต้องดูตลาดประกอบด้วย และหากสินค้ามีสตอรี่ มีเรื่องเล่าจะทำให้เพิ่มมูลค่าได้ด้วย และอยากให้คิดว่าเราจะสร้างสิ่งใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร" ผจก.เขตศูนย์พัฒนา ภาค 4 ธนาคารเอสเอ็มอีแบงค์ กล่าว

logoline