svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ผ่าขบวนการล้วงข้อมูลส่วนบุคคลฉกกันง่ายๆ ตำรวจในนครบาลมีเอี่ยว!

25 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภัยใกล้ตัวจากการขับขี่ยวดยานบนท้องถนน เมื่อรถติดก็ขับปาดกันบ้าง เฉี่ยวชนกันบ้าง หลายคนอาจไม่ทราบว่าเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นได้ในวันเคราะห์หามยามร้ายแบบนี้ อาจทำให้เรามีศัตรูได้โดยไม่รู้ตัว และศัตรูบนท้องถนนก็ตามมาเช็กบิลเราได้ถึงบ้านแบบง่ายๆ ด้วยเหมือนกัน


มีเหตุการณ์หนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เป็นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกัน ที่มาของเรื่องเกิดจากคู่กรณีขับรถยนต์อยู่บนถนน แล้วปาดหน้ากัน จนเกิดความไม่พอใจกันขึ้น แม้จะขับรถแยกกันไปแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฝ่ายหนึ่งได้บุกไปทำร้ายคู่กรณีอีกฝ่ายถึงหน้าบ้าน จนเกิดคำถามว่าฝ่ายที่บุกไปทำร้ายรู้ได้อย่างไรว่าคู่กรณีพักอยู่ที่ไหน



จากการตรวจสอบเชิงลึกจึงทราบว่า มีการนำเลขทะเบียนรถของคู่กรณีที่ขับปาดกัน ไปส่งให้ผู้รับจ้างเช็กทะเบียนรถยนต์ เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลประวัติและที่อยู่ของเจ้าของรถ



เมื่อตรวจสอบต่อไปจึงทราบว่า วิธีการเช็กประวัติ ชื่อ ที่อยู่ และประวัติส่วนตัวอื่นๆ ของเจ้าของรถนั้น ทำได้ง่ายดายมาก เพียงแค่นำเลขทะเบียนรถไปว่าจ้างให้คนที่รับเช็กประวัติ และเช็กทะเบียนรถตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ เสียค่าบริการเพียง 300 บาทเท่านั้น ก็ได้ข้อมูลแล้ว


ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านั้นน่าจะเป็นความลับ เพราะเป็น "ข้อมูลส่วนบุคคล"



"ทีมข่าว" เข้าไปสำรวจหน้าเว็บไซต์ที่ประกาศรับบริการตรวจเช็กทะเบียนรถยนต์ ตรวจเช็กประวัติบุคคล โดยเสิร์ชหาเว็บหรือเพจพวกนี้ได้ง่ายๆ จาก "อากู๋ กูเกิ้ล" แค่พิมพ์ 2-3 คำ และกดคลิกเพียงครั้งเดียว ก็จะได้พบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากที่รับตรวจสอบประวัติบุคคล และทะเบียนรถยนต์ เรียกว่าประกาศกันอย่างโจ๋งครึ่ม บางรายอ้างตัวเป็นเว็บนักสืบเอกชนก็มี



เมื่อทดลองติดต่อเพจรับตรวจสอบประวัติบุคคลและทะเบียนรถยนต์เพจหนึ่ง และใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ในการติดต่อสื่อสารเพื่อให้สามารถสนทนากันได้ง่ายขึ้น ก่อนจะทดลองว่าจ้างให้ตรวจสอบประวัติของบุคคลคนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ทางแอดมินเพจก็เสนอราคาค่าตรวจสอบเป็นเงิน 1,000 บาท เพื่อแลกกับประวัติส่วนตัว คือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่อยู่ และวันเดือนปีเกิด แต่หากอยากรู้ข้อมูลละเอียดกว่านี้ ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 1,000 บาท



"ทีมข่าว" ตัดสินใจโอนเงินไปให้แอดมินเพจตามเลขบัญชีธนาคารที่แจ้งมา เมื่อโอนเงินเสร็จสิ้น และส่งหลักฐานการโอน อีกแค่ 1 วัน แอดมินเพจก็ตอบกลับมาพร้อมกับประวัติของบุคคลที่ทีมข่าวส่งไปให้ตรวจสอบ ข้อมูลที่ได้มีลักษณะเหมือนการเข้าไปตรวจสอบทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย



นี่คือภัยใกล้ตัวของคนไทยทุกวันนี้ เพราะหากเช็กกันไม่ดี อาจจะตามตีตามทำร้ายกันผิดตัว ลุกลามบานปลายมากขึ้นไปอีก เพราะเจ้าของทะเบียนรถแต่ละคัน อาจไม่ใช่คนขับรถคันนั้้นระหว่างเกิดเหตุก็ได้ หรือถ้าเจ้าของรถไม่ได้อยู่ที่บ้านนั้น กลายเป็นญาติ พ่อแม่ ก็อาจโดนทำร้ายผิดตัวได้เหมือนกัน แล้วหากเป็นผู้หญิง จะเกิดเหตุร้ายอื่นๆ ตามมาหรือไม่ ข้อมูลอาจถูกนำไปใช้เปิดบัตรเครดิต หรือประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ก็เป็นได้



แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้มีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่สามารถเข้าไปสืบค้นได้ แต่ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลประเภทนี้



