svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"ทีนิวส์" แจงหลังเข้าไปช่วย​ "เนชั่น"

10 ตุลาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตามที่มีอดีตผู้บริหารเนชั่นฯคนหนึ่ง ได้โพสต์บนสื่อโซเซียล กล่าวหาและทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะว่าสำนักข่าวทีนิวส์กำลังเข้าไปหาประโยชน์จากสื่อออนไลน์และเพจของเครือเนชั่นนั้น


ดร.เวทิน ชาติกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และ บรรณาธิการอำนวยการของทีนิวส์ ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า "เรื่องของอดีตผู้บริหารเนชั่นฯจะว่าอย่างไร ก็ให้มาดูตามข้อเท็จจริง เพราะถ้าใครจะอ้างตัวเป็นสื่อมวลชนอาชีพก็ต้องนำเสนอข้อมูล ตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความรู้สึก ความเห็น อคติ โดยละเลยข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ..."

1. ทีนิวส์ไม่มีความจำเป็นต้องไปหาประโยชน์อะไรจากเนชั่น เพราะทีนิวส์มีกำไร แต่เนชั่นขาดทุน
ดูจากตัวเลขผลประกอบการของทีนิวส์อยู่ในทิศทางที่มีกำไร
ปี 2558 ทีนิวส์ ขาดทุน 0.93 ล้านปี 2559 ทีนิวส์ ขาดทุน 10.91 ล้านปี 2560 ทีนิวส์มี กำไร 11.54 ล้าน(ขณะทีปี 2561 ที่ไตรมาส 3 ทีนิวส์มีกำไร 5 ล้าน ประมาณตัวเลขกำไรสิ้นปี 15.5 ล้าน)
ขณะที่ผลประกอบการของเนชั่น (NBC) ขาดทุนมาสะสมมากว่า 1,000 ล้าน โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ระบุ
ปี 2558 เนชั่น (NBC) ขาดทุน 20 ล้านปี 2559 เนชั่น (NBC) ขาดทุน 275 ล้านปี 2560 เนชั่น (NBC) ขาดทุน 915 ล้าน(ซึ่งตัวเลขของไตรมาส 2 ปี 2561 หลังผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปบริหาร เนชั่นมีผลประกอบการดีขึ้นเหลือขาดทุนเพียง 68 ล้าน) (ดูตัวเลขประกอบการเนชั่นประกอบ)

"ทีนิวส์" แจงหลังเข้าไปช่วย​ "เนชั่น"


(ผลประกอบการเนชั่น) ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th

แทนที่จะมากลัวว่าใครจะเข้าไปหาประโยชน์จากเนชั่น คำถามที่ควรจะถามก็คือ ผู้บริหารชุดเก่าฯบริหารกันอย่างไร ผลประกอบการถึงขาดทุนอย่างมโหฬารขนาดนั้น รวมถึงข้อเท็จจริงว่าทำไมถึงลาออก? เหมือนทิ้งองค์กรและพนักงานให้อยู่กับภาวะขาดทุนและความเสี่ยงที่จะถูกปลด ในภาวะเช่นนี้ภาระของผู้บริหาร(ใหม่) ก็คือทำให้องค์กรอยู่รอด พนักงานไม่ถูกปลดก็หนักหนาสาหัสแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีใครจะเข้าไปหาประโยชน์แต่อย่างใด


2. สื่อโซเซียลของเนชั่นกำลังวิกฤติ เพราะถูกเฟซบุ๊กระงับการสร้างรายได้เพราะเนชั่นนำเสนอข่าวละเมิดมาตรฐานของเฟซบุ๊ก
เดิมทีนั้น เพจของเนชั่น (เฉพาะในกลุ่ม NBC) มีแฟนเพจรวมอยู๋ที่ 6.3 ล้านคน แต่สามารถทำรายได้ผ่านบทความทันใจ (instant article) ของเฟซบุ๊ก โดยผ่านเว็บไซต์ "เนชั่นทีวี" โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณวันละ 200 เหรียญ/วัน (ประมาณวันละ 6,000 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพจที่มีแฟนเพจหลักล้านขึ้นไป

