svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | รอยเลื่อนปริศนา

02 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวที่รับรู้แรงสั่นเทือนจนสร้างความเสียหายมาแล้ว 6 ครั้ง รวมครั้งล่าสุดขนาด 4.9 แมกนิจูด ที่มีจุดศูนย์กลางที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เฉลี่ยแล้วก็จะเกิดแผ่นดินไหวทุกๆ 2 ปี สะเทือนให้เห็นว่าภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยใก้ลตัว ที่ต้องติดตามทั้ง 14 รอยเลื่อนที่ยังคงมีพลังอย่างใกล้ชิด ติดตามกับทีมข่าวชั่วโมงสืบสวน



นับตั้งแต่องค์พระธาตุวัดพระเกิด อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ถูกสร้างขึ้น กระทั่งช่วงที่มีการบูรณะครั้งใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีที่แล้ว ในยุคของครูบาศรีวิชัย ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ครั้งไหน ที่สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างเจดีย์ ได้มากเท่ากับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมา
ลึกลงไป 10 กิโลเมตรในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง คือศูนย์กลางแผ่นดินขนาด 4.9 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แรงสั่นสะเทือนสร้างความเสียหายให้กับยอดฉัตรบนเจดีย์ และและผนังโบสถ์ที่แตกร้าวทั้ง 2 ด้าน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลทุ่งฮั้ว ชาติ ลอยพระดวง พาทีมข่าวชั่วโมงสืบสวนสำรวจความเสียหายภายในวัดท่ามกลางความกังวลว่าโครงสร้างจะไม่ปลอดภัย และต้องการให้หน่วยงานตรวจสอบ เร่งบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
ความรุนแรงแผ่นดินไหวขนาด 4.9 แมกนิจูด อาจไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายเหมือนอย่างแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด เมื่อ ปี 2557 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ภายหลังจากที่ วิศวกรโยธา เข้ามาตรวจรอยร้าวบนผนังโบสถ์ พบว่ายังมีความปลอดภัยแต่ต้องซ่อมแซมให้แข็งแรงคงทนต่อไป
แม้แผ่นดินไหวครั้งนี้จะนับเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลาง และไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่สำหรับชาวบ้านที่เกิดและโตในอำเภอวังเหนือมาทั้งชีวิต ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะต้องพบเจอกับภัยแผ่นดินไหว ในบ้านของตัวเองบ้านหลังนี้เป็นหนึ่งใน 74 หลังที่เสียหายจากแรงแผ่นดินไหว นวล ตานาคา คือเจ้าของบ้าน พาเราดูร่องรอยความเสียหาย ทั้งรอยร้าวบนเสาบ้าน และโอ่งใบใหญ่ที่แตกกระจายจากแรงสั่นสะเทือน
เป็นครั้งแรกที่ชายชราวัย 66 ปี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ขณะที่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2557 ในเขตจังหวัดเชียงราย เคยรับรู้แรงสั่นไหวเพียงเล็กน้อย ครั้งนี้ที่นี่ต้องกลายเป็นจุดศูนย์กลาง ความเสียหายที่ไม่เคยเขาไม่เคยเห็นก็เกิดขึ้น
วิศวกรโยธาประจำจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านที่ได้รับความเสียง มีการประเมินโครงสร้างบ้าน 3 ระดับคือสีเขียวไม่เสียหาย สีเหลือง อยู่อาศัยไม่ได้ก่อนการซ่อมแซม และสีแดง เสียหายหนักไม่สามารถซ่อมแซม และต้องรื้อทิ้ง สำหรับบ้านของนายนวลหลังนี้ อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง เช่นเดียวกับบ้านหลังอื่นๆ ที่ไม่ถึงกับสีแดง
ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งทีมนักวิชาการเก็บข้อมูลเรื่องรอยเลื่อน ว่าจะมีโอกาสสั่นไหวรุนแรงกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถพยากรณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวได้ แต่แผ่นดินไหวในไทยก็มักจะเกิดบริเวณรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลัง ซึ่งรอยเลื่อนที่อยู่ในเขตประเทศไทยจะมีความรุนแรงสูงสุดไม่เกิน 7 ริกเตอร์ เนื่องจากไม่ใช่รอยเลื่อนขนาดใหญ่

