svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เจ้าหน้าที่พบพิรุธ ขนโค-กระบือผิดกฎหมาย ซ้ำรอยเคสเปลือกไม้ก่อ

13 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม่ฮ่องสอน - พิษของเปลือกไม้ก่อนำเข้าจากเมียนมา ยังไม่เคลียร์ หลัง ตำรวจปทส.พบพิรุธ ส่อมีการทุจริตของหลายหน่วยงาน ล่าสุดพิษลามถึงการนำเข้าโค-กระบือจากพม่า เมื่อกลุ่มพ่อค้ารุดเข้าร้องศูนย์ดำรงธรรมขอนำเข้าโคกระบือเป็นการด่วน ด้านหน่วยข่าวกรองความมั่นคงชี้ชัด การนำเข้าต้องทำตามระเบียบข้อกฎหมาย แต่กลับมีการพยายามเลี่ยงกฎหมาย

นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำหนังสือเรียนต่อนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามหนังสือเลขรับที่ 7693 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 โดยอ้างถึงหนังสือด่วนที่สุด ของสำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ มส.0017.1 / ไม่มีเลขรับ ลงวันที่ ไม่ระบุวันที่ เดือนสิงหาคม 2560 เรื่องขออนุญาตนำโคและกระบือเข้ามาในราชอาณาจักร โดยอ้างหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จากผู้ประกอบการนำเข้าโค กระบือ ซึ่งทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แทงเรื่องเห็นชอบต่อ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เห็นควรให้แจ้งต่อด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน , อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน , สำนักอนุรักษ์บริหารที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ,ด่านกักสัตว์ แม่ฮ่องสอน , ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน , กองร้อย ตชด.336 และผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ประชุมหารือร่วมกันของศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา โดยให้ป้องกันจังหวัดและปลัดจังหวัดรับไปดำเนินการ ภายใน 15 วัน
สำหรับหนังสือดังกล่าว ซึ่งออกโดยสำนักงานจังหวัด ฯ ไม่มีเลขที่รับหนังสือและไม่ระบุวันที่ ลงนามโดยนายบำรุง สังข์ขาว ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลพัฒนาจังหวัดรักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ได้อ้างถึงศูนย์ดำรงธรรม ฯ ได้รับหนังสือร้องทุกข์จาก ผู้ประกอบการค้า ได้แก่ นายปุ้น กล้าประจัน , นายทองดี พิศไหว และนายสุรชัย พิศไหว พ่อค้าโคกระบือ ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ขอให้ช่วยเหลือในประเด็นนำเข้าโคและกระบือ ที่ตกค้างในฝั่งพม่าจำนวน 181 ตัว เข้ามาพักในคอกบ้านในสอย โดยผ่านช่องทางบ้านดอยแสง ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ร้องที่ได้ลงทุนไปจำนวนมาก
ข้อพิจารณา เพื่อให้การดำเนินการตามข้อร้องเรียนดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 96 / 2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557จึงเห็นควรมอบหมายให้ด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอนตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานผลพร้อมสรุปความเห็นและหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนทราบภายใน 15 วัน พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งผู้ร้องต่อไป
สำหรับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าโค กระบือ มีรายละเอียดดังนี้คือ ในนามพ่อค้านำเข้าโค กระบือ บริเวณช่องทางบ้านดอยแสง ใคร่ขอความกรุณาจากท่านผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอนและผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้โปรดพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ในประเด็นขอนำเข้าโคกระบือที่ตกค้างจำนวน 181 ตัว ดังกล่าวเข้ามาพักในคอกบ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง ฯ อีกสักครั้งเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนของพ่อค้า ฯ ที่ได้มีการลงทุนจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อรับผิดชอบดูแลครอบครัว ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้หากทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีมติ หรือแนวทางปฏิบัติการนำเข้าโค กระบือ จะถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อพิจารณาของศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน แทนที่จะพิจารณาให้ผู้ประกอบการ กลับไปดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการนำสัตว์จากนอกประเทศผ่านเขตอุทยาน ฯ ต้องขออนุญาตจากอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา น้ำตกผาเสื่อเสียก่อน เนื่องจากเส้นทางนำเข้าได้ผ่านเขตอุทยาน ฯ และสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคสัตว์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานและเมื่อเกิดการระบาด จะไม่สามารถควบคุมได้โดยง่าย เนื่องจากสัตว์ป่าของไทยมีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่หากินเป็นบริเวณกว้าง แต่กลับให้มีการดำเนินการประชุมหาทางออกเพื่อช่วยพ่อค้าอย่างชัดเจน ทั้งที่ทราบกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
