svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

กัญชาและป่าช้าเหงา

27 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเอ่ยคำว่า กัญชา สังคมมักตีความไปในด้านลบทันที ด้วยเหตุที่ ไม้ล้มลุกชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นพืชเสพติดผิดกฎหมายมานมนาน... เมื่อมีความพยายามจะให้กัญชาหลุดพ้นจากกฎหมายยาเสพติด ที่แก้ไขปรับปรุงล่าสุดไว้เมื่อปี 2522 เพราะเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ (ทางยา) ที่มากกว่าโทษ

จึงกลายเป็น วิวาทะทางสังคม อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวออกมาว่า จะใช้พื้นที่ทหารที่สกลนคร 5 พันไร่ปลูกกัญชาเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตยา แต่คณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามกวาดจับยาเพสติดก็เสียงแข็งว่า กัญชาในไทยไปได้ไกลก็แค่ในแล็บวิทยาศาสตร์ที่ขออนุญาตกันไว้เท่านั้น


กัญชา กลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งเมื่อมีโพสต์ของนักวิชาการใหญ่สนับสนุนการทำให้กัญชาออกมาจากกฎหมายยาเสพติด ตามด้วยข่าวว่า หลายประเทศโดยเฉพาะที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงปราบปรามกัญชาก็หมุนกลับ 360 องศา อนุญาตให้พลเมืองบางรัฐเสพกัญชาแบบสันทนาการได้ ล่าสุดไปไกลถึงขนาดจะมีเครื่องดื่มผสมรสกัญชากันเลยทีเดียว



ฟังความจากฝ่ายวิชาการที่ได้ทดลองผ่านห้องปฏิบัติการหลายแห่งล้วนสรุปออกมาเหมือนกันว่า กัญชามีคุณประโยชน์สำหรับรักษาโรคภัย โดยเฉพาะโรคร้ายเรื้อรังอย่างมะเร็งอันเป็นมฤตยูที่คนทั้งโลกหวาดผวา และเฝ้ารอความสำเร็จจากวิทยาศาสตร์การแพทย์มาช้านาน

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยที่เอื้ออำนวยกับการเจริญงอกงามดีของกัญชา ถ้าหากหลุดพ้นจากบ่วงกฎหมาย ก็จินตนาการกันว่า มันจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อย่างแน่นอน

แต่ถึงอย่างไร เรื่องนี้ฟังความให้รอบด้านก็น่าจะดี โดยเฉพาะ "ความจริง" ที่ไม่ควรมองข้ามไปได้ก็คือ การ "เข้าถึง" และการใช้ประโยชน์อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะบรรดาพืชทั้งหลายที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยเพียงแค่มือหยิบ

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่า ผู้สูงอายุท่านหนึ่ง หวุดหวิดจะหมดลมหายใจลง เพราะ "ซด" สมุนไพร หนานเฉาเหว่ย หรือในชื่อไทยน่าขนลุกว่า "ป่าช้าเหงา" (วิเศษมาก กินแล้วอายุวัฒนะ ถึงขั้นป่าช้าเหงาไปเลย เพราะไม่มีคนตายอีกแล้ว ใช่หรือเปล่า?)

ใบพืชยืนต้นขนาดกลางชนิดนี้ ตามตำราจีนบอกเอาไว้ว่า ช่วยลดน้ำตาลในเลือด โรคเก๊าต์ ความดันโลหิตสูง

แต่คุณลุงท่านนั้น เอาไปต้มซดมากไปพอสมควร คงอยากให้เบาหวานหายเร็วๆ ระดับน้ำตาลในเลือด จึงลดลงแบบฮวบฮาบ ผลที่ตามมาคือ เกิดอาการช็อก และต้องหามเข้าโรงพยาบาล

คนไทยอีกนับแสนนับล้านคน ก็คงใช้สมุนไพรแบบลุงท่านนี้อยู่เช่นกัน อย่างน้อยๆ ก็คนป่วยกลุ่มที่ติดตามโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด และคิดหา "ทางเลือก"

