svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ดีเอสไอ-สตช. ร่วมมือดำเนินคดี "ยูฟัน"

21 เมษายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีดีเอสไอ นัดส่งมอบสำนวนคดีแชร์ลูกโซ่ "ยูฟัน" ให้ตำรวจขยายผล แต่ไม่รับเป็นคดีพิเศษ พร้อมร่วมมือติดตามทรัพย์สินคืนผู้เสียหาย

บ่ายวันนี้ พลตำรวจโท สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อหารือกับนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ, พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ และคณะ เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับบริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 หรือ แชร์ลูกโซ่
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่าสืบเนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ได้สอบสวนดำเนินคดีอาญากับบริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ในส่วนของดีเอสไอ ก็ได้รับหนังสือจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ขอให้ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวว่าเข้าข่ายการกระทำผิดที่เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ รวมทั้งขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทยูมาตริน (umatrin) ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจที่คล้ายคลึงกันด้วย โดยทั้งสองกรณีอยู่ระหว่างการสืบสวน
ในวันนี้จึงมีการพบปะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยดีเอสไอพร้อมสนับสนุนข้อมูลและการปฏิบัติอย่างเต็มที่เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ส่วนกรณี ดีเอสไอจะรับคดียูฟันมาเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น ขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า การที่จะรับคดีความผิดทางอาญาเรื่องใดมาสืบสวนและสอบสวนตามพรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในพรบ.ดังกล่าว
กรณีนี้ ดีเอสไอ ได้ออกประกาศกำหนดให้คดีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ ก็แต่เฉพาะคดีที่มีลักษณะของการกระทำผิดตามที่กำหนดในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมหลักฐานเป็นพิเศษ และอธิบดีดีเอสไอ มีคำสั่งให้สอบสวน ขณะนี้ ยังดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวคู่ขนานกับการดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมทั้งสนับสนุนการทำงาน หากเห็นว่ามีเหตุที่จะต้องมีคำสั่งให้สอบสวนเป็น คดีพิเศษตามเหตุผลข้างต้น ก็จะแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษของดีเอสไอจะรับสำนวนมาดำเนินการต่อ ซึ่งตามพรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ ฯ มาตรา 22 กำหนดให้เมื่อมีการส่งมอบสำนวนแล้ว ถือว่าสำนวนการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษด้วย แต่ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งให้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะทำสำนวนส่งพนักงานอัยการตามกฎหมายต่อไป

logoline