svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ศาลอุทธรณ์สั่งยืนประหารชีวิต "2 ดาบตร." ฆ่าอำพรางแขวนคอผู้ต้องหา

23 กรกฎาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก - 23 ก.ค. 58 - ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนประหารชีวิต สอง ดาบตำรวจเมืองกาฬสินธุ์ ฆ่าอำพรางแขวงคอ ผู้ต้องหา วัยรุ่น17 ปี ช่วงนโยบายปราบยาเสพติดปี 47 ส่วนนายตำรวจยศพันโท พิพากษากลับจากยกฟ้องให้จำคุกตลอดชีวิต - ดาบตำรวจอีกราย ลดโทษจากประหารเหลือคุก 50 ปี ขณะที่สองนายพันตำรวจเจอคุก 5 ปี ฐานกระทำผิดหน้าที่สอบสวนคดีอาญา ด้านญาติขอบคุณศาล พยาน แต่เตรียมฎีกาอีกเหตุจำเลยบางคนได้ลดโทษ


ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก - 23 ก.ค. 58 - ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนประหารชีวิต สอง ดาบตำรวจเมืองกาฬสินธุ์ ฆ่าอำพรางแขวงคอ ผู้ต้องหา วัยรุ่น17 ปี ช่วงนโยบายปราบยาเสพติดปี 47 ส่วนนายตำรวจยศพันโท พิพากษากลับจากยกฟ้องให้จำคุกตลอดชีวิต - ดาบตำรวจอีกราย ลดโทษจากประหารเหลือคุก 50 ปี ขณะที่สองนายพันตำรวจเจอคุก 5 ปี ฐานกระทำผิดหน้าที่สอบสวนคดีอาญา ด้านญาติขอบคุณศาล พยาน แต่เตรียมฎีกาอีกเหตุจำเลยบางคนได้ลดโทษ
เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.3252/2552 คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ และนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาของผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์ ร่วมกันยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 51 ปี , ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 46 ปี , ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 45 ปี , พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 54 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ , พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 65 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 48 ปี อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เป็นจำเลยที่ 1- 6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83 , 89, 90 ,91 , 119 , 200 , 283(4)
ตามฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 ว่า วันที่ 22 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์จักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้งหก ได้ปิดบังเหตุแห่งการตายของนายเกียรติศักดิ์ และร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอ ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ต่อมาวันที่ 30 ก.ค.47 - 27 เม.ย.48 จำเลยที่ 4 - 6 ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จ ระบุว่าในวันที่ผู้ตายถูกทำร้าย ยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เพื่อให้เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.55 ให้ประหารชีวิต ด.ต.อังคาร คำมูลนา , ด.ต.สุดธินัน โนนทิง , ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตายและจำคุก 7 ปี พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ จำเลยที่ 5 ฐานกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ขณะที่ให้จำคุกตลอดชีวิต พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต จำเลยที่ 6 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และให้ยกฟ้อง พ.ต.ท.สำเภา อินดี จำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยทั้งห้าที่ถูกตัดสิน ได้ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัว ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขกำหนดเดินทางออกนอกประเทศ
ต่อมาทั้งโจทก์ และจำเลย ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.47 ตำรวจได้จับกุมผู้ตายซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์แล้วนำตัวไปควบคุมที่ห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาวันที่ 22 ก.ค.47 พ.ต.ท.สำเภา อินดี จำเลยที่ 4 ติดต่อให้สมาชิกเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ มายื่นประกันตัวผู้ตายคดีลักทรัพย์ เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ตายคดีลักทรัพย์แล้ว ด.ต.สุดธินัน โนนทิง จำเลยที่ 2 ได้นำผู้ตายจากห้องขังพาขึ้นไปยังห้องสืบสวนสอบสวน ชั้น2 ของอาคาร สภ.เมืองกาฬสินธุ์
