svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พม. จับมือ แรงงาน จ้างงานคนพิการ กระตุ้นเศรษฐกิจป้องกันทุจริต

15 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พม. แถลงความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการจ้างงานคนพิการ ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนในโครงการของ กคช. ไตรมาสที่ 4 และโครงการรวมพลังแกนนำเด็กและเยาวชนมุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชนป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น

วันนี้ (15 พ.ย. 61) เวลา 12.30 น. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ รองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในประเด็นดังนี้ 1) การหารือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับความร่วมมือในการจ้างงานคนพิการ โดยนางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ 3) โครงการรวมพลังแกนนำเด็กและเยาวชน มุ่งสู่ การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชนป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น โดย นางเทพวัลย์ ภรณวลัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเยาวชนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556  มุ่งเน้นให้เกิดการขจัดการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความพิการ โดยมาตรา 33 กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการในอัตราส่วน 100 ต่อ 1 (สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คน ขึ้นไป ต้องจ้างคนพิการ 1 คน) มาตรา 35 การให้สัมปทานแก่คนพิการเพื่อประกอบอาชีพ และมาตรา 34 การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำหรับปีงบประมาณ 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) ได้มีการหารือและขับเคลื่อนงานร่วมกันตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 กระทรวง พม. และกระทรวง รง. ได้มีการประชุมหารือทบทวนแนวทางการปฏิบัติการจ้างงานคนพิการ โดยมีข้อสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดแนวทางปฏิบัติและบูรณาการการดำเนินงาน ระหว่างกระทรวงแรงงาน ตาม มาตรา 33 และ 35 และกระทรวง พม. ตามมาตรา 34 พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจ้างงานคนพิการ นอกจากนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนพิการ องค์กรคนพิการ และสถานประกอบการได้ทราบอย่างทั่วถึงในวงกว้างต่อไป
2. กำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับ การร้องทุกข์ ร้องเรียน การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33  34 และ 35 ให้มีความชัดเจน เพื่อดำเนินการได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม ถูกต้อง และรวดเร็ว หากกรณีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด จะดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด

3. การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกลางของการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างสองกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ มีการกำหนดจัดประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ 




กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ภายใต้การดำเนินโครงการ "ดัชนีเศรษฐกิจชุมชน(CEI :Community Economic Index)" เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. และเพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับชุมชนอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม 2561 ทาง กคช. มีการติดตามประเมินผลข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่อยู่อาศัยของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. และชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ ซึ่งได้สำรวจตัวอย่างครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบว่า ผลการประเมินดัชนีรวมทั้ง 3 ด้าน มีค่าดัชนีเท่ากับ 56.8 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและสูงกว่าดัชนีรวมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่า 40.6 (ค่ากลาง =50)ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. มีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการอยู่อาศัยมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่สูงกว่าค่ากลางหรือค่ามาตรฐาน ในขณะที่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ มีค่าต่ำกว่าค่ากลาง โดยสรุปรายละเอียด ดังนี้ 1) ดัชนีด้านเศรษฐกิจ ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. มีค่าดัชนี ด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 54.2 สูงกว่าครัวเรือนที่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนี 38.1 เนื่องจากครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในโครงการของ กคช. มีการเติบโตและมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจสูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อย



ซึ่งสะท้อนได้จากการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และครัวเรือนมีการออมทรัพย์ 2) ดัชนีด้านสังคม ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. มีค่าดัชนี 54.3 สูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.9 เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของ กคช. มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการทำกิจกรรมเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อความสามัคคี และชุมชนสามารถพึ่งพากันได้ และ 3) ดัชนีด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ครัวเรือนที่อยู่ในโครงการของ กคช. มีค่าสูงถึง 62.0 ในขณะที่ครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีค่าเพียง 38.9 เนื่องจากครัวเรือนในโครงการ ของ กคช. ส่วนใหญ่มีการดูแลรักษาสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในโครงการอย่างต่อเนื่อง



ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มของดัชนีทางด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนโครงการของ กคช. กับดัชนีทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอื่นๆ พบว่า ไตรมาสที่ 4 (เดือนตุลาคม 2561) ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม 2561) จาก 54.0 เป็น 54.2 ซึ่งมีทิศทางและแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค (CCI) และดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (GSI) เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐทั้งในเรื่องการสร้างโอกาสทางอาชีพเพิ่มรายได้ ด้วยการเปิดตลาดประชารัฐภายในชุมชน และมีการลดค่าครองชีพราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงสินค้าจำเป็นภายในครัวเรือนได้ จึงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจกลุ่มรายได้น้อย ระดับชุมชน และระดับฐานรากปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4


พม. จับมือ แรงงาน จ้างงานคนพิการ กระตุ้นเศรษฐกิจป้องกันทุจริต



กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ดำเนินโครงการ "รวมพลังแกนนำเด็กและเยาวชนมุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชนป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องจิตอาสา ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการสร้างจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และเพื่อสร้างแกนนำจิตอาสาพัฒนาชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด อำเภอ และเขต รวมทั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน  


ซึ่งโครงการดังกล่าวกำหนด จัดขึ้นระหว่างวัน 21 - 24 พ.ย. 2561 ณ โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ กรุงเทพมหานคร  รวมทั้งรัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล โดยมีกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ อาทิ 
1) การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน" และ หัวข้อ "การขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน มุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชน"
2) กิจกรรม"สิทธิเด็กกับบทบาทสภาเด็กและเยาวชน"
3) กิจกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
4) การผลิตสื่อสร้างสรรค์ และเทคนิคช่วยการผลิตที่มีคุณภาพ



สำหรับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น. ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนระดับภาค 4 ภาค มีการนำเสนอปัญหา อุปสรรค แนวทางและข้อเสนอการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม                     พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ณ รัฐสภา และเวลา 13.00 น. ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน และมติสมัชชาเด็กและเยาวชนระดับภาค ประจำปี 2561 พร้อมทั้งมอบรายงานประจำปีของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมคู่มือการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนแก่นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

logoline