svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ตร.บุกจับโรงงานผลิตทองปลอม

31 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเวลา 00.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิสูตร ฉัตรชัยเดช รรท.ผบก.น.6 พ.ต.อ.ฤชากร จรเจวุฒิ รรท.ผบก.น.8 พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผกก.3 บก.สส.บช.น. ฝ่ายสืบสวน สน.ราษฎร์บูรณะ และกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากร้อย.รส.พัน ซบร. กรม สน.พล.ร.9 เข้าค้นบ้านพักเลขที่ 73 หมู่บ้านเบสท์แลนวิลล่า ซอยประชาอุทิศ 33 แขวงและเขตราษฏร์บูรณะ กทม. หลังก่อนหน้านี้จับกุม นายธนากร อาภรณ์ชัย อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1354/227 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม. ขณะนำทองปลอมไปแจกจ่ายให้คนในขบวนการนำไปหลอกจำนำตามร้านค้าทองที่ย่านตลาดมีนบุรี แล้วขยายผลจนทราบว่า มีขบวนการผลิตทองปลอมมาเช่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นที่สำหรับทำทองปลอมไปหลอกฝากขาย

ทั้งนี้ บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านเดี่ยวสูง 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่พบว่าประตูหน้าบ้านไม่ได้ล็อค จึงแสดงตัวเพื่อขอเข้าตรวจค้น ปรากฏว่า ภายในบ้านชั้นล่างพบอุปกรณ์ในการทำทองเป็นจำนวนมาก อาทิ เครื่องรีดทอง เครื่องชั่ง ตราประทับชื่อร้านทอง เครื่องหลอม เครื่องยืดทอง เป็นต้น ส่วนชั้น 2 ไม่พบสิ่งผิดปกติ
โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย ประกอบด้วย นายบุญช่วย ชัยโนนตุ่น อายุ 50 ปี ผู้เช่าบ้านหลังดังกล่าว นางสมจิต ชัยโนนตุ่น อายุ 52 ปี ภรรยา นายอนุรักษ์ เสนาฤทธิ์ อายุ 41 ปี และนายพีรทัด ชัยโนนตุ่น อายุ 29 ปี ทั้งสองเป็นช่างที่ทำทองคำปลอม จึงควบคุมตัวไว้สอบสวน พร้อมยึดอุปกรณ์ผลิตทองคำปลอมทั้งหมดไว้เป็นของกลาง
จากการสอบสวนนายบุญช่วย ให้การรับสารภาพว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปี ตนเคยเปิดโรงงานผลิตทองปลอม พร้อมแจกจ่ายให้ลูกน้องไปจำนำที่ร้านทอง จนถึงปี 2555 ก็ถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับคดีเป็นซ่องโจรเพื่อฉ้อโกง พื้นที่ สน.ชนะสงคราม ตนและภรรยาจึงพักการผลิตทองไปเป็นเวลา 1 ปี เพราะกลัวถูกจับ กระทั่งกลับมาสู่วังวนเดิมอีกครั้ง โดยเริ่มเช่าบ้านหลังดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ในราคาเดือนละ 8 พันบาท สำหรับผลิตทองรูปพรรณปลอม ส่วนเครื่องมือที่ใช้ผลิตก็หาซื้อจากร้านขายเครื่องจักรย่านวงเวียนใหญ่
นายบุญช่วย กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการผลิตนั้น เริ่มจากการรับซื้อทองคำจริง น้ำหนัก 2 สลึง ในราคา 2 พันบาท แล้วมารีดกับเงินผ่านอุปกรณ์ ก่อนจะร้อยกันเป็นสร้อยคอ ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตออกมาเป็นทองรูปพรรณ น้ำหนัก 2 สลึงเท่าเดิม แต่เปอร์เซ็นต์ของทองจะลดลง เมื่อได้ของมาแล้วตนก็จะแจกจ่ายให้ลูกน้องอีกต่อหนึ่ง เพื่อนำทองที่ผลิตได้ไปฝากขาย หรือ จำนำกับร้านค้าทองโดยรอบปริมณฑลและต่างจังหวัด ในราคา 5,000-8,000 บาท โดยผลิตได้วันละ 2 เส้น
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา มีความผิดตามพ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า ครอบครอง หรือ ผลิตเครื่องหมายการค้า ไม่ว่าจดทะเบียนใน หรือ นอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนสน.ราษฎร์บูรณะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.

logoline