กระทั่งวันรุ่งขึ้นพบศพผู้ตายถูกแขวนคอ ขณะที่แพทย์ ลงความเห็นว่าเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ มีบาดแผลถูกรัดบริเวณลำคอ ต่อมาญาติผู้ตายจึงได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำ ซึ่งกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการเสียชีวิต แต่ผลสรุปว่าไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องและให้ยุติเรื่องดังกล่าว ต่อมาวันที่ 30 มิ.ย.48 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงมีมติรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ และได้จับกุมตัวจำเลยพร้อมแจ้งข้อกล่าวหา ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลย ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า พยานโจทก์ 4 ปากซึ่งเป็นญาติและผู้ต้องหาที่อยู่ใน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันเกิดเหตุ พบเห็นว่า ด.ต.สุดธินัน จำเลยที่ 2 พาผู้ตาย ออกจากห้องขังขึ้นไปบนห้องสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ โดยผู้ตายขอยืมโทรศัพท์ โทรหาญาติให้มารับที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวคดีลักทรัพย์ ต่อมาเวลา 18.30 น. ญาติก็ได้เดินทางมารับแต่ไม่พบผู้ตาย เมื่อสอบถาม พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ จำเลยที่ 5 กลับบอกว่าปล่อยตัวผู้ตายออกไปแล้ว แต่พอกลับไปที่บ้านพักในเวลา 19.00 น. ก็ยังไม่พบตัว กระทั่งพบเป็นศพถูกแขวนคอ วันรุ่งขึ้นประมาณ 09.00 น. และจากคำเบิกความของแพทย์ตรวจชันสูตรศพ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้ว 8-12 ชั่วโมง เนื่องจากในกระเพราะอาหารยังมีข้าวอยู่ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า เวลาที่เสียชีวิต คือประมาณ 21.00 น.ของวันที่ 22 ก.ค.47
แม้จำเลย อ้างว่าได้ปล่อยตัวผู้ตายไปแล้วก็ตาม แต่โจทก์มีพยาน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีอื่นที่ถูกคุมตัวในห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ให้การว่าพบเห็นจำเลยที่ 1- 3 พาผู้ตายออกไปจากห้องขังในช่วงเย็นวันเกิดเหตุและไม่พบเห็นผู้ตายอีกเลย ประกอบกับบ้านผู้ตาย ห่างจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพียง 700 เมตร หากผู้ตายเดินทางกลับไปจริงก็ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที แต่ก็ได้ความจากพยานว่า พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ได้ข่มขู่พยานให้พูดว่าพบผู้ตายที่ตลาด และ ด.ต.สุดธินัน จำเลยที่ 2 ได้พาผู้ตาย ไปส่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งต่อมาพยาน ได้ให้การที่กองปราบปราม และ ดีเอสไอ โดยพยานเริ่มพูดความจริง เนื่องจากได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ และกล้าให้ข้อมูลตามความเป็นจริง ขณะที่พยานนั้น สามารถชี้ตัวยืนยัน จำเลยที่ 1-3 ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ประกอบกับพยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพวกจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง และสอดคล้องกับที่ญาติผู้ตาย
พฤติการณ์ที่นำสืบมา จึงรับฟังได้ว่า ผู้ตาย ถูก ด.ต.อังคาร คำมูลนา , ด.ต.สุดธินัน โนนทิง , ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 1-3 พาตัวออกไปจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่ไม่ใช่เป็นการออกไปด้วยตัวเอง เมื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยพบว่าจำเลยที่ 1-3 ได้โทรศัพท์ไปยังบ้านหลังหนึ่ง ใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตาย และมีระยะทางห่างจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ประมาณ 6 - 7 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที และผู้ตายยังเคยเป็นสายลับให้กับจำเลยเกี่ยวกับคดียาเสพติด โดยอาจจะกุมความลับของพวกจำเลยไว้
จึงพิพากษาว่า ด.ต.อังคาร คำมูลนา , ด.ต.สุดธินัน โนนทิง , ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาที่ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของ ด.ต.สุดธินัน จำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งสำหรับจำเลยที่ 2 คงจำคุกไว้ 50 ปี
