svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"หมูปิ้งส่งออก" ..ความสำเร็จจากคนไม่หยุดนิ่ง

01 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถ้าจะมีคนบอกว่า มีคนลงทุนทำ"โรงงานหมูปิ้ง" เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ เชื่อว่าแม้จะเชื่อ แต่ก็อดหัวเราะไม่ได้ว่า"จริงหรือ" แถมยังเป็น"หมูปิ้ง"ที่มีเครื่องหมาย อย. ก็ยิ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่นี่เป็นเรื่องราวทั้งหมดของชายที่เร่มต้นจากติดลบจนกลายเป็น"ราชาหมูปิ้ง" เจ้าของแบรนด์"เฮียนพ หมูนุ่ม"

เรื่องราวของ"เฮียนพ" หรือ"ชวพจน์ ชูหิรัญ" ต้องบอกว่าเป็นชีวิตเหมือนนิยาย เพราะมาจากครอบครัวชาวบ้านที่นครสวรรค์ พ่อเสียชีวิตตอนเรียนชขั้น ป.6 และตัวเองจบการศึกษาแค่ ม.3 ก็ต้องออกจากโรงเรียน เพื่อให้"น้อง"ที่ดูจะฉลาดกว่าได้เรียนหนังสือ พร้อมกับออกเดินทางจากปากน้ำโพลงมาเมืองกรุงเพื่อแสวงหาโชคลาภแบบคนบ้านนอกทุกคน

"ชวพจน์"ในวัยเพิ่งขบมัธยม เข้ากรุงมารับจ้าง และผ่านงานทุกอย่างเพื่อ"หาเงิน" โดยเริ่มตั้งแต่เป็นงานก่อสร้างที่ได้ค่าแรงวันละ 90 บาท และเมื่อเสร็จงานก็ต้องขอนายจ้างให้จ้างต่อ โดยเขาสารภาพว่า"ไม่มีที่ไป" เพราะที่ดินซึ่งเป็นที่นาที่บ้านเกิดไม่เหลือแล้ว

"หมูปิ้งส่งออก" ..ความสำเร็จจากคนไม่หยุดนิ่ง



ทำอยู่ไมนาน "ชวพจน์"ต้องไปรับใช้ชาติในสถานะทหารเกณฑ์ และเมื่อพ้นเกณฑ์ ก็ยังคงกลับไปรับจ้างในหน่วยงานก่อสร้าง ก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำงานโรงงาน และคิดจะทำงานนั้นไปตลอดชีวิต แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเกิด"วิกฤติต้มยำกุ้ง"ในปี 2540 บริษัทที่ตัวเองเป็นพนักงานก็ถูกเทคโอเวอร์และลดคนงาน

"ตอนนั้นผมอายุ 25 ไม่มีความรู้ ก็เลยขายต้นไม้" ชวพจน์เล่าให้ฟัง และบอกว่ามีรายได้ดี เพราะเขาขายพวกไม้มงคล แต่ไม่สามารถทำได้นาน เพราะไม่มีรถกระบะที่สะดวกและเหมาะสมกับกหารขนต้นไม้ จึงต้องเลิก และไปเจอศูนย์ฝึกของ"ลุงขาวไขอาชีพ" จึงตัดสินใจไปเรียนทำน้ำยาล้างจาน เพราะเห็นมีร้านหมูกระทะเปิดกันเยอ แต่ทำไปก็เห็นว่าไม่มีทางโต เพราะ"ลูกค้า"ไม่ซื้อครั้งละมากๆ เพราะไม่จำเป็น

"หมูปิ้งส่งออก" ..ความสำเร็จจากคนไม่หยุดนิ่ง



เมื่อไม่มีเห็นลู่ทาง "ชวพจน์"ก็เลิกทำน้ำยาล้างจาน แต่เพราะชีวิตต้องเดินหน้า เขาจึงเลือกทำกรอบรูป แต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะไม่มีสถานที่สำหรับทำ และกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะ"บ้าน"ที่เพิ่งซื้อก็ถูกยึด จึงตัดสินใจไปเป็น"ยามรักษาความปลอดภัย" สลับกับขับแท๊กศี่ ขับมอเตอร์ไซค์วิน

เรียกว่างานสุจริตที่ได้เงิน "เฮียนพ" ทำหมดเพื่อความอยู่รอด ทั้งๆที่ยอมรับว่า"ท้อ" เพรูเหมือนทำอะไรก็"เจ๊งหมด" จนบ้านถูกยึด ไม่มีที่ซุกหัวนอน ต้องไปอาศัยร้านขายข้าวน้องสาวที่แฟลตตำรวจเป็นที่นอน
จนกระทั่งเกิด"จุดเปลี่ยน"ในชีวิต เมื่อไปเห็นร้านขายหมูปิ้งชื่อ "ฮั้ว อักษร" ที่เป็นภรรยาตำรวจ แต่ใช้เวลาว่างทำหมูปิ้งขาย ประจวบกับน้องเขยที่เป็นตำรวจเสียชีวิต น้องสาวจึงไปขอเรียนสูตรทำหมูปิ้งจาก"คุณฮั้ว" ที่ยินดีสอน จนน้องสาวทำเองตั้งแต่ซื้อหมู หั่นหมู หมักหมู เสียบหมู ขายหมู แต่ทำคนเดียวไม่ไหว จึงชวนพี่น้องมาช่วย รวมทั้ง"เฮียนพ"ที่ช่วงนั้นขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

"ก็ขายดีนะ วันละ 200-300 ไม้ได้เป็นพันบาท" ชวพจน์เล่า และเมื่อคิดเองว่ากำไรดี เลยถามน้องสาวว่าจะต้องลงทุนประมาณเท่าไร น้องสาวก็บอกประมาณ 500-600 บาท เพราะหมูกิโลกรัมละ 80 บาท ทำได้ประมาณ 5-6 กก. ก็ประมาณ 100 กว่าไม้ เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว หมูปิ้ง 100 ไม้จะใช้เนื้อหมูประมาณ 4.5 กก.

