svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"2 ขั้ว" เสียงก้ำกึ่ง การเมืองส่อถึงทางตัน จับตา! นายกฯคนนอก

26 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากเรามองข้ามช็อตเรื่องความสับสนผิดพลาดเกี่ยวกับการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งของ กกต. แล้วให้น้ำหนักการวิเคราะห์ไปที่การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล จะพบปัญหาเสียงก้ำกึ่งกันอย่างมาก จนน่าเชื่อว่าถ้าแต่ละฝ่าย ซึ่งก็คือ 2 ขั้วการเมืองใหญ่ ได้แก่ ขั้วเพื่อไทย กับ ขั้วพลังประชารัฐ ไม่ยอมลดราวาศอกกัน ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้การเมืองถึง "ทางตัน" เดินหน้าต่อด้วยการตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้

จากตัวเลขผลคะแนนล่าสุดที่ กกต.ประกาศออกมา (ยึดตัวเลข 10.45 น. วันที่ 25 มี.ค.62) ระบุว่าเป็นการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 94% จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ครบแล้ว 350 เขต แต่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยังไม่ครบ คือคำนวณออกมาได้ 138 ที่นั่ง จาก 150 ที่นั่ง หายไป 12 ที่นั่ง ทำให้จำนวน ส.ส.รวมทั้งสภา 500 ที่นั่ง ประกาศอย่างไม่เป็นทางการได้เพียง 488 ที่นั่ง

"2 ขั้ว" เสียงก้ำกึ่ง การเมืองส่อถึงทางตัน จับตา! นายกฯคนนอก


หากเรานำคะแนนที่ยังไม่สะเด็ดน้ำนี้มารวมขั้วทางการเมือง จะพบว่า พรรคที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" จะประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 135 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง และพรรคเพื่อชาติ 5 เสียง รวมกันแล้วได้เสียงสนับสนุน 242 เสียง
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุน "นายกฯ ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคที่ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 117 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังชาติไทย พรรคละ 1 เสียง หากพรรคกลุ่มนี้จับมือกันทั้งหมด จะรวมเสียงได้ 246 เสียงจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีฝ่ายใดได้เสียงเกิน 250 เสียง ต้องรอผลคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพิ่มเติมอีก 12 ที่นั่ง ให้ครบ 150 ที่นั่ง แต่ก็เชื่อว่าจะยังมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ดี เพราะรัฐบาลที่จะมีเสถียรภาพมั่นคง ต้องมีเสียง ส.ส.อย่างน้อย 280-300 เสียง ซึ่งหากไม่มีพรรคระดับ 50 เสียงเปลี่ยนข้าง ก็แทบจะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ได้เลย โดยพรรคที่มีจำนวน ส.ส.อยู่ในระดับ 50 เสียง มี 2 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย
ปัญหาก็คือ เอาแค่ความชอบธรรมว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็หาข้อสรุปยากแล้ว เพราะพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนโหวตทั้งประเทศสูงกว่าเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.เขตมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายก็ออกมาอ้างเหตุผลความชอบธรรมเข้าข้างตัวเองนอกจากนั้น การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงสนับสนุนถึง 376 เสียง ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายไหนน่าจะรวมเสียงได้มากขนาดนั้น แม้จะมีการย้ายข้างของพรรคระดับ 50 เสียงก็ตาม ฉะนั้นจึงต้องพึ่งพาเสียง ส.ว. ทำให้ฝ่ายสนับสนุน "นายกฯ ลุงตู่" มีโอกาสมากกว่า เพราะ ส.ว.ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ แม้จะตั้งนายกฯ ได้ แต่การบริหารประเทศจะทำอย่างไร เนื่องจากเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งแบบไม่เด็ดขาด ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน
จากปัญหา "ทางตันทางการเมือง" ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ สามารถกระเทาะออกมาเป็นแนวโน้มที่เป็นไปได้ของการเมืองไทยนับจากนี้ รวม 4 แนวทางด้วยกัน คือ

"2 ขั้ว" เสียงก้ำกึ่ง การเมืองส่อถึงทางตัน จับตา! นายกฯคนนอก


1.ถ้าพรรคภูมิใจไทยหันไปจับมือกับ "ฝั่งไม่เอาลุงตู่" ผลที่ได้จะทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงสนับสนุนเกือบๆ 300 เสียง ถือเป็นรัฐบาลมีเสถียรภาพมากที่เดียว แต่เสียงเกือบ 300 เสียงยังไม่พอโหวตนายกฯ เพราะต้องใช้ 376 เสียง คือโหวตร่วมกับ ส.ว.อีก 250 เสียง
สถานการณ์ก็จะกลายเป็นว่า "ตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ ถ้า ส.ว.ไม่หนุน" ตอบง่ายๆ ว่า "ไม่ได้" นั่นเอง เพราะ ส.ว.มาจากไหน ใครตั้ง ก็ทราบกันดี