ส่วน พ.ต.ท.สำเภา อินดี จำเลยที่ 4 นั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ทำคดีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 4 ได้ยื่นประกันผู้ตาย ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา และมีการหลอกลวงให้คนไปรับญาติผู้ตาย พร้อมหลอกลวงว่าผู้ตายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกันวางแผนในการประกันตัว แต่จริงๆแล้วผู้ตาย กลับไม่ได้รับการปล่อยตัวไป จึงบ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1-3 ในการวางแผนฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนั้นจำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและปิดบังซ่อนเร้นสาเหตุการตายด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้ว่า ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 4 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ แต่คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1ใน 3 โดยจำคุก พ.ต.ท.สำเภา อินดี จำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต
สำหรับ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ จำเลยที่ 5 และพ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต จำเลยที่ 6 นั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า แม้พยานโจทก์ อ้างว่าพบเห็นจำเลยอยู่ในระหว่างการสอบปากคำด้วย และจำเลยที่ 5-6 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1-3 แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 -6 มีส่วนร่วมในการวางแผนฆ่าผู้ตาย จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 5- 6 มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายและญาติเพื่อถ่วงเวลาไว้ให้กับจำเลยที่ 1-3 ลงมือก่อเหตุฆ่าผู้ตาย โดยจำเลยที่ 5 -6 อาจจะยังไม่ได้รับทราบหมายปล่อยตัวจากศาล จึงได้บอกญาติผู้ตายไปว่าได้ปล่อยตัวผู้ตายไปแล้ว
แต่พฤติการณ์จำเลยที่ 5 - 6 มีการข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จ ต้องการให้รูปคดีมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1-4 ไม่ให้ต้องได้รับโทษทางอาญา ซึ่งการกระทำนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตายเสียชีวิตแล้ว จำเลยที่ 5- 6 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 7 ปีนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำคุก พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ จำเลยที่ 5 และพ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต จำเลยที่ 6 คนละ 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ
ภายหลังฟังคำพิพากษา นางพิกุล พรหมจันทร์ ญาติของผู้เสียชีวิต กล่าวว่าว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม และขอขอบคุณพยานและผู้ที่เกี่ยวข้องจนนำมาสู่คำพิพากษาในวันนี้ด้วย แม้จะมีความพอใจผลคำพิพากษาทั้งในส่วนของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ตนยังจะขอใช้สิทธิยื่นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 6 ซึ่งศาลอุทธรณ์ ลดโทษจากจำคุกตลอดชีวิต เหลือแค่ 5 ปี ทั้งนี้ส่วนตัว ก็ยังมีความกังวลเรื่องที่จำเลยทั้งหมดจะยื่นขอประกันตัวสู้คดีชั้นฎีกา เนื่องจากกังวลในความปลอดภัยของพยาน เพราะจำเลยทั้งหมดก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามปกติ ซึ่งสามารถที่จะพกพาอาวุธติดตัวอยู่ได้ตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จำเลยทั้งหมด ซึ่งได้รับประกันตัว ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยมีกลุ่มเพื่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยญาติของผู้เสียชีวิต ก็ได้เดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย อย่างไรก็ดีภายหลังฟังคำพิพากษากลุ่มจำเลย ก็ไม่ได้มีท่าทีเคร่งเครียดใด ๆ โดยกลุ่มเพื่อนเข้ามาพูดคุยให้กำลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้น ในช่วงที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบาย ปราบปรามยาเสพติดอย่าง เด็ดขาด ขณะที่นางพิกุล พรหมจันทร์ อาของผู้ตาย ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ และได้มีการร้องเรียน ขอให้พิจารณาโอนคดีเข้าเป็นคดีพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

logoline