svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

DITP ผนึกกำลังร่วมกับสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร เตรียมพร้อมสถานการณ์หลัง Brexit

18 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

18 มีนาคม 2562 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) และ Standard Chartered จับตาความเคลื่อนไหว และโอกาสของผู้ประกอบการไทยภายหลังสถานการณ์ Brexitผ่านงานสัมมนา "Brexit and its Implications on Thailand" เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจในตลาดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ให้สอดคล้องกับการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Strategic Partnership ของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของ Brexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากจะมีผลต่อการค้ากับไทยได้ต่างกันในแต่ละกรณีโดยสหราชอาณาจักรอาจตัดสินใจออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (No deal) หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การยื่นขอเจรจาแก้ไขความตกลงเบร็กซิทกับอียู หรือการขอขยายเวลาการออกจากอียู อย่างไรก็ดี การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และการพบปะหารือระหว่างรัฐบาลไทยและนางเทเรซา เมย์ ในเดือนกรกฎาคมปี 2561 ณ กรุงลอนดอน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายในการขยายความร่วมมือ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน การเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และยุโรปในอนาคตหลัง Brexit ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับไทยที่จะสร้างพันธมิตรทางการค้ากับหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก


นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานฝ่ายไทยสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) กล่าวว่า สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai - UK Business Leadership Council (TUBLC)) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยและสหราชอาณาจักรมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit การออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรในรูปแบบ No deal อาจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของสหราชอาณาจักร ทำให้ความต้องการสินค้าภายในสหราชอาณาจักรชะลอตัวผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับค่าเงินปอนด์ที่คาดว่าจะอ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าไทยขยับตัวสูงขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจไทยยังคงเชื่อมั่นว่า การติดตามพัฒนาการในเรื่องBrexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคต จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมต่อผู้ประกอบการไทย


นายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมบูรณาการกับ กระทรวงพาณิชย์ และสภาผู้นำ TUBLC ในการจัดสัมมนาร่วมกัน ทั้งการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย โดยคัดสรรวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ/นักวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารความเสี่ยง และภาคธนาคารต่อสถานการณ์ Brexit มาให้ความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไทยที่สนใจ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจและอยากจะทราบว่าจะมีผลกระทบอย่างไรกับการดำเนินธุรกิจ



อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวเสริมว่า การสัมมนาในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และภาคเอกชนได้แก่สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เล็งเห็นว่าสถานการณ์ Brexit เป็นที่สนใจของนักธุรกิจไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับยุโรปและสหราชอาณาจักร ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน และอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง "Brexit and its Implications on Thailand" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ให้กับผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบของ Brexit ที่สหราชอาณาจักรจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(EU) ซึ่งในขณะนี้ คาดว่าเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ/ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหราชอาณาจักรรับมือกับสถานการณ์ Brexit (ทั้งในกรณี Hard Brexit/No Deal และ Soft Brexit) ตลอดจนสามารถประเมินถึงผลกระทบ โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายต่อไป


อนึ่ง สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 จากสหภาพยุโรป ในปี 2561 การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.40 ของการค้าทั้งหมดของไทย มีมูลค่ารวม 7,044.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 4,062.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวลงร้อยละ 0.45)และเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,981.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (การขยายตัวร้อยละ 1.81) สหราชอาณาจักรขาดดุลการค้า 1,080.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า

logoline