"2 ขั้ว" เสียงก้ำกึ่ง การเมืองส่อถึงทางตัน จับตา! นายกฯคนนอก


2.พรรคภูมิใจไทยจับมือกับ "ฝั่งหนุนลุงตู่" ผลที่ได้ก็คือ เสียงสนับสนุนของฝ่ายนี้อยู่ที่ราวๆ 250 เสียง เกินมาก็นิดหน่อย เรียกว่า "เสียงปริ่มน้ำ" เป็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ แต่เสียงเท่านี้ ถ้าไปรวมกับ ส.ว. 250 เสียง ก็สามารถเป็นนายกฯ ไปก่อนได้ เพราะเสียง ส.ส.รวมกับ ส.ว.มากถึง 500 เสียงหรือใกล้เคียง
แต่สถานการณ์จะกลายเป็นว่า "ลุงตู่เป็นนายกฯ ได้ ตั้งรัฐบาลได้ แต่บริหารได้หรือไม่" ตอบง่ายๆ ได้เลยว่า "บริหารไม่ได้"

"2 ขั้ว" เสียงก้ำกึ่ง การเมืองส่อถึงทางตัน จับตา! นายกฯคนนอก


3.ฝั่งหนุนลุงตู่ จับมือ ส.ว.ปลดล็อกตั้งนายกฯ คนนอก โดยการปลดล็อกให้มี "นายกฯ คนนอก" ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก 2 สภา 500 เสียงขึ้นไป ซึ่งดูตามจำนวนเสียงแล้วเป็นไปได้ แต่ผลที่จะตามมาก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี, ต้องหาคนกลางมาเป็นนายกฯ แล้วดึงเสียงฝั่งไม่เอาลุงตู่มาร่วมบางส่วน เช่น พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง รวม 22 เสียง ก็พอตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพระดับหนึ่งได้ โดยมีเสียงสนับสนุนอยู่ราวๆ 270 เสียง
โดยเหตุผลที่จะนำมาใช้คือ "รัฐบาลแห่งชาติ" (แต่เสียงสนับสนุนแค่นี้ยังไม่ตรงกับนิยามรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมีเสียงสนับสนุนมากเป็นพิเศษ เกือบจะเป็นรัฐบาลฝั่งเดียวเลย)
4.แนวทางตามที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ ก็คือการรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกิน 376 เสียงจาก 500 เสียง เพื่อโหวตนายกฯ โดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เรียกแนวทางนี้ว่า "ปิดสวิตช์ ส.ว." ซึ่งจากคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลานี้ หากนับรวมเสียง ส.ส.ทุกพรรค ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจน จะพบว่ามีมากกว่า 376 เสียงเลยทีเดียว พรรคอนาคตใหม่จึงคิดว่าถ้าทุกพรรคที่เหลือโหวตหนุนนายกฯ จากพรรคการเมือง ก็จะตั้งรัฐบาลได้เอง ไม่ต้องใช้บริการ "ส.ว.รอโหวต"
คำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย 2 พรรคที่มีคะแนนเสียงประมาณ 100 เสียง จะเอาด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ จะยอมเดินตามเกมที่กำหนดโดย "พรรคอนาคตใหม่" จริงหรือ
และประเด็นสำคัญที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ กกต.เตือนไว้แล้วว่า ตัวเลขผลการเลือกตั้งที่ปรากฏผ่านสื่อนี้ เป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ "สื่อคิดเอาเอง" เพราะ กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ยังมีอำนาจแจกใบเหลือง ใบส้ม ในเขตเลือกตั้งที่มีการร้องคัดค้านอีก โดยเฉพาะ "ใบส้ม" ถ้างัดออกมาแจกคนที่ได้คะแนนที่ 1 ในเขตนั้น ตัวผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งอยู่เดิม จะถูกถอดออกจากสนาม ลงสมัครอีกไม่ได้ และพรรคการเมืองที่สังกัดก็ส่งผู้สมัครคนอื่นแทนไม่ได้ ก็จะทำให้จำนวนเสียงทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์เปลี่ยนแปลงอีก จนทำให้แนวโน้มการจับขั้วตั้งรัฐบาลสวิงได้อีกเหมือนกัน
นี่คือความยุ่งยาก สับสนอลหม่านของการเลือกตั้งระบบใหม่ ในภาวะที่บ้านเมืองแตกออกเป็นขั้วเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน

logoline