svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ท่องเที่ยว

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

21 ธันวาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่เลขที่ ๓ ถนนท่ากว๊าน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ชาวบ้านเรียกว่า วัดสูง เพราะตั้งอยู่ในที่ราบสูงทั้งเจดีย์และพระอุโบสถยังตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูงอีก ดังนั้นจึงทำให้วัดนี้สูงสง่างาม

ประตูทางเข้า เป็นซุ้มประตูไม้แกะสลักใช้แป้นเก็จเป็นแผ่นปูทำหลังคา กำแพงก่ออิฐทำเหมือนกำแพงเมืองเก่าไม่มีการฉาบปูน สีอิฐไหม้ทำให้นึกถึงกำแพงโบราณ เข้าไปด้านหน้าประตูจะต้องขึ้นบันไดสองชั้นเข้าไปสู่พระอุโบสถ หน้าบันเป็นลายไทยปูนปั้นติดกระจกพื้นสีเขียวทำให้แปลกตาไปอีกแบบหนึ่งใบระกามีชั้นเดียวแต่มีมุขซ้อนกันสามชั้น


ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ


ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงมากในล้านนา คือพระเจ้าล้านตื้อหรือพระเจ้าแสนแซ่ พระเจ้าล้านตื้อเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นจากการคำนวณน้ำหนักของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า มีน้ำหนักเป็นล้าน ๆๆ ซึ่งคำว่า ตื้อ เป็นจำนวนนับทางล้านนาหรือทางเหนือ เช่น หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ และ ตื้อ ส่วนที่เรียกพระประธานองค์นี้ว่า พระเจ้าแสนแซ่ เพราะการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีสลัก ชาวเหนือเรียกว่า แซ่ เป็นตัวประสานเชื่อมกัน จึงเรียกว่า พระเจ้าแสนแซ่


ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ


นอกจากพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในล้านนาที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดศรีอุโมงค์คำแห่งนี้ก็ยังพบพระพุทธรูปหินทรายโบราณอีกมากมายที่ได้เก็บรักษาลงรักปิดทองไว้ โดยเฉพาะพระพุทธรูปพระเจ้าแข้งคม แข้ง คือ มีหน้าแข้งเป็นเหลี่ยม ซึ่งพระพุทธรูปแบบนี้ในเมืองพะเยามีไม่มากนัก และที่มีชื่อเสียงคล้ายกับพระเจ้าแข้งคมเมืองพะเยา คือพระเจ้าแข้งคมวัดศรีเกิดเชียงใหม่นั่นก็แสดงว่าพระเจ้าแข้งคมวัดศรีเกิดกับพระเจ้าแข้งคมวัดศรีอุโมงค์คำคงมีความเกี่ยวพันกันทาง ด้านศิลปะพอสมควร ซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไป


ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ


หลังพระอุโบสถก็มีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณเกือบ ๓๐ เมตร เป็นเจดีย์ศิลปะล้านนาอีกสมัยหนึ่งเรียกว่าเจดีย์หน้าไม้สิบสอง มีซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง เพราะเคยถูกฟ้าผ่าหักโค่น สมัยหนึ่งมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ ส่วนล่างของฐานพระอุโบสถและเจดีย์ ยังมีวิหารเล็กๆ กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ สององค์ องค์แรก คือ พระพุทธรูปหินทรายพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปองค์นี้เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านประสงค์สิ่งใด เมื่อมาบูชาและอธิษฐานจิตมักจะได้สมปรารถนา


ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ


พระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์ก็คือ พระพุทธรูปหินทรายกว๊านพระเยา พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะที่งดงามชาวบ้านขุดพบได้ที่เจดีย์เก่ากลางกว๊านพะเยา หรือชาวบ้านเรียกกันว่า สันธาตุ ซึ่งในปีที่ค้นพบเป็นปีที่น้ำกว๊านพะเยาแห้งมาก ขนาดที่เดินข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ เมื่อขุดมาได้แล้วก็นำประดิษฐานไว้ที่วัดสูงหรือวัดศรีอุโมงค์คำวัดศรีอุโมงค์คำ เชื่อว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๔

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

ศุกร์ (สุข) ละวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ

logoline