นอกจากนั้น "เฮียนพ" ก็ไปฝากร้านอื่นๆขาย ทั้งร้านขายไส้กรอกอีสาน ขายลูกชิ้นปิ้ง โดยบอกว่า กำไรจากหมูที่ได้ไม้ละ 50 สตางค์อาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าคนรับไปขาย หุงข้าวเหนียวมาขายด้วยก็จะกำไรเยอะ

จากนั้น ธุรกิจหมูปิ้งของ"เฮียนพ"ก็ขยายตัวเมื่อมีผู้นำไป"ขายต่อ"มากมาย จนชื่อ "หมูปิ้งปากเกร็ด" เป็นที่รู้จักกันดี เพราะมีผู้ซื้อไปขายต่อมากมายหลายแห่ง

จุดเปลี่ยนสำคัญของ"หมูปิ้งปากเกร็ด"ก็คือน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้ปิ้งหมูหลายเจ่าต้องเลิกเพื่อหนีน้ำ แต่เพราะ"ปากเกร็ด"น้ำไม่ท่วม "เฮียนพ" จึงตัดสินใจขยายงานอีกครั้งเพื่อเพิ่มยอดขาย บวกกับ"ม็อบ"ทางการเมือง ที่ทั้ง 2 สีต่างก็สั่งซื้อ ทำให้"เฮียนพ"สามารถขยายธรกิจ และมีเงินโดยไม่รู้ตัว เมื่อจะดูเงินที่ฝากธนาคารว่ามีเท่าไรเพื่อจะไปไถ่ที่ดินที่นครสวรรค์คืน
"ตอนนั้นตกใจเลย มีเงินในบัญชีมีทั้งหมด 3 ล้านกว่าบาท" เฮียนพบอก

"หมูปิ้งส่งออก" ..ความสำเร็จจากคนไม่หยุดนิ่ง

นั้นจึงเป็น"ครั้งแรก"ที่เฮียนพคิดทำ"โรงงานหมูปิ้ง" เพราะมีลูกค้าสั่งวันละ 2-3 หมื่นไม้ และเคยมีสูงถึงวันละแสนไม้ โดยข้อต่อรองของเขามีเพียงอย่างเดียวคือ ไม่รับเครดิต 30 วัน เพราะจำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนวันต่อวัน และลูกค้าเชื่อ โดยสิ่งที่เขายึดมั่นในตอนนั้นก็คือ"สัจจะ" คือรับปากส่งวันละหมื่นไม้ก็ต้องส่งหมื่นไม้
"เราเป็นคนมีสัจจะ คำไหนคำนั้น ก็ทำมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วคนนี้ดีมาก เขาก็บอกว่าถ้าอยากจะเจริญก้าวหน้าต้องทำโรงงาน ทำให้ได้มาตรฐาน มี อย.รับรองด้วยยิ่งดีเลย เขาสอนเราหมด จึงคิดจะสร้างโรงงานและขอ อย."
"เฮียนพ" ไปเจอแปลงที่ถูกใจ ซึ่งเจ้าของขาย 6 ห้องในราคา 5.5 ล้าน ขณะที่ตัวเองมีเงินแค่ 5 ล้าน แต่เพราะฝันอยากมีโรงงาน เขาจึงตัดสินใจไปขอผ่อนชำระค่าหมู 2-3 เดือน จึงมีเงินมาเพิ่ม 5 แสนบาท เพื่อซื้อ จากนั้นก็ใช้เงิน 6 หมื่นไปซื้อแบบโรงงาน ซึ่งกลายเป็นทุกขลาภ เพราะไม่ซื้อจากเทศบาล จึงถูกเตะถ่วงกว่าจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง พร้อมทั้งจดภาษีตั้งบริษัทเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง

"หมูปิ้งส่งออก" ..ความสำเร็จจากคนไม่หยุดนิ่ง


แม้ทุกอย่างดูเหมือนจะ"ลงตัว"หลังจากโรงงานสร้างเสร็จและขออย. แต่เพราะต้องการขยายงาน "เฮียนพ" จึงตัดสินใจขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย 5 ล้านบาท โดยมี บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน สำหรับการผลิต"หมูปิ้ง"เพื่อ"ส่งออก หลังจากได้เซ็นสัญญาส่งไปขายต่างประเทศที่ลาวและกัมพูชา
วันนี้ โรงงานหมูปิ้งที่มีกำลังการผลิตวันละนับแสนไม้ ว่าจ้างแรงงาน 180 คนของ"เฮียนพ" ถือเป็นโรงงานหมูปิ้งสมบูรณ์แบบครบวงจร ที่ผ่านการพิสูจน์มาหลายต่อครั้งว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย หากแต่มาจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ รวมทั้งมี"พี่เลี้ยง" อย่าง บสย.ที่เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อในการนำมาขยายงานเพื่อ"ส่งออกหมูปิ้ง"
เส้นทางของ"เฮียนพหมูนุ่ม" จึงน่าสนใจและศึกษาเพื่อการเรียนรู้และต่อสู้

logoline