svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไม่ให้ก็คือไม่ให้ ไม่เห็นจะต้องอธิบายอะไร?

03 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในเวลานี้ สหรัฐฯ กำลังต้องการกลับมาสร้างฐานอำนาจในอาเซียน อีกครั้ง หลังจากที่ถอนทัพกลับไปในช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่การกลับมาครั้งนี้ของสหรัฐฯ ไม่ง่ายเหมือนแต่เก่า เพราะ ปัจจุบันอาเซียนได้เปิดประตูบ้านต้อนรับ จีน และรัสเซีย เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแห่งนี้เพิ่มขึ้น

การประชุมอาเซียน ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทย ตัวแทนของสหรัฐฯ แรนดัลล์ ชไรเวอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก ได้เข้าร่วมงานเสวนาของสภาการค้าอาเซียน-สหรัฐฯ ได้บอกว่าเวลานี้จากสถานการณ์ในปัจจุบัน อาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ จำเป็นต้องเลือกว่า จะอยู่ข้างสหรัฐฯ หรือ จีนเขายังสำทับอีกว่า อาเซียนจะเลือกความสงบสุขที่เป็นการเคารพอธิปไตยระหว่างกัน หรือการมีข้อพิพาทตลอดเวลา เขายังได้ทิ้งท้ายว่าการเลือกคบค้าสมาคมกับประเทศคู่ค้าตามข้อตกลงที่ยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่าย และการสนับสนุนบรรทัดฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับเสรีภาพในการลาดตระเวนทั้งทางทะเลและทางอากาศสิ่งที่ตัวแทนจากสหรัฐฯ กำลังบอกกับอาเซียนว่าเลือก "สหรัฐฯ" ดีกว่า เลือก "จีน" เพราะสหรัฐฯ เคารพคู่ค้า และการค้าขายกับสหรัฐฯ ก็ได้รับความยุติธรรมมากกว่าเกิดคำถามว่า เป็นแบบนั้นจริงหรือ? เพราะสิ่งที่เราเห็นกันตลอดเวลา เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ก็จะหาเรื่องในการแบนสินค้า กีดกันทางการ และ สร้างปัญหาให้กับคู่ค้า และสร้างอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าเหล่านั้นทันที ไม่ใช่ว่า "จีน" ดีกว่าสหรัฐฯ เพราะทุกประเทศที่เข้ามาทำมาค้าขาย ก็อยากได้เปรียบ อยากเอาเปรียบคู่ค้าทั้งนั้น ไม่มีใครอยากค้าขายแล้วขาดทุน หรอกนะ แต่การพูดเอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น มันไม่ใช่ภาวะของผู้นำ 
ล่าสุดสหรัฐฯ ก็ทำตัวกร่างอีกครั้ง เมื่อ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่งหนังสือลงนามเมื่อโดยนายจอห์น เฟลเทอร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านกิจการเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงสมเด็จพิชัยเสนา เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา  มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขอรายละเอียดเพิ่มเติมต่อการที่รัฐบาลพนมเปญส่งหนังสือถึงสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ปฏิเสธความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการบูรณะซ่อมแซมฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพระสีหนุหรือสีหนุวิลล์ ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ 
โดยทางสหรัฐฯ แจ้งว่าการปรับเปลี่ยนท่าทีอย่างฉับพลันของกัมพูชา ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสหรัฐฯ ว่าอาจนำไปสู่แผนการที่ใหญ่กว่าและน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ทางทหารของจีน
เมื่อเดือนมกราคม 2562 เดือนม.ค. จอห์น เฟลเทอร์ ได้เดินทางมาที่กัมพูชา และได้ประกาศแผนการดังกล่าวด้วยตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นไปตามการขอความช่วยเหลือจากกัมพูชา 
เรื่องดังกล่าวได้รับการชี้แจงจากทางด้านกระทรวงกลาโหมกัมพูชาว่า งบประมาณความช่วยเหลือด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ มอบให้แก่กัมพูชาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่รัฐบาลพนมเปญต้องการนำไปลงทุนในงานด้านความมั่นคงอื่น ส่วนประเด็นฐานทัพเรียมนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยไม่มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม
แต่ถ้าย้อนกลับไปดูสถานการณ์ ระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชา ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2560 เมื่อ รัฐบาลกัมพูชาบอกให้หน่วยช่วยเหลือของกองทัพเรือสหรัฐฯเดินทางออกนอกประเทศทันที จากการเปิดเผยของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงพนมเปญ การจากไปของกองพันทหารช่างเคลื่อนที่กองทัพเรือสหรัฐฯ U.S. Navy Mobile Construction Battalion หรือที่รู้จักกันในชื่อ หน่วยผึ้งทะเล (the Seabees) หมายความว่า โครงการช่วยเหลือต่างๆ ในกัมพูชารวม 20 โครงการ ต้องยกเลิก รวมถึงการก่อสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงพนมเปญ ได้รับแจ้งจากทางด้านรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวกับการตัดสินใจเลื่อนโครงการของหน่วยผึ้งทะเล ออกไปโดยไม่มีกำหนด 
ถ้ามองเรื่องดังกล่าวจะพบว่า กัมพูชาไปไกลว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการกระชับความสัมพันธ์กับจีน และตีตัวออกห่างสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รับหน้าที่เป็นผู้นำสหรัฐฯ แม้ว่าสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเคยแสดงความชื่นชมต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ความสัมพันธ์ตึงเครียดจากการที่สหรัฐฯวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาแก้ไขกฎหมายเพื่อคุกคามฝ่ายค้าน และรัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกหนี้สิน 500 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ยุคสงครามในคริสต์ทศวรรษ 1970
กัมพูชาประกาศระงับการซ้อมรบร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ที่กำหนดจะมีขึ้นในเดือน มิถุนายน โดยอ้างเหตุผลธุระยุ่งต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และเมื่อปีที่แล้วกองทัพเรือจีนร่วมฝึกซ้อมกับกองทัพกัมพูชาเป็นครั้งแรก เหล่าทัพกัมพูชาได้รับความช่วยเหลือจากจีนเป็นจำนวนมาก ทั้งการฝึกอบรมและอุปกรณ์
คาร์ล ธาเยอร์ นักวิเคราะห์ความมั่นคงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และอาจารย์พิเศษวิทยาป้องกันประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การลดความสัมพันธ์ทางทหารกับกัมพูชา ถือเป็นความเสื่อมถอยสำหรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค แต่สำหรับฮุน เซน นายที่สุดก็จะเป็นผู้สูญเสียเช่นกัน เพราะจะทำให้กัมพูชาต้องพึ่งพาจีนฝ่ายเดียวมากขึ้น ปัจจุบันจีนมีฐานทัพขนาดใหญ่อยู่ที่จิบูตี ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ถือเป็นฐานทัพนอกประเทศแห่งแรกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ( พีแอลเอ ) อนึ่ง กัมพูชาถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐบาลจีนเพิ่มการมอบความช่วยเหลือหลายรูปแบบให้แก่รัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน ซึ่งกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากตะวันตก แต่ผู้นำกัมพูชาเคยประกาศเมื่อปีที่แล้ว ว่าจะไม่มีทางให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ โดยตอนนั้นมีกระแสข่าวหนาหูว่าจีนกำลังวิ่งเต้นอย่างหนัก ในการขอตั้งฐานทัพเรือที่จังหวัดเกาะกง
แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวย่อมไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐฯมากนัก เพราะท้ายที่สุดการกลับมายังอาเซียนอีกครั้งของสหรัฐฯ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเวลานี้ อาเซียน รู้จักวิธีถ่วงดุลย์ อำนาจมากขึ้น และ อาจจะเข้าใจถึงคุณลักษณะของสหรัฐฯ มากขึ้น พูดง่าย ๆ รู้ไส้ รู้พุง ว่าสหรัฐฯ จะกลับมาเพื่ออะไร ดังนั้นการปิดทาง อาจจะถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดก็อาจเป็นไปได้
ส่วนการที่กัมพูชานั้นได้ยกเลิกการให้สหรัฐฯ เข้าปรับปรุงฐานทัพเรือ ก็ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลสหรัฐฯ เพราะเป็นสิทธิ์ของกัมพูชา เป็นอธิปไตยของกัมพูชา ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเวลาอธิบายสถาพร เกื้อสกุล 3-07-2562
อ่านบทความอื่น ๆ ที่นี่.. http://www.nationtv.tv/main/columnist/59/

logoline