svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พรรคการเมืองประสานเสียง สร้างหลักประกันสุขภาพคนไทยถ้วนหน้า ยั่งยืน

11 มกราคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภาคประชาชน" เรียกร้องลดความเหลื่อมล้ำ ยุบกองทุนสิทธิรักษาต่างๆ เป็นสิทธิเดียว มาตรฐานเท่าเทียมทุกคน "พรรคการเมือง" พร้อมจัดนโยบายสร้างมาตรฐานรักษา-ใช้เทคโนโลยี Big data - Robot เชื่อมโยงข้อมูลรักษาได้ทั่วถึง เพื่อไทยสร้าง Thailand good doctor

11 ม.ค.62 - ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ผ่านมา "มูลนิธิมิตรภาพบำบัด" ได้จัดเสวนาเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ แสดงจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายหลักประกันสุขภาพ ในหัวข้อ "เวทีมองไปข้างหน้ากับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน" ในวาระรำลึก11 ปี การเสียชีวิตของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ร่วมสร้างงานด้านหลักประกันสุขภาพ โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

โดย "นายกสมาคมเพื่อนโรคไต" ในส่วนของภาคประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นว่า ก่อนที่จะพูดถึงระบบประกันสุขภาพจริงๆก็ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่หรือเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ดีหากจะพูดถึงระบบประกันสุขภาพ ในปัจจุบันเท่าที่มองเห็นรู้สึกว่าระบบยังมีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนและทำให้การรักษานั้นไม่เท่าเทียม ดังนั้นทำให้การจัดระบบ เรื่องสุขภาพการใช้สิทธิของข้าราชการ สิทธิของระบบหลักประกันสุขภาพฯ (สิทธิผู้ถือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค) และสิทธิประกันสังคมจึงไม่เป็นธรรม เช่นกรณีของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายคนที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ ค่าฟอกไตครั้งหนึ่งก็จะอยู่ที่ 1,500 บาท ขณะที่ส่วนการใช้สิทธิประกันสังคมแม้ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 1,500 บาทเท่ากัน แต่ด้วยกฎหมายนั้นได้เอื้อประโยชน์ให้กับหน่วยบริการว่าหากใช้หลักประกันสุขภาพก็ให้ผู้ประกันตนนั้นจ่ายเอง ขณะที่สิทธิ์ข้าราชการในการฟอกไตถ้าฟอกไตจะอยู่ที่ครั้งละ 2,000 บาทโดยเครื่องฟอกไตก็เป็นเครื่องตัวเดียวกัน

ดังนั้นจึงอยากจะฝากไปในอนาคตว่าหากพรรคใดจะเข้ามาเป็นผู้นำประเทศก็ต้องหาแนวทางการรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุนเพื่อให้เป็นรัฐสวัสดิการโดยทำเป็นกองทุนเดียวกันรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกันคือสิ่งที่เราอยากเห็น และเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันอย่างราคาแพงและไม่เป็นการธรรม สุดท้ายที่เป็นหัวใจหลักอีกเรื่องก็คือ การซื้อยารวมของประเทศควรให้เป็นกองทุนเดียวไม่ใช่กระจัดกระจาย ให้ว่าเป็นสิทธิ์ข้าราชการซื้อสิทธิ์ประกันสังคมซื้อ โดยการให้ซื้อยาลักษณะเป็นการซื้อยารวมของประเทศโดยกองทุนเดียวก็จะมีอำนาจต่อรองราคายากับบริษัทยาได้สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการซื้อน้ำยาล้างไต ในระบบการหลักสุขภาพฯ จะซื้อได้ในราคาไม่เกิน 113 บาทถ้ารวมค่าขนส่งโลจิสติกส์จะอยู่ที่ 128 บาท ส่วนสิทธิประกันสังคมจะอยู่ที่ 150 บาท ส่วนสิทธิราชการก็จะสูงขึ้นไปกว่าราคาดังกล่าวอีก และอยากจะฝากถึงพรรคการเมืองในอนาคตด้วยว่า ให้ใช้เงินมาลงในระบบประกันสุขภาพให้เคลียร์ที่สุด

