svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

กองปราบสอบเครียด "ถวิล พึ่งมา" 4 ชั่วโมงรวด

27 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินทางเข้าพบรอง ผบก.ป.ในฐานะหัวหน้าทีมสอบสวน คดีลักเงินคงคลังเพื่อให้ปากคำเกี่ยวกับคดี พร้อมนำหลักฐานมาชี้แจงถึงที่มาที่ไปของทรัพย์สินจำนวน 86 ล้านบาท

พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. กล่าวว่าวันนี้ได้เชิญนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการ สจล. เข้ามาชี้แจงที่มาของทรัพย์สินตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการ สจล. ที่ยื่นให้กับ ป.ป.ช. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ชี้แจงไปแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน ส่วนเงิน 80 ล้านบาท ที่เคยพบความผิดปกติก่อนหน้านี้ จากการตรวจสอบแล้ว พบว่า เป็นเงินที่ได้มาก่อนจะดำรงตำแหน่ง ซึ่งได้มาจากทางมรดก และการประกอบกิจการอพาร์ทเม้นและเงินที่ได้จากการที่เป็นบอร์ดบริหาร 

ส่วนเอกสารทางการเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ นำมามอบให้เมื่อวันที่ 26 มกราคมนั้น เป็นสำเนาเอกสารการโอนเงิน ซึ่งถึงแม้จะมีลายเซ็นต์ของทั้งฝ่ายการคลัง และฝ่ายบริหาร แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบลายเซ็นต์ได้ว่า เป็นของจริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงสำเนาเอกสาร ขณะนี้คงต้องรอแคชเชียร์เช็คจากธนาคารกสิกร และธนาคารกรุงไทยก่อน 

พ.ต.อ.ณษ กล่าวอีกว่า ส่วนบุคคลทั้ง 26 คน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบพิรุธเส้นทางการเงิน และออกหมายเรียกมาพบนั้น ยังเหลืออีก 5-6 คน ที่ยังไม่ได้เข้ามาพบ ซึ่งจะต้องมีการออกหมายเรียกซ้ำ เพื่อให้เข้ามาพบพนักงานสอบสวนต่อไป ทั้งนี้ ในวันที่ 28 มกราคม ทางพนักงานสอบสวนจะเดินทางไปสอบปากคำ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีตผู้อำนวยการส่วนการคลัง ที่ทัณฑสถานหญิงอีกด้วย

ภายหลังให้ถอยคำกับพนักงานสอบสวนเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้นำเอกสารเดินทางเข้าชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งตนส่งให้กับทาง ป.ป.ช. นานแล้ว ตั้งแต่ปี 53-57 มาให้พนักงานสอบสวน 

เพื่อชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สิน ทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี สจล. ซึ่งในปี 53 ตนเองได้รับมรดกที่ดินจากมารดา ซึ่งเป็นที่ดินย่านปากเกร็ด-บางบัวทอง มูลค่า 35 ล้านบาท แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ราคาที่ดินมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80 กว่าล้านบาท 

ส่วนเงินจำนวนหลักล้านที่ตำรวจสงสัยนั้น  เป็นเงินที่ตนได้ชดเชยหลังจากเกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 57 จำนวน 12 เท่าของเงินเดือน ก็ประมาณ 1.2 ล้าน รวมกับเงินที่ตนมีอยู่เป็น 2 ล้าน ทั้งนี้ หลังจากเข้าให้ปากคำในวันนี้ ทางพนักงานสอบสวนยังไม่ได้มีการนัดหมายเพิ่มเติม แต่ตนพร้อมเข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนได้ตลอดเวลา

ส่วนกระแสข่าวที่ว่า มีอดีตผู้บริหารของ สจล.คนหนึ่งเซ็นต์ปิดบัญชีธนาคาร จำนวน 3 บัญชี หลังจากที่ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วราว 1 ปี ทั้งที่เงินในบัญชีดังกล่าวไม่หลงเหลือแล้ว เพราะถูกโอนถ่ายไปยังบัญชีของบุคคลอื่น 

นายถวิล กล่าวว่า ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้พูดถึงในส่วนนี้ ปกติแล้วบัญชีจะมีการปิด-เปิดอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่ปิดจะมีการเปิดบัญชีใหม่ควบคู่กันไปทุกครั้งในนาม สจล. โดยมีตน หรือผู้ที่มีอำนาจเป็นคนเซ็นต์ แต่ยืนยันว่าไม่เคยมีการเซ็นต์ปิดบัญชีย้อนหลัง เพราะตนเองมีหน้าที่เพียงเซ็นต์อนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ตามที่ฝ่ายการคลังเสนอมาเท่านั้น
 นายถวิล ยอมรับว่า ตกใจที่รู้ว่านางอัมพร มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมา 1 ปี 3 เดือน ไม่เคยระแคะระคายเลย มีเรื่องเดียวคือเรื่องเจ็บป่วยของนางอัมพร ซึ่งเจ้าตัวลางานบ่อย และเคยมาขอลาออกกับตน แต่ตนก็ได้ระงับไว้ และที่ตกใจคือ เรามีฝ่ายตรวจสอบ 3 ระดับ ตั้งแต่ภายใน ภายนอก และ สตง. เองก็ไม่เจอ ยอมรับว่า ไว้ใจนางอัมพร มากเกินไป และส่วนตัวไม่อยากเกี่ยวข้องกับเงิน หรือเรื่องการเงิน เนื่องจากไม่มีความถนัด และเกรงว่าจะถูกครหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้จักกับนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้เป็นการส่วนตัวหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ตนยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักผู้ต้องหาคนอื่นในคดีเลย นอกจาก นางอัมพร น้อยสัมฤทธิ์ ผอ.การคลังในฐานะลูกน้อง และนายทรงกรด ศรีประสงค์ รู้จักในฐานะ เจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย สจล. เพียง 2 คนเท่านั้น ส่วน "บอส" ที่มีคนกล่าวถึงกันนั้น ตนไม่รู้เรื่อง ตัว"บอส" ในที่นี้ต้องเป็นคนโกงเก่ง ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ตนแน่นอน 

logoline