ต่อมา ทีนิวส์ได้รับการติดต่อให้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาและช่วยปรับระบบบริหารจัดการเพจของกลุ่มเนชั่นเพื่อให้เนชั่นมีโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้น โดยที่ทางเนชั่นนำเสนอข่าวหลักตามปกติ ซึ่งทำให้เพจในกลุ่มเนชั่นสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 เหรียญ/วัน (ประมาณ 15,000 บาท)
แต่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ระงับการทำรายได้ผ่านบทความทันใจของเว็บไซต์ "เนชั่นทีวี" (instant article) ของเนชั่นเนื่องจากการนำเสนอข่าวของเนชั่นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของการทำรายได้ของเฟซบุ๊ก (ดูภาพ) ผลก็คือทำให้รายได้จากบทความทันใจของเนชั่นหายไปเกือบหมดเหลือเพียง 50 เหรียญ (ประมาณ 1,500 บาท)


"ทีนิวส์" แจงหลังเข้าไปช่วย​ "เนชั่น"


(เฟซบุ๊กระงับบทความทันใจของเนชั่น)

ซึ่งถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ เนชั่นจะสูญเสียรายได้ในส่วนนี้จากปีละ 5,400,000 บาท เหลือเพียง 540,000 บาท คือสูญเสียรายได้คือ 4,800,000 บาทเป็นอย่างต่ำ
คำถามคือ ถ้าคุณเป็นผู้บริหารที่เห็นแก่องค์กรคุณจะทำอย่างไร?


3. เพจข่าวไม่ใช่เพจข่าวปลอม แต่เป็นเพจที่ทีนิวส์ยินยอมให้ทางเนชั่นมาใช้ชั่วคราวเพื่อแก้วิกฤติ
เพื่อแก้ปัญหานี้เป็นการเฉพาะหน้าทางทีนิวส์ยินยอมให้ทีมเนชั่นเข้ามาใช้เว็บไซต์ของทีนิวส์เพื่อนำเสนอข่าวหลัก "เป็นการชั่วคราว" เพื่อให้การทำรายได้ในส่วนของบทความทันใจไม่หายไป จนกว่าจะหาเว็บไซต์ใหม่มาทดแทนได้ โดยที่ทางเนชั่นตกลงให้ทีนิวส์ได้ทำข่าวเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งเพื่อให้เกิดการบริหารพื้นที่สื่อบนเพจเนชั่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด





4. เมื่อทีนิวส์เข้าไปบริหารจัดการ เนชั่นมีรายได้เพิ่มขึ้น และ เนชั่นเป็นผู้ได้ประโยชน์มากกว่า ไม่ใช่ทีนิวส์
ขณะนี้ทางเนชั่นได้ทำการยื่นอุทธรณ์ต่อเฟซบุ๊กเพื่อให้เว็บไซต์ "เนชั่นทีวี" กลับมาสร้างรายได้จากบทความทันใจ (ia) ได้อีกครั้ง ซึ่งถ้าผ่านการอนุมัติของเฟซบุ๊กแล้ว ทางเนชั่นก็จะกลับไปใช้เว็บไซต์ของเนชั่นดังเดิม
ซึ่งปรากฏว่าการร่วมกันทำงานนี้เพียงสองสามวันทำให้การทำรายได้จากบทความทันใจ (ia) จากเพจของเนชั่นสามารถกลับมามีรายได้ที่ 1,000 เหรียญ/วัน (ประมาณ 30,000 บาท/วัน) ซึ่งถ้าสามารถทำได้ในอัตรานี้ เนชั่นจะมีรายได้ 10,800,000 บาท ซึ่งจะเปลี่ยนจากการขาดรายได้มาเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 5,400,000 บาทเป็นอย่างน้อย (ดูตารางประกอบ)


"ทีนิวส์" แจงหลังเข้าไปช่วย​ "เนชั่น"



(การทำรายได้ของกลุ่มเพจเนชั่น หลังจากทีนิวส์ไปช่วยบริหาร)