จากรายงานของ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ้างอิงข้อมูลจากด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน รายงานการนำเข้า โค กระบือมีชีวิต เฉพาะ เดือน มิถุนายน 2560 ผ่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน จำนวน 580 ตัว มูลค่า 7.5 ล้านบาท ผ่านด่านศุลกากรแม่สะเรียง 1,931 ตัว คิดเป็นมูลค่า 38 ล้านบาท รวมมูลค่า กว่า 45 ล้านบาท คิดเป็น 98 % มากกว่าสินค้าชนิดอื่น ๆ อีก จุดที่มีการอนุญาตนำเข้า อ.เมือง ได้แก่ ช่องทางห้วยผึ้ง ต.ห้วยผา และ ช่องทางบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง ส่วนที่ อ.ขุนยวม ได้แก่ช่องทางห้วยต้นนุ่น ต.แม่เงา , ที่ อ.แม่สะเรียง ที่ช่องทางเสาหิน ต.เสาหิน ,ช่องทางแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐในพื้นที่ถึงปกปิดการนำเข้าสินค้าช่องทางบ้านดอยแสง ทั้งที่โค และกระบือ นำเข้าจริงบริเวณช่องทางบ้านดอยแสง หมู่ 13 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
แหล่งข่าว เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ ระบุว่า คำสั่ง คสช.96/57 ให้อำนาจ ผวจ.บูรณาการส่วนราชการ ช่วยเหลือผ่อนคลายความเดือดร้อนให้กับประชาชน ไม่ใช่ให้อ้างเพื่อเลี่ยงข้อกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ในส่วนของช่องทางบ้านดอยแสง ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นช่องทางที่ปล่อยให้มีการส่งสินค้าเข้า ออก ระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน กับรัฐคะยา สหภาพเมียนมา มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี คิดเฉลี่ย มีการนำเข้าสัตว์จากประเทศเมียนมา มากกว่า 20,000 ตัว เฉลี่ยขั้นต่ำสุด ( บางเดือนนำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัว ) คิดเป็นเงินมูลค่าสินค้ากว่า 200,012,931 บาท 
โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมไปถึงกลุ่มต่างด้าวอิทธิพลที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน เข้าไปทำธุรกิจใต้ดิน ค้าขายชาวกับเมียนมา โดยที่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ยอมประกาศเป็นจุดผ่อนปรนเพื่อการค้า และมีสินค้าจำนวนมากที่สำแดงว่า เป็นสินค้าที่ผ่านช่องทางห้วยผึ้ง ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนและมีการจัดเก็บภาษีศุลกากรของด่านศุลกากรว่านำเข้าช่องทางห้วยผึ้ง แต่ข้อเท็จจริง เป็นการนำเข้าช่องทางบ้านดอยแสง ต.ปางหมู อ.เมือง ฯ ซึ่งเป็นคนละจุดกัน โดยที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับทราบในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี
ด้านนายเกรียงศักดิ์ พรภินันท์ประภา หรืออดีตส.อบจ.  ได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( กก.4 บก.ปทส.) กรณีที่เปลือกไม้ก่อ ของตนได้ถูกตรวจสอบและอายัด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.00 น.ว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ ไม่จับกุมการนำเข้า โค และกระบือ บริเวณช่องทางบ้านดอยแสง ทั้งที่ การนำเข้าสัตว์ดังกล่าว มีการดำเนินการผ่านเขตอุทยานแห่งชาติมา กว่า 3 ปี แต่ตนเองนำเปลือกไม้ก่อผ่านมาแค่ครั้งเดียวกลับมาจับกุม
ก่อนหน้านั้น กรมทหารพรานที่ 36 อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้เคยกักโคและกระบือเพื่อตรวจสอบและพบพิรุธสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จ แต่สุดท้ายต้องปล่อยสินค้าดังกล่าว ออกไป หลังกักไว้ได้ไม่นาน ต่อมาทำให้กลุ่มพ่อค้าโคและกระบือ ต้องทำการกักสัตว์เพื่อฉีดยาเร่งตรวจหาเชื้อโรคในสัตว์ แต่มีการกักไม่ถึง 21 วันตาม ระเบียบ พรบ.ของกรมปศุสัตว์ นอกจากนั้น สถานกักสัตว์ยังไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมายของกรมปศุสัตว์แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากจะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบของกรมปศุสัตว์ พ่อค้าจะต้องมีคอกกักสัตว์ ที่ขออนุมัติจากกรมปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐานและมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน และมีโรงเรือนสำหรับสัตว์รวมไปถึงระบบการป้องกันการระบาดของเชื้อโรคและกักสัตว์ไว้ไม่ต่ำกว่า 21 วัน แต่ข้อเท็จจริง มีการกักสัตว์ไม่ถึงกำหนดตามระเบียบ ฯ และสถานที่กักสัตว์ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฯแต่อย่างใด ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคสัตว์นำเข้าไปสู่สัตว์เลี้ยงของราษฎรไทยในพื้นที่

logoline