svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ธรณีพิโรธลำปาง สัญญาณอันตราย เหนือเสี่ยงทุกพื้นที่

21 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิจัยแผ่นดินไหว สกว. สำรวจความเสียหายพบมีทั้งระดับเหลืองถึงแดง ขณะที่ ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชียวชาญแผ่นดินไหว ชี้ แผ่นดินไหวลำปาง ส่งสัญญาณอันตราย ภาคเหนือเสี่ยงทุกพื้นที่ เพราะมีรอยเลื่อนฝังตัวใต้เปลือกโลก อาจทำให้เกิดธรณีพิโรธได้ทุกที่ กระตุ้นการสร้างความตระหนักเสริมกำลังอาคารอ่อนแอ โรงเรียน โรงพยาบาล น่าห่วงสุด

หลังเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง รุนแรงสุด ขนาด 4.9 แมกนิจูด ที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง และ ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกหลายครั้ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่ามีความเสียหายของอาคารบ้านเรือนประชาชนในตำบลทุ่งฮั้ว และเจดีย์วัดพระเกิดที่ยอดฉัตรเอียง นอกจากนี้ยังพบความเสียหายในตำบลวังแก้ว ตำบลวังซ้าย และตำบลวังเหนือ

ล่าสุด ผศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าโครงการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวประเทศไทยแบบบูรณาการข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในบริเวณทั้งหมดในหมู่ที่ 11 ตำบลทุ่งฮั้ว เบื้องต้นพบว่าอาคารองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว ได้รับความเสียหายในส่วนกำแพงเท่านั้น ส่วนโครงสร้างหลักอย่างเสาและคานไม่ได้รับเสียหายใด ๆ ขณะที่อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านในละแวกตำบลทุ่งฮั้ว พบว่ามีบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลังได้รับความเสียหายที่บริเวณเสา อยู่ในระดับสีเหลือง ส่วนอาคารทั่วไปมีเสาเสียหายจนเห็นเหล็กภายในและอยู่ในระดับสีแดง 1 หลัง ทั้งนี้อาจจะต้องให้ช่างกะเทาะเสาดูว่าคอนกรีตได้รับความเสียหายหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่มาก

ธรณีพิโรธลำปาง สัญญาณอันตราย เหนือเสี่ยงทุกพื้นที่

"ในภาพรวมทั่วไปแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่ประชาชนก็ควรอยู่นอกอาคารสักระยะหนึ่ง เพราะไม่ทราบว่าอาคารผนังจะเสียหายถึงขั้นถล่มลงมาหรือไม่หากเกิดอาฟเตอร์ช็อครุนแรง ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นถี่ในช่วงนี้"ทั้งนี้ นักวิจัยได้รายงานผลการสำรวจความเสียหายต่อ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว ซึ่งทางนายทรงพลจะสั่งการให้ทีมโยธาธิการจังหวัดลำปางและวิศวกรรมอาสามาสำรวจให้ครบถ้วนเพิ่มเติม รวมถึงสั่งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังด้วยผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การเกิดอาฟเตอร์ช็อคถี่ ๆ เป็นเรื่องปกติ เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังของไทย จึงตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอีกกี่ครั้งและรุนแรงเท่าใด จะมีขนาดใหญ่กว่า 4.9 หรือไม่ หรือ พลังงานจะลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จึงควรจะต้องมีความตื่นตัว เตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ควรจะตื่นตระหนกกันมากนัก"แผ่นดินไหวครั้งนี้แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนหลายแห่ง สะท้อนได้ว่าโครงสร้างอาคารบ้านเรือนยังไม่ได้รับการเสริมแรงต้านทานแผ่นดินไหวมากนัก จึงเป็นประเด็นทางสังคมที่จะต้องมาต่อยอดขบคิดกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือให้มากกว่านี้"

ธรณีพิโรธลำปาง สัญญาณอันตราย เหนือเสี่ยงทุกพื้นที่

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่า โดยหลักวิชาการแล้ว แผ่นดินไหวขนาด 4.9 ถือว่าเริ่มเข้าสู่อันตราย เพราะใกล้เคียงกับขนาด 5.0 ที่ถือว่าอันตราย และ ขนาด 6 ขึ้นไปถือว่าอันตรายมาก ส่วนสาเหตุที่คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนพะเยานั้น คิดว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่มักเชื่อมโยงแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนต่าง ๆ จริง ๆ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง แผ่นดินไหวครั้งนี้ จึงอาจเกิดนอกแนวรอยเลื่อน ที่เรารู้จักก็เป็นได้"เราอาจจะห่วงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน แต่สำหรับผมแล้วเป็นห่วงทั้งภาคเหนือ เพราะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา ดังที่เคยเกิดขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 การเกิดที่ลำปางจึงทำให้เราตระหนักได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดในพื้นที่ใดก็ได้ไม่ใช่แค่ที่เชียงราย สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือเราต้องทำให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจว่าตนมีความเสี่ยงเพียงใด ประการต่อมาคือการเสริมกำลังอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว ด้วยการเสริมก้านเหล็กพิเศษ หรือพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น ขณะนี้ทีมวิจัยได้ทดลองเสริมกำลังให้กับอาคารเรียนไปแล้ว 4 หลัง และจะดำเนินการเพิ่มอีก 4 หลัง หากรัฐบาลเอาจริงก็ควรทำเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเสริมกำลังอีกเพียงร้อยละ 15 ของงบก่อสร้าง เราก็จะได้อาคารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่เสียหายแล้วก็ทุบทิ้งสร้างใหม่ โดยอาคารที่อ่อนแอและน่าเป็นห่วงที่สุดคือ โรงพยาบาลและโรงเรียน โดยเฉพาะอาคารที่ชั้นล่างเปิดโล่งสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ชั้นบนมีผนังและห้องเรียน"

logoline