svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"สีกากี" บ่นโดนขอแกมบังคับบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการฯ

19 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกเรื่องที่กลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมา และเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน คือการออกหนังสือเวียนของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอรับบริจาคเงินสมทบกองทุนสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ, ทุพพลภาพ และเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็รวมถึงตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ดราม่ากรณีนี้ คล้ายๆ กับกรณีที่ "ตูน บอดี้สแลม" นักร้องวงร็อคชื่อดัง ออกวิ่งมาราธอนจากใต้จรดเหนือ เพื่อระดมเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้โรงพยาบาล 11 แห่งที่ขาดแคลน แล้วก็ถูกวิจารณ์จากบางฝ่ายว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้ประโยชน์ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลมากกว่า เรื่องราวแบบเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในแวดวงสีกากี เมื่อมีหนังสือเวียนจาก ผบ.ตร. ขอให้ข้าราชการตำรวจทุกชั้นยศ ร่วมบริจาคเงินสมทบ "กองทุนสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เรื่องนี้กลายเป็นดราม่าขึ้นมา เพราะไม่ได้เป็นหนังสือเวียนขอบริจาคธรรมดา แต่มีการกำหนดอัตราเงินบริจาคที่ตำรวจแต่ละชั้นยศต้องจ่ายด้วย เช่น ผบ.ตร. 10,000 บาท, พลตำรวจเอก (เช่น รองผบ.ตร. ที่ปรึกษา สบ 10) คนละ 5,000 บาท, พลตำรวจโท (เช่น ผู้ช่วย ผบ.ตร. / ผู้บัญชาการภาคต่างๆ) คนละ 3,000 บาท ไล่มาเรื่อยๆ ทุกชั้นยศ จนถึง ดาบตำรวจ สิบตำรวจตรี นักเรียนนายร้อยตำรวจ และลูกจ้างประจำ ก็กำหนดอัตราให้บริจาคคนละ 100 บาทด้วยเหตุผลของการขอรับบริจาคก็คือ นำเงินไปช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เมื่อหนังสือเวียนฉบับนี้่เผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดการตั้งคำถามและเสียงวิจารณ์ในหมู่ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยว่า การรับบริจาค เหตุใดถึงต้องมีการระบุจำนวนเงิน แม้ในหนังสือเวียนจะบอกว่าไม่บังคับ แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจก็ตาม และยังมีคำถามว่างบประมาณในการดูแลข้าราชการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีไม่เพียงพอหรืออย่างไร "ล่าความจริง" ได้สอบถามไปยังนายตำรวจระดับผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งเป็นโรงพักห่างไกล โดยตำรวจนายนี้บอกว่า ในฐานะตำรวจก็พร้อมช่วยเพื่อนตำรวจด้วยกัน แต่การขอรับบริจาคลักษณะนี้ไม่อยากให้มีบ่อยนัก เพราะเงินจำนวน 300-500 บาท แม้จะมองว่าเป็นเงินจำนวนน้อย แต่สำหรับตำรวจในต่างจังหวัดที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ถือว่ามากพอสมควร เพราะเงินเดือนตำรวจไม่ได้มากอย่างที่สังคมเข้าใจ เงินเดือนออกที ก็ต้องนำไปชำระหนี้สินต่างๆ แทบไม่เหลือเงินเลยในแต่ละเดือน
ขณะที่ตำรวจยศร้อยตำรวจโทนายหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกว่า การออกนโยบายอะไรของผู้บังคับบัญชา น่าจะสอบถามความเห็นของกำลังพลก่อน โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยที่น่าจะเดือดร้อนพอสมควรกับเงินจำนวนนี้
นายตำรวจชั้นประทวนนายหนึ่ง ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องรับบริจาคเพิ่ม เพราะตำรวจทุกคนถูกหักเงินเดือนทุกเดือนเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือเพื่อนตำรวจที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว อย่างตนเองเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ตั้งแต่เรียนจบเข้ามาบรรจุเป็นตำรวจก็เป็นหนี้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องแบบ ปืน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากมีการบริจาคแบบนี้บ่อยๆ ตำรวจชั้นประทวนต้องเดือดร้อนแน่ เมื่อมีกระแสแบบนี้ออกมา "ล่าความจริง" จึงขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา หัวหน้าทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับคำตอบว่า เรื่องการขอรับบริจาคเงินสมทบนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี 2555 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยเป็นการขอรับบริจาคเพิ่มเติมจากเงินค่าณาปนกิจสงเคราะห์ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องถูกหักจากเงินเดือนแต่ละเดือนอยู่แล้ว
สำหรับที่มาของเงินสวัสดิการนี้ มาจาก 2 ช่องทาง คือ 1.เงินที่ได้จากสหกรณ์ของแต่ละหน่วยงาน จำนวน 15 ล้านบาทต่อปี และ 2.เงินที่ได้รับบริจาคตามหนังสือเวียนที่เป็นข่าวอยู่นี้ จะได้ประมาณ 28 ล้านบาท รวมเป็น 44 ล้านบาทต่อปี/ โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการปะทะต่อสู้ หรือซุ่มโจมตี จะจ่ายให้ 5 แสนบาท, เสียชีวิตจากการถูกทำร้าย 375,000 บาท, เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 250,000 บาท เป็นต้น ส่วนกรณีบาดเจ็บก็จะได้ลดหลั่นกันไป เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายเงินช่วยเหลือไปทั้งสิ้นเกือบ 50 ล้านบาท โดยมีตำรวจเสียชีวิต 57 นาย จ่ายช่วยเหลือไปประมาณ 21 ล้านบาท บาดเจ็บ 469 นาย ช่วยเหลือไปประมาณ 28 ล้านบาท และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม จำนวน 84 นาย เป็นเงิน 420,000 บาท โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด มีคณะกรรมการสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คอยตรวจสอบ รวมถึงมีการจัดทำสถิติตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เพื่อให้มีความชัดเจนและโปร่งใส เรื่องนี้ต้องบอกว่ามองได้หลายมุมจริงๆ เพราะการช่วยเหลือเพื่อนตำรวจด้วยกัน ก็เป็นเรื่องดี เพื่อความรักความสามัคคีในองค์กร แต่สำหรับตำรวจชั้นผู้น้อยที่เงินเดือนน้อย มีหนี้สินมาก ก็อาจจะไม่ไหว รู้สึกว่าเดือดร้อน ฉะนั้นก็ต้องอยู่ที่การชี้แจงของผู้บังคับบัญชาว่าจะทำความเข้าใจกันอย่างไร และคงต้องรอดูผลงานการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลด้วยว่า จะแก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนตำรวจ ให้ได้เงินเดือนมากขึ้นหรือไม่

logoline