svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

บทเรียนคดีเก็บมะม่วง

20 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เข้าใจความรู้สึก "แวบแรก" ของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองดี ที่เห็นครูตรวจการบ้านของลูกหลานผิดตำตาอยู่บนกระดาษคำตอบ แต่ในเวลาต่อมา ก็น่าเห็นใจคุณครูท่านนั้นด้วยเช่นกัน

เพราะกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ เมื่อมันไปปรากฏบนโลกออนไลน์เข้าแล้ว เป็นใครก็ต้องรู้สึกไม่ดี เผลอๆ อาจถึงขั้นประสาทเสียไปเลยก็เคยมี

คดีที่ว่านี้ เริ่มจากมีผู้โพสต์เฟซบุ๊กภาพกระดาษคำตอบวิชาคณิตศาสตร์ ที่ครูตั้งโจทย์ว่า

"จอยเก็บมะม่วงได้ 12 ผล โจ้เก็บมะม่วงได้มากกว่าจอย 8 ผล โจ้เก็บมะม่วงได้กี่ผล ?"



เด็กนักเรียนตีโจทย์แตกว่า มันคือการผูกเรื่องให้บวกเลข เมื่อรวมกันแล้วคำตอบคือ 20

แต่ครูประถมท่านนั้น พลาดไป ตีเป็นโจทย์ลบ เมื่อเอามะม่วงของโจ้ที่มากกว่า 8 ผลไปหักออกจากมะม่วงของจอย 12 ผลจึงเหลือ 4 (ตามที่เขียนเฉลยในกระดาษคำตอบ) ซึ่งผิดถนัด

อย่างไรก็ตาม "คดีเก็บมะม่วง" ในโลกโซเชียลก็ปิดลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อทั้งคุณครูยอมรับว่าผิดพลาด และฝ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองก็ทำความเข้าใจกันได้ด้วยดี

ดังเช่นที่เจ้าของโพสต์ต้นเรื่องบอกไว้ในเวลาต่อมาว่า

"เกิดจากในช่วงเย็นก่อนกลับบ้าน คุณครูตรวจการบ้านเด็ก 30 เล่ม ด้วยความเร่งรีบและไม่ทันระมัดระวัง คุณครูคิดคำตอบเป็นเรื่องการลบ ครูเลยตรวจคำตอบเป็นการลบ ครูได้ชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบแล้วและยอมรับความผิดพลาดในครั้งนี้ และทางผู้ปกครองต้องขออภัยและขอโทษคุณครู ที่ไม่ได้มาคุยกับครูก่อนในวันนั้นเลย และคราวต่อไปจะโพสต์อะไรจะรอบคอบให้มากกว่านี้ วันนี้เราทางผู้ปกครองและคุณครูปรับความเข้าใจกันดีแล้วและจบเรื่องทุกอย่างแล้วค่ะ"

หลายๆ คนที่ติดตามเรื่องนี้ คงจะถึงโล่งอก ที่ "คดีเก็บมะม่วง" ปิดลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ดราม่าทำร้ายจิตใจกันมากจนเกินไป หลังจากที่ชาวเน็ตได้แบ่งฝ่ายแสดงความเห็นหักล้างกันสองฟากฝั่งพอประมาณ



ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ เอาเป็นว่า เป็นธรรมชาติของโลกออนไลน์ ที่ใครก็ตาม ที่มีอินเทอร์เน็ตในมือ สามารถ "นำเข้า" ภาพ วิดีโอ และข้อมูลได้โดยอิสระก็ย่อมได้

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรด้วยเช่นกันที่จะมี "ความเห็น" ตามมาเป็นพรวน เพียงแต่ว่า คอมเมนต์ที่มักเลือกถือหาง ถือข้างนั้น (ตามความเชื่อ ทัศนคติ ภูมิหลัง และรสนิยม) ควรจะต้องตรึกตรองพอสมควร หรือทางที่ดีคือ ไม่ต้องเม้นต์เสียเลย ถ้าหากกลัวว่าการหยุดยั้งคิด จะช้าเกินไป อดได้ทำอะไรที่มันรัวๆ



ว่ากันตามจริง เรื่องที่โรงเรียนกับทางบ้าน ทุกวันนี้ถูกขมวดเข้าไว้เป็นสังคมเดียวกันอย่างสนิทแน่นแฟ้นด้วยเครือข่ายออนไลน์



อาทิ เพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน ผู้อำนวยการ ครูรายวิชา และครูประจำชั้น

แล้วยังแยกย่อยในแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็น ไลน์กลุ่มผู้ปกครอง ครูรายวิชา ครูประจำชั้น

พ่อแม่ผู้ปกครองกับคุณครูจึง "เข้าถึง" กันได้ตลอดเวลาที่ออนไลน์

ขึ้นชื่อว่าครู ยังไงก็เป็นผู้ให้วิชาความรู้อยู่วันยังค่ำ ความเป็นครูในฐานะวิชาชีพจึงดำรงอยู่ตลอดเวลา เหมือนเช่นที่เราเชื่อว่า อีกหลายๆ อาชีพซึ่งให้บริการสังคม วิชาชีพของพวกเขานั้นติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลา ไม่มีวันหลับ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ ฯลฯ

มีความเป็นมืออาชีพอยู่ทุกลมหายใจ

คุณครูยินดีที่จะตอบไลน์ผู้ปกครองที่สอบถามมาเรื่องการบ้านของลูกตอน 3 ทุ่ม

คุณครูไม่รู้สึกรังเกียจอะไร ถ้าหากพ่อแม่จะลาป่วยให้ลูกในเช้าวันหนึ่งผ่านทางไลน์ห้องผู้ปกครอง

และด้วยความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ เขาหรือเธอเหล่านั้น ก็ไม่ลังเลที่จะทัดทาน เสนอแนะ หากพบเห็น แชทไลน์หรือคลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสม จากพ่อแม่ผู้ปกครองจากหลากหลายครอบครัวและปูมหลังที่แตกต่างกัน

นี่คือสังคมใหม่ระหว่างบ้านกับโรงเรียน ระหว่างครูกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่พร้อมใจกันใช้ Smart device เป็นเครื่องมือสร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์แก่กันและกัน โดยไม่มีกำแพงแห่งสถานะทางสังคมด้านอื่นมาเป็นเครื่องกีดกั้น

การเลือกช่องทางสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต จึงสำคัญยิ่ง

ในอีกด้าน ถ้าครู สื่อสารกิจกรรมการเรียนการสอนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น ผลสอบ หรือแม้แต่พฤติกรรมของเด็กผ่านสื่อสาธารณะ
นั่นย่อมไปไกลถึงขั้นละเมิดเลยทีเดียว

ทั้งกองเชียร์ และกองแช่ง พึงระลึกให้มากว่า กรณีของครู-เด็ก-พ่อแม่ผู้ปกครองนั้นละเอียดอ่อนยิ่ง ยั้งมือ ชั่งใจ กันบ้างก็น่าจะดี

logoline