svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เกษตรฯ ชงครม.เคาะ 2 หมื่นล้าน แก้'ยาง'ราคาร่วง

15 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช ระบุ จากการหารือกับผู้ส่งออกยางพารา 5 ราย คือ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี บริษัท วงศ์บัณฑิต บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยจะกำหนดมาตรการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 20 พ.ย.นี้

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.มาตรการเพื่อเสริมความเข้มแข็งชาวสวนยางและพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย หรือกยท. ทั้งเจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง 1.4 แสนครัวเรือน โดย จะเสนอครม.ขอใช้งบกลางที่เหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุน ในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการอุดหนุนในปี 60 ที่กำนดไว้ 15 ไร่ ไร่ละ 1,500บาท


และ 2.มอบหมายให้กยท. ประสานกับภาคเอกชน สถาบันเกษตรกรให้ตั้งจุดรับซื้อยาง 3 ชนิดทั่วประเทศ คือยางก้อนถ้วย น้ำยางสด และยางแผ่นดิบ กรณีที่ราคาต่ำกว่าที่กำหนดคือ ยางก้อนถ้วย ชนิดยางแห้ง100 % กิโลกรัมละ 35 บาท น้ำยางสด กิโลกรัมละ 37 บาท และยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 40 บาท


โดยให้กยท. ชดเชยส่วนต่าง โดยใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา คาดว่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2-3 บาท ในทุกจุดรับซื้อจะมีเจ้าหน้าที่กยท.ระดับจังหวัดและอำเภอ เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายทุกครั้ง กรณีนี้จะใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท หากเงินในกองทุนไม่เพียงพอ ก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม หากราคายางสูงกว่าที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปชดเชย


ส่วนการมาตรการใช้ยางในประเทศนั้นเตรียมเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบแนวคิดการผลิตอุปกรณ์เครื่องนอนให้แก่หน่วยราชการ ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความต้องการใช้อุปกรณ์ทั้งหมด และแจ้งข้อมูลกับกระทรวงฯ ภายในวัน 16 พ.ย. นี้ หากผ่านความเห็นชอบ กยท.จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการรับซื้อน้ำยางกับสถาบันเกษตรกรเพื่อนำมาผลิตอุปกรณ์การนอนตามความต้องการ


ส่วนการใช้ยางพาราก่อสร้างถนนซึ่งเป็นโครงการของคมนาคม พบว่ามีปัญหาในเรื่องของราคาการสร้าง เมื่อเทียบดูจะพบว่าถนนที่ทำจากยางพารามีราคาสูงกว่าการทำถนนโดยใช้ถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตครึ่งหนึ่งแต่ถ้าดูในแง่ความคงทน ถนนยางพารามีอายุใช้งานยาวนานถึง 7-8 ปี แตกต่างจากถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตซึ่งมีอายุการใช้งาน 5 ปีดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ กำลังดูในทางกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าถ้าให้หน่วยงานราชการเหล่านั้นมาซื้อจะผิดว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างไหม เพราะถนนยางพาราแพงกว่า


ที่ผ่านมากยท.เคยซื้อยางมาเก็บไว้ในปี 56-57 ประมาณ 1 แสนตัน เสียค่าเก็บโกดังปีละประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งเสียเงินไปโดยไม่ได้ประโยชน์ จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลนี้ไม่สามารถนำเงินไปซื้อยางพารามาเก็บไว้เฉยๆ ได้ 


ส่วนมาตรการระยะกลาง ได้เชิญบริษัทผู้ผลิตยางล้อ 7 บริษัทให้เข้าตั้งโรงงานในประเทศ กระทรวงเกษตรฯพร้อมจะหารือเพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาไทยผลิตยางพาราได้ 4.5 ล้านตัน แบ่งเป็นใช้ใช้ในประเทศ 5 แสนตัน และส่งออก 4 ล้านตัน แต่ทั้งนี้เกษตรกรต้องเข้าใจว่าปัจุบันกำลังซื้อของหลายประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การกีดกันทางการค้า ทำให้การส่งออกมีปัญหา เกิดการกดราคายางพาราในประเทศ


ด้านรักษาการ ผู้ว่าการ กยท. เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ระบุ การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วม 8 กระทรวง กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม


โดยปี 2561 ใช้งบประมาณดำเนินการไปแล้วกว่า 11,996 ล้านบาท เป็นน้ำยางข้น 8,802.40 ตัน ยางแห้ง 785.85 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำไปสร้างหรือปรับปรุงถนน อยู่ระหว่างดำเนินการ และจัดซื้อจัดจ้างอีกกว่า 12,912 ล้านบาท เป็นน้ำยางข้น 37,823.78 ตัน 


สำหรับการซื้อยางตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐจากนี้ จะดำเนินการผ่าน กยท. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมความต้องการใช้ยาง และเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อยางผ่านสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.

logoline