ประเทศไทย มี 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลังคือ 1. รอยเลื่อนแม่จัน 2. รอยเลื่อนแม่อิง 3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน 4. รอยเลื่อนเมย 5. รอยเลื่อนแม่ทา 6. รอยเลื่อนเถิน 7. รอยเลื่อนพะเยา 8. รอยเลื่อนปัว 9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ 10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ 11. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ 12. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ 13. รอยเลื่อนระนอง และ 14. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย สำหรับแผ่นดินไหวอำเภอวังเหนือ จังลำปางครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดจากรอยเลือนพะเยา
แต่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บอกว่า แผ่นดินไหวลำลำปาง อาจไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ที่เป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่มักเชื่อมโยงแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนต่างๆ ปัจจัยนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงอาจเกิดนอกแนวรอยเลื่อนที่เรารู้จักก็เป็นได้
นักธรณีวิทยาประมาณกันว่าในวันวันนึง จะเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 1,000 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแผ่นดินไหวที่มีการสั่นสะเทือนเพียงเบา ๆ เท่านั้น คนทั่วไปจะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ทั้งนี้แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่เลื่อน เคลื่อนที่ หรือแตกหัก
กรมทรัพยากรธรณี พยายามรวบรวมข้อมูลให้ได้มากทมี่สุด เพื่อจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย แผ่นดินไหว 22 จังหวัดซึ่งอยู่บนรอยเลื่อนต่างๆ ซึ่งอยากให้กรมโยธาธิการและผังเมืองใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการวางผังเมือง เพื่อลดความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ ชาวบ้าน ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณรอยเลื่อนแล้ว ก็อาจจำเป็น เสริมโครงสร้างของบ้านให้แข็งแรงมากขึ้น เพื่อรองรับกับภัยแผ่นดินไหวด้วย
ย้อนดูสถิติแผ่นดินในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนจนรู้สึกได้ และสร้างความเสียหายกับบ้านเรือ พบว่าเกิดขึ้นแล้ว 6 ครั้ง
19 มิถุนายน 2550 แผ่นดินไหวขนาด 4.5แมกนิจูด ที่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่23 ธันวาคม 2551 แผ่นดินไหวขนาด 4.1 แมกนิจูด ที่ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี 16เมษายน 2555 แผ่นดินไหวขนาด 4.3 แมกนิจูดที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต4 มิถุนายน 2555 แผ่นดินไหวขนาด 4.0 แมกนิจูดที่ อ.เมือง จ.ระนอง5 พฤษภาคม 2557 แผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด อ.พาน จ.เชียงรายและ 20 กุมภาพันธ์ 25692 แผ่นดินไหวขนาด 4.9 แมกนิจูด อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทย มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา และยังไม่มีเครื่องมือพยากรณ์คาดการณ์ล่วงหน้า ประชาชนจึงต้องตระหนักและใส่ใจว่าตนมีความเสี่ยงเพียงใด ประการต่อมาคือการเสริมกำลังอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว
แม้ว่ากรมทรัพยกรธรณีจะระบุว่าประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ยังบมีพลังอยู่ทั้งหมด 14 รอยเลื่อน แต่นักวิชาการแผ่นดินไหวอีกฟากหนึ่งสันนิฐานว่าอาจมีรอยเลื่อนหลบซ่อนอยู่มากกว่านั้น และจนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าแผ่นดินไหว ที่อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เกิดจากรอยเลื่อนพะเยาจริงหรือไม่ หรือที่จริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้ ก็เป็นได้

logoline