ข้อมูลของสมุนไพร หนานเฉาเหว่ย ในโซเชียลเขียนในตอนท้ายๆ ว่า ไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่ควบคุมความดันควบคุมน้ำตาลได้ดีอยู่แล้ว หรือเสี่ยงน้ำตาลต่ำ ความดันต่ำ หญิงมีครรภ์ หรือในรายที่ตับไตผิดปกติ ขั้นรุนแรง

จริงๆ แล้ว คนไทยคุ้นเคยกับพืชสมุนไพรมาช้านาน ตำรับยาไทย ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า รักษาโรคได้ไม่แพ้ยาฝรั่ง

แต่ทุกสูตร ก็ต้องควบคุมการใช้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ พืชสมุนไพรแทบทุกชนิด มีทั้งคุณและโทษ



และก็ด้วยความที่คนไทยรู้จักสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชใกล้ตัวนี่เอง พอมีคนบอกว่า มีสรรพคุณรักษาโรคโน่นนี่นั่น ก็เฮกันไปขุด ดึง ตัด ถอน หรือแม้แต่ขโมย มาหั่นต้มนึ่งย่างเผาตำ กินกันเองเหมือนว่า มันจะมีแต่คุณประโยชน์ ไม่มีโทษ

อยากหายเร็วก็กินเข้าไปมากๆ ประมาณนั้น

ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องของการ "เข้าถึง" ที่เห็นกันชัดๆ ว่า ง่ายดาย ราคาถูก สะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะในสังคมยุคออนไลน์ที่บ่อยครั้ง กูเกิล กลายเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ หรือก็คืออากู๋ร้านขายยาตัวจริงเสียงจริงไปแล้ว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเข้าถึง โดยขาดคำแนะนำอันเหมาะสม โดดข้ามขั้นตอน "การแพทย์แผนไทย" ซึ่งค่อนข้างจะเป็นทางการ และอยู่ไกลตัวมากๆ อย่างเช่น สำนักงานใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลที่ปราจีนบุรี

อีกอย่างก็คือ นิสัยคนไทย ซึ่งอย่าว่าแต่ยา ที่เป็นดาบสองคมอันตรายถึงชีวิต(ถ้าใช้ผิดๆ)เลย สินค้าสารพัดชนิดที่มีใบกำกับการใช้ หรือคู่มือแนบมาในกล่อง ก็มักจะไม่ค่อยได้อ่านกัน รถใหม่ป้ายแดง ยังมีคนใช้กันผิดๆ ถูกๆ เพราะขับขี่มันด้วยความเคยชินที่จดจำสืบทอดกันมา ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าหลายสิบปี หรือให้ใกล้ตัวเข้าไปอีก ก็เชื่อว่ามีคนไทยไม่น้อยจ่ายเงินครึ่งแสนซื้อสมาร์ทโฟนมาใช้แค่โทรศัพท์ แชทไลน์ ส่งดอกไม้ ทั้งๆ ที่มันมีฟังก์ชั่นมาให้มากมายมหาศาล แต่อย่างว่า คู่มือใช้งานหนาเป็นร้อยๆ หน้า ใครจะอ่าน

ที่สังคมของเราก็กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเคร่งเรื่องปล่อยฟรีกัญชา จริงๆ แล้ว ก็เข้าใจตรงกันกันมานานพอสมควรแล้วว่า พืชตัวนี้มีคุณ(ทางยา)มากกว่าโทษ(ทางสังคม)

เมื่ออยู่ในบรรยากาศของการปะทะสังสรรค์ว่าด้วยกัญชาเช่นนี้ ก็น่าจะหยิบยกเรื่อง ภูมิปัญญา(ไทย) องค์ความรู้ และการ "เข้าถึง" มาพิจารณาเคียงขนานกันไป

จะปลดโซ่ตรวนออกจากกฎหมายวันใดก็ได้ ขอแต่ว่า ต้องเร่งสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" พี่น้องผองไทยเรา ให้รู้จักใช้ เข้าใจความสมดุลของแต่ละตำรับสมุนไพรไทยไปพร้อมกันด้วย

ส่วนเรื่องที่ว่า จะให้กัญชาไปไกลถึงระดับหันกลับไปเป็นใบไม้แห่งสุนทรียรสนั้น คงต้องเถียงกันอีกนาน

logoline