svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | ฝันร้ายโรงพยาบาลเอกชน

16 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่าจะต้องพบกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อแลกกับการไม่ต้องต่อแถวรอคิว หรือการบริการที่สะดวกสบาย แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นข้อถกเถียงอีกครั้งว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงเกินจริงไปจนต้องมีมาตรการควบคุมหรือไม่

โรคภัยไข้เจ็บและปัญหาสุขภาพ สร้างความทุกข์ทรมานกับคนที่ได้ประสบ ความทุกข์ทรมานทางกายนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่ไม่มีใครแบกรับแทนได้ แม้จะต้องการเพียงใด แต่ความเจ็บปวดของผู้ป่วยนั้น ส่งผลกระทบต่อด้านจิตใจและด้านต่างๆ ต่อคนในครอบครัว หรือคนที่ต้องดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายในการรักษา
ยังไม่มีตัวเลขของบุคคลที่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาลที่ชัดเจนว่ามีจำนวนมากเท่าใด แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นของ การออกมาตรการคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าอาจจะไปลดทอนให้บริการทางการแพทย์ในระดับพรีเมี่ยม
ค่ารักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินไป คือข้อร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับ มาโดยตลอด ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สุภัทรา นาคะผิว บอกว่า ค่ารักษาพยาบาลแพงทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีเงินจ่าย ถูกโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้อง ในขณะที่ค่ารักษาที่แพงเกินความเป็นจริง ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปกำกับ หรือควบคุม ทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องล้มละลายจากการรักษาตัวเป็นจำนวนมาก
เธอเล่าถึงเคสผู้ป่วยครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องถูกโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้อง หลังไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล คำถามคือความเป็นธรรมสำหรับเรื่องนี้ควรเป็นของใคร
"เราไม่อยากเห็นคนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้ทราบอีกกรณีหนึ่ง ยกเพื่อให้เป็นตัวอย่างว่าเป็นผู้ป่วยที่ล้มในห้องน้ำ เลือดออกในสมอง ภรรยาพาไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน และได้รับการผ่าตัดไป 2 ครั้ง นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3 สัปดาห์ ถูกโรงพยาบาลเรียกค่ารักษาพยาบาลไปทั้งหมด 1.5 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่มีเงินจ่าย ต้องเจรจาขอผ่อนชำระเพื่อ แต่ผ่อนชำระไปได้เพียง 2 เดือนก็ไม่มีเงินจ่าย เรื่องจึงขึ้นสู่ชั้นศาล มีการเรียกไปเจรจาไกล่เกลี่ย สุดท้ายตกลงกันได้ที่ 1.2 ล้านบาท ครอบครัวนี้จึงต้องเอาบ้านไปจำนอง เพื่อนำเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล นี่คือตัวอย่างของภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย" สุภัทรา กล่าวทุกคนรู้ดีว่าค่ารักษา โรงพยาบาลเอกชน นั้นแพงอยู่แล้ว แต่มากไปกว่าคำถามว่า เมื่อรู้ว่าแพงจะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนทำไม คือคำถามว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์สูงเกินความเป็นจริง และเกินกรอบของกฎหมายหรือไม่