"สุชาติ ธานีรัตน์" รักษาราชการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า การขายข้อมูลทะเบียนราษฎรของบุคคล กลายเป็นช่องทางหาเงินของพวกมิจฉาชีพที่มักมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ขบวนการนี้จะมีนายหน้าคอยเปิดเพจ เปิดเว็บไซต์ รับจ้างตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล โดยไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนให้ช่วยตรวจสอบให้ มีทั้งตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ กรมการขนส่งทางบก และหน่วยอื่นๆ ราว 171 หน่วยที่มีข้อมูลเชื่อมถึงกัน



"ทีมข่าว" นำหลักฐานการล่อซื้อข้อมูลส่วนบุคคลจากขบวนการล้วงทะเบียนราษฎร พร้อมหนังสือที่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มอบให้แก่เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบว่าใครคือบุคคลที่เข้าถึงข้อมูลที่ "ทีมข่าว" ล่อซื้อเข้าไป



เมื่อเจ้าหน้าที่เช็กข้อมูลในระบบ จึงพบว่า "นักล้วง" ที่แท้เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรคนหนึ่งในสถานีตำรวจนครบาลแห่งหนึ่งย่านชานกรุงเทพฯ หลักฐานที่ทิ้งร่องรอยไว้ปรากฏชัดว่านายตำรวจคนนี้เป็นผู้เข้ารหัสตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของทีมข่าว



เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ยังตรวจสอบลึกลงไปและพบว่า ในห้วงเวลาเพียงเดือนเดียว ตำรวจคนนี้เข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎรของประชาชนมากถึง 200 ครั้ง คิดเป็นจำนวนคนที่ถูกล้วงข้อมูลมีไม่ต่ำกว่า 50 คน เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อสังเกตว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ตำรวจ 1 คนจะมีความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎรของประชาชนมากมายขนาดนี้

ระหว่างที่ "ทีมข่าว" เจาะลึกพฤติกรรมของขบวนการล้วงข้อมูลส่วนบุคคล ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ก็ได้ให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ล่อซื้อขบวนการนี้เช่นกัน แต่เปลี่ยนเว็บไซต์ในการว่าจ้าง แล้วก็พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังในการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนรถยนต์และทะเบียนราษฎรคือ ตำรวจ สน.เดียวกันนี้



"นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีผู้เสียหายกว่า 100 รายในรอบปี เข้าร้องเรียนกับกรมการปกครองว่าถูกล้วงข้อมูลส่วนบุคคล และทะเบียนราษฎรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัญหาชู้สาว โดยมีคนที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มนักสืบ และผู้ว่าจ้างตามเว็บไซต์ ตลอดจนหน้าเพจเฟซบุ๊กต่างๆ แต่ถึงที่สุดแล้วยังไม่เคยมีใครกล้าแจ้งความดำเนินคดี เพราะเห็นว่าบุคคลที่เข้าถึงข้อมูลล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น" เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ให้ข้อมูล

สุชาติ ยืนยันด้วยว่า ร้อยทั้งร้อยของขบวนการล้วงข้อมูลส่วนบุคคล ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากคนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง และยังมีหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเชื่อมโยงกันถึง 171 หน่วยงาน ซึ่งในหน่วยงานเหล่านี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐมากถึง 2 แสนคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของใครก็ได้ และมีบางคนที่ไร้จรรยาบรรณ รับจ้างขายข้อมูลเพื่อหาผลประโยชน์



"ส่วนใหญ่คนที่เป็นหน้าฉากจะเป็นคนทั่วๆ ไป เปิดเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นสื่อออนไลน์ แล้วก็ประกาศรับตรวจข้อมูลทะเบียนราษฎร รับตรวจรูปใบหน้า รับตรวจบัตรประชาชนใบขับขี่ ประกันสังคม ซึ่งก็คือข้อมูลต่างๆ ที่รัฐจัดเก็บ เป็นการหาผลประโยชน์ เขารู้ว่าส่วนราชการมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอยู่แล้ว ก็จะหาคอนเนกชั่นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลข้อมูลเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็ไปสร้างคอนเนกชั่นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะตำรวจมีอำนาจหน้าที่และช่องทางในการตรวจสอบข้อมูลได้ตามกฎหมาย" เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ระบุ



ประเด็นที่น่าตกใจของกรมการปกครองก็คือ ประชาชนตาดำๆ ไม่สามารถป้องกันปัญหานี้ได้เลย เนื่องจากเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แต่เมื่อพบการกระทำผิดแบบซึ่งหน้าเช่นนี้ กรมการปกครองจึงได้สั่งเพิกถอนสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎรของตำรวจรายนี้แล้ว พร้อมเตรียมส่งเรื่องให้แก่ต้นสังกัดสอบสวนเอาผิดต่อไป



สำหรับการลักลอบเข้าไปตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยใครก็ตามที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 17 เพราะข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรต้องถือเป็นความลับ ให้นายทะเบียนเป็นผู้เก็บรักษาและใช้เพื่อการปฏิบัติการตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความหรือตัวเลขนั้นแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือแก่สาธารณชน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทั้งปรับและจำคุก

แต่คำถามคือต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นอกรีตเหล่านี้ จะมีความจริงจังจริงใจในการเอาผิดให้เป็นเยี่ยงอย่างหรือเปล่า !?!

logoline