พรรคการเมืองประสานเสียง สร้างหลักประกันสุขภาพคนไทยถ้วนหน้า ยั่งยืน



ด้าน "น.ส.บุญยืน ศิริธรรม" นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน ก็สะท้อนความคิดเห็นถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่า ในเรื่องการเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ สิ่งที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้องให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันด้วย โดยก่อนที่จะมีระบบบัตรทองหลักประกันสุขภาพ พวกเราพยายามแสวงหาระบบที่จะให้ทุกคนทีสิทธิ แต่เมื่อมีระบบ หลักประกันสุขภาพกับเขียนกฎหมายผูกไว้ในเรื่องต้องมีเลขบัตรประชาชา 13 หลัก ทำให้คนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนเขาขาดสิทธิ์ทันทีดังนั้นเราจึงอยากจะให้ปรับ ในเรื่องนี้ให้เป็นของคนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยด้วย โดยคนไทยทุกคนก็เสียภาษีเช่นเดียวกันหมด

และที่สำคัญการที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพยืนอยู่ได้โดยทำให้คนป่วยน้อยลงก็คือ การให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และในการพัฒนาความเจริญต่างๆก็จะต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดว่าแม้นจะพัฒนาความเจริญแต่ก็จะต้องไม่กระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน เช่น การพัฒนาแม่ต่างๆหรือถ่านหินที่เมื่อใช้แล้วมีผลกระทบ ก็จะต้องดูแลแก้ไขให้การพัฒนานั้นเป็นไปด้วยความเหมาะสม ไม่ทำลายสุขภาพของประชาชน ไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะมีเงินสมทบในกองทุนมากเท่าใดแต่ประชาชนยังมีความเจ็บป่วยจากผลของการพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ ก็แก้ปัญหาสุขภาพประชาชนที่ดีไม่ได้ เพราะความเจริญนั้นต้องไม่ทำลายล้างประชาชน อย่างไรก็ดีสำหรับแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เราก็หวังจะให้เกิดขึ้นเหมือนก่อนหน้านี้ที่เราไม่คิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยแต่วันนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ดังนั้นถ้าจะเป็นไปได้ก็ควรร่วมกันผลักดัน สู่ระบบสุขภาพบำนาญประชาชนแห่งชาติคือประชาชนทุกคนต้องมีหลักประกันโดยการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ มาเป็นระบบหลักประกันนักการเมืองต้องเลิกเอาประชาชนเป็นตัวประกัน

พรรคการเมืองประสานเสียง สร้างหลักประกันสุขภาพคนไทยถ้วนหน้า ยั่งยืน


ขณะที่ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์มองเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องระบบสวัสดิการ เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ต้องเป็นห่วงว่านโยบายลักษณะเช่นนี้จะเป็นประชานิยมหรือไม่ แต่กรณีปัญหาของกลุ่มชายขอบ หรือคนบางกลุ่มตกหล่นไปก็ควรจะต้องให้สิทธิกับคนเหล่านั้น ส่วนประเด็นที่พรรคประชาธิปัตมองว่าเป็นความท้าทายในอนาคตนั้น 1.ก็คือปัญหาการเงิน การคลัง ซึ่งยังคงมีปัญหาปีแล้วปีเล่า ที่ยังไม่สามารถเป็นไปตามความจำเป็น งั้นการปรับปรุงกติกาการจัดสรรงบประมาณนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ส่วน ส่วนประเด็นเรื่องการรวมกองทุนนั้นพรรคประชาธิปัตย์มองต่างไปว่า อย่างคนที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมเหมือนต้องเสีย 2 ต่อคือเสียทั้งภาษีเพื่อมาดูแลระบบประกันสุขภาพของทุกๆคนอยู่แล้ว และยังต้องเสียเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมด้วย

ดังนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์อยากนำเสนอก็คือ เราควรจะเปิดโอกาสให้คนในระบบกองทุนประกันสังคมตัดสินใจว่าเขายังอยากในระบบนี้ต่อไปหรือไม่ถ้าเขาไม่อยากจะเสียเงินสมทบเข้ากองทุนก็ให้เขามีสิทธิ์ที่จะออกมาเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้แต่ถ้าเขาก็ยังอยากที่จะอยู่ในระบบกองทุนประกันสังคมต่อด้วยก็ให้เขาสมทบเงินเข้ากองทุน ขณะที่ทั้งระบบประกันสุขภาพและระบบประกันสังคมก็สามารถที่จะแข่งขันกันได้ แต่ในมาตรฐานของการรักษาพื้นฐานนั้นยังต้องเท่าเทียมกัน ส่วนระบบสิทธิราชการ คนที่เขาเข้ามารับราชการเขาก็ตัดสินใจบนเงื่อนไขที่คิดว่าเขาจะได้รับสิทธิ โดยยอมรับที่จะได้รับเงินเดือนต่ำกว่างานเอกชน เพื่อแลกกับสวัสดิการในส่วนนี้ ดังนั้น ถ้าจะไปมีการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ก็จะต้องไปชดเชยสิทธิเขาด้วย