ส่วนรายได้ที่เกิดจากการผลิตคอนเทนต์ร่วมกันนั้น เบื้องต้นนับเป็นรายได้ของเนชั่น ไม่ใช่รายได้ของทีนิวส์ซึ่งมีเพียงการหักค่าใช้จ่ายและการแบ่งเปอร์เซ็นต์เมื่อเกิดกำไรแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นการคิดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมตามข้อเท็จจริงที่ทีนิวส์ได้ลงทุนไปกับการศึกษาและพัฒนา know-how ของระบบการบริหารจัดการข่าวของโซเซียลมีเดียมาเป็นเวลากว่าสองปี มีต้นทุนคน ของ ค่าใช้จ่ายของระบบตามจริง ไม่ใช่การเข้ามาเพื่อค้ากำไรจากเนชั่น

5. ทีนิวส์ก็เหมือนสำนักข่าวอื่นๆคือเผชิญผลพวงของ disruption อันเนื่องมาจากการเติบโตของสื่อโซเซียลแต่การปรับตัวเข้ามาทำข่าวบนสื่อออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการวิเคราะห์และพัฒนาการบริหารจัดการสื่อบนโซเซียลมีเดียได้แบบ realtime ทำให้ทีนิวส์ สามารถพลิกสถานการณ์ที่ขาดทุนมาเป็นกำไร (ปี 60 กำไร 11.54 ล้าน, ปี 61 กำไร 15.5 ล้าน) ท่ามกลางการถดถอยของธุรกิจสื่อโดยภาพรวม

ทั้งนี้แม้ความผันผวนในการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กจะมีสูงและสร้างความไม่แน่นอนแต่ ในเดือน กันยายน 2561 ข่าวออนไลน์ของทีนิวส์ก็มีจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของ สำนักข่าวออนไลน์ คือมีการเข้าชม 3.75 ล้านครั้ง (ตามภาพด้านล่าง) และการบริหารจัดการสื่อออนไลน์แบบ realtime รวมถึงการตอบแทนผู้สื่อข่าวได้ตามจริงตามการเข้าชม/อ่านข่าวที่ผู้สื่อข่าวคนนั้นทำได้จริง


"ทีนิวส์" แจงหลังเข้าไปช่วย​ "เนชั่น"


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก money2know.com


ทำให้ผู้สื่อข่าวของทีนิวส์สามารถที่จะมีรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 1 แสนบาท โดย 90% ของรายได้ที่ได้มาจากค่าตอบแทนพิเศษของข่าวที่ทำออกไปและประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่มีสำนักข่าวไหนให้ผู้สื่อข่าวได้แบบนี้ อีก ทั้งสำนักข่าวอื่นมีแผนที่จะลดคนหรือทยอยเอาคนทำงานออก

"ใครจะครหาว่าลอกข่าวหรืออะไรก็ตาม อยากจะพูดอะไรก็พูดไป แต่ทีนิวส์กำลังยกเครื่องเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในโลกใหม่คือโซเซียลมีเดีย ใครที่ไม่ปรับตัว ยังมีพฤติกรรมเดิมๆที่เป็นปัญหากับองค์กร ก็ทยอยไล่ออก เพราะค่าตอบแทนที่สูงแต่ระเบียบใหม่ก็เข้มงวดเหมือนกัน

ส่วนใครจะเป็นตัวจริง ตัวปลอม ให้ผลงาน ความเติบโตขององค์กร การอยู่ดีมีสุขของผู้ร่วมทำงาน ความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ เป็นข้อพิสูจน์ดีกว่า อย่ามาสร้างค่านิยม คำคม คำขวัญของสื่อ บ้าๆบอๆ อวดสังคม แต่สุดท้าย องค์กรเจ๊ง พนักงานจะถูกปลดเพราะขาดทุน ไม่มีเงินจ้าง มันก็เหมือนกับอวดอ้างเป็นสื่ออาชีพแต่กลับเอา อคติ เอาความรู้สึกมารายงานแทนข้อเท็จจริง" ดร.เวทิน กล่าว

ที่มา : https://www.tnews.co.th/contents/bg/480559

logoline