รักโลก by วชิรวิทย์ | ฝันร้ายโรงพยาบาลเอกชน


เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่น เรื่องร้องเรียนต่อกรมการค้าภายใน มีการประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุม และตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ มีตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนภาคธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนและตัวแทนภาคประชาชน เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ต่อมาเดือนเมษายน สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ขอลาออกจากคณะอนุกรรมการ พร้อมกับฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้ยกเลิก คำสั่งที่ขึ้นทะเบียนยาเป็นสินค้าควบคุมประจำปี 2562 ผลกระทบจากการ ขึ้นบัญชีควบคุมยาเมื่อช่วงต้นปี ทำให้หุ้นของโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งตกไปตามๆ กัน แม้ว่าราคายา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ของโรพยาบาลเอกชน ยังไม่ลดลงไปด้วยก็ตาม
นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช บอกว่า สำหรับประชาชนเราต้องฝึก ถ้าเราจะเลือกโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเตรียมเงิน แต่ก็ต้องดูว่าจะไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดไหน ถูกหรือแพง เปรียบเทียบเหมือนร้านอาหารเจ๊ไฝ ที่มีราคาอาหารสูงลิบลิ่วราคา 800 ถึง 1,000 บาท หลังจากที่ได้รางวัลมิชลินสตาร์ เช่นเดียวกันถ้าเราไปกินอาหารข้างบ้านเมนูเดียวกันในราคา 30 บาทแต่ไม่มีเนื้อปู แต่หากใส่เนื้อปูก็จะเป็น 100 บาท ถามว่าการแพทย์มันไม่เหมือนร้านอาหาร ถ้าเราเอาร้านอาหารเจ๊ไฝมาเทียบว่า เราเอาปูเหมือนกัน แต่จะเอาน้อยๆ ไม่เอาเป็นก้อน เอาปูไปฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ จะได้ราคาถูกลงหน่อย แต่การแพทย์ทำแบบนั้นไม่ได้
ที่ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็น 3 ส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์
ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร บอกว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 3 หมื่นรายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500 %
"ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่าย จะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ"บุณยฤทธิ์ กล่าว
ข้อมูลบางส่วนจาก คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายา 3 รายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาทส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทรีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์
ปัญหาค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปเมื่อปี 2552 และ 2557 ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เคยศึกษา อัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราค่าบริการต่างกันหลายเท่าตัว โดยเอกชน 5 ดาวจะคิดค่าบริการสูงกว่าของรัฐ 2.5-7 เท่า และเอกชนแสวงหากำไร 1 - 4 เท่า

รักโลก by วชิรวิทย์ | ฝันร้ายโรงพยาบาลเอกชน


จากการสำรวจได้ข้อมูลว่า ยาไทลินอลที่ข้างนอกขายเม็ดละ 1 บาท แต่เอกชนสำหรับผู้ป่วยนอกคิดเม็ดละ 3 บาท และผู้ป่วยในเม็ดละ 12 บาท ดังนั้นจะต้องมีการกำกับในเรื่องของราคายา

รักโลก by วชิรวิทย์ | ฝันร้ายโรงพยาบาลเอกชน


ผอ.ด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าฯ TDRI ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ บอกว่า "ต้องคุมราคายาให้มันสมเหตุสมผล เช่นคุณจะบอกว่า ยาพาราฯ ข้างนอก 1 บาท ผู้ป่วยใน 3 บาท เพราะมีค่าแจกยา จัดยา คุณก็ต้องแยกค่านั้นออกมา ไม่ใช่บวกเข้าไปอยู่ในยา คุณหมอบางท่านบอกว่า มีค่าโสหุ้ยเยอะแยะ ในการบริหารจัดการ ก็ยัดเข้าไปอยู่ในค่ายา ดิฉันคิดว่าอย่างนี้มันทำไม่ถูก"
"ควรจะแยกค่าโสหุ้ยออกมา แต่ราคายาก็คือราคายา จะค่าบริการยา หรือค่าพยาบาลก็เขียนออกมา เพราะว่าการที่คุณไม่ทำเช่นนี้ กลายเป็นว่าคุณเอาค่าเงินเดือนนางพยาบาล หรือค่าไฟฟ้า ประปา ไปยัดเข้าไปอยู่ในยา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันสร้างแรงจูงใจให้หมอที่ต้องการทำกำไรมากๆ เพราะกำไรมันอยู่ที่ยาแล้วนี่ ... ดังนั้นคนไข้ก็ต้องรับยาไปเยอะๆ มากกว่าที่ควรจะได้รับ" ดร.เดือนเด่น กล่าว
ล่าสุด คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ กำหนดมาตการกำกับดูแลราคายาและเวชภัณฑ์ 3 แนวทาง เสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. คือ 1.กำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคายาเวชภัณฑ์ ให้ชัดเจน ห้ามขายเกินราคากำหนด
2. นำรายการยาที่จำเป็นกว่า 3,000 รายการ และเวชภัณฑ์ 800 รายการขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและของกรมการค้าภายใน เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการทราบข้อมูลการคิดค่ายาและค่าบริการของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และ 3.ประสานกระทรวงสาธารณสุข แจ้งทุกโรงพยาบาลระบุรายการยาและเวชภัณฑ์ในใบสั่งยา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ต้องการซื้อยาภายนอกโรงพยาบาล