ประเด็นหลักที่ต้องการย้ำคือว่า อย่ามองเพียงแค่การรวมกองทุนถ้าจะคิดว่าจะมายกระดับหรือสร้างมาตรฐาน เพราะถ้าเรายกกองทุนแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าคุณภาพของคนในระบบหลักจะดีขึ้นแต่ที่แน่ๆสิ่งที่หลายๆคนเคยได้จากระบบราชการก็ดีและจากระบบประกันสังคมก็ดีอาจจะเสื่อมถอยลง สิ่งที่ต้องตระหนักคือต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอและที่สำคัญระบบ สวัสดิการที่มาจากภาษี เราเองก็ยังไม่เคยพูดกันเลยว่าระบบภาษีนั้นเป็นธรรมหรือไม่ นี้เรามีลักษณะภาษีถดถอยค่อนข้างมาก และในแง่ของภาษีเงินได้ กลุ่มมนุษย์เงินเดือนก็ไม่ได้มีรายได้มากมายและข้าราชการส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ก็เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่คนที่มีรายได้จริงๆสูงจริงๆกับมีช่องโหว่ช่องว่างเยอะแยะไปหมดที่จะไม่ต้องเสียภาษีโดยได้รับสิทธิยกเว้นต่างๆ ดังนั้นตรงนี้คือโจทย์ที่พรรคประชาธิปัตย์มองว่าสำคัญในการที่จะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนกรณีของโรงพยาบาลเอกชนก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเข้าไปควบคุมเพราะว่ากฎหมายปัจจุบันอ่อนเกินไป ที่ให้เพียงแค่แจ้งค่าบริการ ซึ่งไม่เพียงพอที่สำคัญอีกแง่ก็คือการบริหารทรัพยากรในภาพรวมทั้งหมดเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่เชื่อมโยงกับเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็สนับสนุนระบบของ สสส. , สมัชชาสุขภาพที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันในช่วงที่พักประชาธิปัตย์เคยเป็นรัฐบาลเราก็มีความชัดเจนในการเคารพสิ่งที่ปรากฏในธรรมนูญสุขภาพคือการไม่ให้รัฐบาลไปสนับสนุนธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล และสุขภาพเพราะนั่นคือตัวที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำและดึงทรัพยากรไปจากบริการของภาครัฐ ขณะที่เรื่องคุณภาพชีวิตของคนความก้าวหน้าความเป็นอยู่ของผู้คนจะไปผูกติดอยู่กับตัวเลข GDP อีกต่อไปไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นตัวสะท้อนที่ดีอีกต่อไป ซึ่งไม่ใช่เพียงนโยบายด้านสาธารณสุขเท่านั้นแต่นโยบายสาธารณะทุกมิติจะต้องคำนึงถึงผลกระทบสุขภาวะของผู้คน โดยให้ประชาชน มีส่วนร่วมด้วย จึงจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด

พรรคการเมืองประสานเสียง สร้างหลักประกันสุขภาพคนไทยถ้วนหน้า ยั่งยืน


ด้าน "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงทัศนะว่า ในโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาททุกโรคยุคใหม่ ก็คือ 30 บาทสุขภาพดีถ้วนหน้า All for Health โดยมีหลักการว่าต้องปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพ โดยยังเอาคนเป็นศูนย์กลางอยู่ แต่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประชาชนก็ต้องดี คือ health care ซึ่งจะส่งผลให้ การบริหารจัดการงบประมาณมีคุณภาพด้วย โดยจะมุ่งเน้นในการสร้างคุณค่าให้เกิดกับประชาชน และการต้องปรับปรุงการบริหารการจัดการโดยกระจายอำนาจลงไปในระดับเขตระดับโรงพยาบาลมีโอกาสทำงานวางแผนร่วมกัน แล้วบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันช่วยกันลดโรคที่เกิดขึ้นในเขตของตน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พรรคก็ยังมีนโยบายที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเหมือนกันเพราะสังคมโลกเปลี่ยนไปแล้ว โดยให้การแพทย์ในยุคนี้สามารถที่จะใช้ได้ทั้ง Big Data การใช้ AI และ mobile กับ Robot ต่างๆ ก็จะลดต้นทุนแล้วยังได้เพิ่มประสิทธิภาพทำให้การเชื่อมโยงของโรงพยาบาลใหญ่ไปที่โรงพยาบาลเล็กได้ง่ายและสะดวกขึ้น เดี๋ยวนี้ต้องแชร์ข้อมูลร่วมกัน เรื่องประโยชน์ในการแชร์ข้อมูลร่วมกันคือ ประชาชนได้ประโยชน์เช่นเมื่อเกิดอุบัติเหตุกดข้อมูลก็ทราบว่าผู้ประสบเหตุนั้นมีโรคประจำตัวหรือโรคอะไรที่รักษาอยู่ด้วยบ้าง เราจะทำให้เกิด Thailand Good Doctor โดยทุกสิ่งที่ทำจากมุ่งไปที่ประชาชน และต้องได้ก่อนป่วยคือต้องมีการแก้ไขให้คนไม่เจ็บป่วยก่อนที่จะป่วย

พรรคการเมืองประสานเสียง สร้างหลักประกันสุขภาพคนไทยถ้วนหน้า ยั่งยืน



ขณะที่ "นายสุวิทย์ เมษินทรีย์" รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐ มองเห็นคือการลงทุนเรื่องสุขภาพ จะไม่เป็นเรื่องของการเมืิอง ซึ่งจะต้องทำให้ต่อเนื่อง โดยเรื่องของหลักประกันสุขภาพในอนาคตต้องไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักคิตตี้สำคัญคือจะทำอย่างไรให้มาสู่ Good Health นั่นคือเรื่องของการส่งเสริม-ป้องกัน-รักษา-คุ้มครอง  โดย 4 ประเด็นท้าทายที่เป็นโจทย์ให้กับพรรคพลังประชารัฐคือ 1.ประชาชนได้รับสิทธ์ทั่วหน้าแล้วหรือยัง โดยใน 3 กองทุนที่พูดถึงกันก็รองรับได้ถึง 99% แต่เรื่องที่จะมีปัญหาต้องแก้บ้างก็คือเรื่องการใช้เลข 13 หลักอย่างที่มีการเสนอกันในวันนี้ 2.เมื่อได้รับสิทธิ์แล้วได้เข้าถึงสิทธิ์อย่างแท้จริงหรือไม่ เช่น เรื่องทันตกรรม 3.เมื่อเข้าถึงสิทธิ์แล้วได้รับบริการอย่างดีเพียงใด 4. บริการที่ให้ไปแล้วมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ส่วนนี้คือเรื่องของงบประมาณ ว่าภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเราจะทำอย่างไร

โดยพรรคประชารัฐจะนำโจทย์ทั้ง 4 ข้อมาแปลงเป็นนโยบายใน Concept ที่ว่า ปรับเปลี่ยน คือเรื่องกลไกเพื่อตอบโจทย์ความเท่าเทียมและยั่งยืน - เชื่อมโยง คือการครอบคลุมทุกระดับทุกพื้นที่ - ยกระดับ คือ ทำให้มั่นใจว่าปนะสิทธิภาพและคุณภาพนั้นได้มาตรฐาน - ขับเคลื่อน คือ หลักประกันสุขภาพที่ดีต้องทำให้มีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย โดยเรื่องของการเป็นรัตติกาลนั้นก็ถือเป็นเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนก็จะหาทางที่จะจัดระเบียบให้ 3 กองทุนเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล มากกว่านี้

ด้าน "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็มองว่า เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งอาจจะต้องปรับแก้ให้สิทธิบัตรทองโตเร็วขึ้น ส่วนสิทธิข้าราชการโตอัตราน้อยลง แล้วเมื่ออัตราใกล้จะไม่รู้สึกมากว่าสิทธิน้อยลงแล้วความเป็นไปได้ในการรวมกองทุนอาจทำได้ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องหลักประกันสุขภาพพรรคอนาคตใหม่ก็เสนอไปแล้วในวันประกาศนโยบายเดือนที่ผ่านมา

logoline