รักโลก by วชิรวิทย์ | ฝันร้ายโรงพยาบาลเอกชน


สอดคล้องกับ ดร.เดือนเด่น ผอ.ด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าฯ TDRI ที่เห็นว่าการออกใบสั่งยาเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วย จะส่งผลในเชิงกลไกตลาดที่จะกดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนให้ต่ำลง
"ดิฉันมองว่าถ้าผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะซื้อยาที่อื่น อย่างสะดวกไม่ต้องอึดอัดใจ ไม่ต้องไปร้องขออะไรเยอะแยะ โรงพยาบาลเอกชนอยากจะขายราคาแพงก็เรื่องของเขา ถ้าเผื่อดิฉันมีทางเลือกกว่านี้
หากหมอเขียนใบสั่งยา ว่าดิฉันต้องซื้อยาพาราฯ 10 เม็ด ก็ไปดูราคาที่ติดไว้ที่โรงพยาบาลว่าเขาขายเม็ดละ 10 บาท แล้วดิฉันก็รู้ว่าดิฉันเดินไปหน้าซอยขายยาพาราฯ เม็ดละ 1 บาท ก็ตามใจดิฉัน ดิฉันจะซื้อ 10 บาทก็เรื่องของดิฉัน เพราะฉะนั้นตราบใดที่ดิฉันมีทางเลือกดิฉันไม่ได้ไปใส่ใจเท่าไหร่ กับราคาที่เขาขายในโรงพยาบาล เพราะดิฉันเชื่อว่ากลไกตลาดสุดท้ายแล้วจะกดราคาเค้าลงมาอย่างแน่นอน
เพราะถ้าเผื่อเขาไม่อยากให้คนไข้คนนี้ไปซื้อ 1 บาทตรงนู้น ก็อาจจะขาย 2 บาทตรงนี้ก็ได้ เพราะต่างกันบาทเดียวขี้เกียจเดินตากแดดซื้อมาตรงนี้แหละ ทานข้าวตรงนี้ด้วย ดังนั้นเนี่ยตรงนี้จะเป็นมาจิ้น ที่รับได้ดัง นั้นดิฉันไม่อยากจะไปนั่งกำกับ" ดร.เดือนเด่น กล่าว
ท่ามกลางภาวะสังคมผู้สูงอายุในไทย เราได้เห็นการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอย่างก้าวกระโดด มาตรฐานการรักษาพยาบาล ที่ต่างไปตามจำนวนเม็ดเงินที่ต้องจ่าย ทำให้มีการแบ่งชนชั้น และความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มสูงขึ้น
"ทางภาคประชาชนเราก็ยืนยันว่า ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะนี่คือคุณธรรมในสังคม เราจะอยู่ร่วมกันยังไงล่ะคะ ถ้าเราปล่อยให้คนที่มีเงินเท่านั้นที่มีโอกาสมีชีวิตรอด ...คนจนต้องตายก่อน นี่คือความเหลื่อมล้ำที่สุด ขณะที่รัฐบาลชุดนี้เองก็ประกาศเสมอว่าจะลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนที่สุดแล้วค่ะ ว่าเราจะต้องไม่ทำให้คนรวยรอด คนจนตาย..." สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าว

รักโลก by วชิรวิทย์ | ฝันร้ายโรงพยาบาลเอกชน


สัจจธรรมในชีวิตอย่างหนึ่ง คือไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งเราอาจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความสะดวกหรือ เหตุฉุกเฉิน
ความมีมนุษยธรรมในการทำธุรกิจโรงพยาบาล จึงถูกสังคมคาดหวังสูงกว่าธุรกิจอื่นเพราะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือให้คนรอดชีวิต
จริงอยู่ที่ว่าการทำธุรกิจไม่ใช่การกุศล การสร้างเม็ดเงินกำไรจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
มากไปกว่าการควบคุมค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน อาจจคือพัฒนาคุณภาพและการบริการโรงพยาบาลรัฐให้เท่าเทียม และสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าด้านสาธารณะสุขให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง


logoline