svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!

11 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารถยนต์กลายเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบันไปแล้ว เนื่องจากการเดินทางด้วยรถยนต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางยอดนิยม แต่การใช้ยวดยานพาหนะเดินทางในแต่ละครั้งยังต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากด้วย เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุก "เสี้ยววินาที" ไม่เช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้


แน่นอนว่าแม้จะตั้งตัวอยู่ในความไม่ประมาท แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจากอุบัติเหตุได้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วสิ่งแรกที่ส่งผลกับทุกคน คือ อาการสติแตก ตื่นตระหนกตกใจ หากตั้งสติได้เร็วกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ย่อมมีหนทาง หรือคิดหาวิธีเอาตัวรอดได้ในที่สุด

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!


หากถอดบทเรียนจากข่าวความสูญเสียของซีอีโอสาว "น.ส.ภานุมาศ แซ่แต้" อายุ 41 ปี ที่ได้ขับรถยนต์กระบะโตโยต้า รีโว่ แบบ 4 ประตู จมน้ำเสียชีวิตในอุโมงค์ลอดทางรถไฟเข้าหมู่บ้านหรูกลางกรุงเทพฯ หรือจะเรียก "อุโมงค์มรณะ" ก็ไม่แปลก ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อไม่ให้เกิด "โศกนาฏกรรมซ้ำรอย" จะมีวิธีการจัดการและป้องกันอย่างเป็นระบบอย่างไร..?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน อธิบายว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดคือ "ระบบการแจ้งเตือน" ไม่ว่าอุโมงค์แห่งนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของเอกชนหรือภาครัฐก็ตาม ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ทั้งอุโมงค์ทางลอด และอุโมงค์กลับรถ ไม่ว่าจะอยู่ใต้สะพานหรือใต้รางรถไฟบ้านเรา มักจะมีข้อความเขียนเอาไว้แค่ "ความสูงของอุโมงค์" เพื่อป้องกันไม่ให้รถเข้าไปแล้วหลังคาติดเพดานอุโมงค์เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในขั้นตอนการขออนุมัติเพื่อก่อสร้างอุโมงค์ จะมีความซับซ้อนมากกว่าการสร้างถนนธรรมดา เนื่องจากต้องคำนึงถึงความสูง ความแข็งแรง ระบบการระบายอากาศ และการระบายน้ำ ดังนั้นจะต้องมีปั๊มน้ำ รวมไปถึงระบบไฟส่องสว่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า "ชุดมาตรฐาน" ที่ต้องมีให้ครบเมื่อต้องการก่อสร้างอุโมงค์

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!

"เมื่อมีชุดมาตรฐานแล้ว พอสร้างอุโมงค์เสร็จ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ "ระบบการบริหารจัดการ" จำเป็นต้องปฏิบัติเป็นรูทีนคือ ทำสม่ำเสมอ ตรวจเช็กความเรียบร้อยขององค์ประกอบอุโมงค์ทุกส่วน ง่ายๆ คือ ทุกคนลองนึกภาพเหมือนในลิฟต์ ที่จะต้องมีการเช็กสภาพเป็นวงรอบ มีข้อความแปะไว้ว่าลิฟต์เป็นของบริษัทอะไร แต่ละเดือนต้องตรวจอะไรบ้าง หรือถังดับเพลิงก็มีคล้ายๆ กัน พวกนี้จะมีรอบการดูแล พวกนี้คือการดูแลโดยใช้ระบบบุคคล" ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ชี้ให้เห็นภาพ

สำหรับอุโมงค์ ก็ควรมีการตรวจเช็กแบบที่ว่านี้เหมือนกัน ต้องเช็กทุกวันว่าปั๊มน้ำทำงานปกติหรือไม่ ไฟส่องสว่างติดไหม โครงสร้างอุโมงค์ยังแข็งแรงหรือไม่ ถ้าเช็กแล้วเกิดปัญหา จะต้องให้คนที่มีอำนาจหน้าที่ สั่งปิดอุโมงค์ไม่ให้เข้า-ออก ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ต้องมีระบบการแจ้งเตือน เพราะไม่ควรพึ่งพาแค่การตรวจจากคนเท่านั้น สิ่งที่ต้องมี และขาดไม่ได้คือ ป้ายบอกระดับความสูงเป็นขั้นๆ เหมือนที่วัดความสูง จะต้องอยู่ในจุดที่เห็นเด่นชัด เวลามีฝนตกลงมา จะได้เห็นว่าระดับน้ำตอนนี้สูงแค่ไหน ซึ่งจะทำให้คนขับรถยนต์สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า จะขับเข้าไปดีไหม และควรจะมีป้ายบอกความยาวของอุโมงค์เป็นระยะๆ อีกด้วย

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!

จากหลักการและมาตรฐานที่ต้องมี เมื่อย้อนเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นตามข่าว ถ้าเราเห็นน้ำอยู่ในอุโมงค์ และเห็นระดับความสูงของน้ำจากเครื่องหมายที่ทำไว้หน้าอุโมงค์ ก็จะช่วยให้คนขับรถตัดสินใจได้ว่า "ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้" แต่เมื่อเข้าไปแล้วคิดจะเปลี่ยนใจ ก็จะประเมินได้จากระยะทางของอุโมงค์ที่ยังเหลืออยู่ข้างหน้า ดังนั้นจึงต้องมีป้ายบอกระยะทางเป็นระยะๆ อย่างที่บอกก่อนหน้านี้

นพ.ธนะพงศ์ ยังบอกอีกว่า คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุโมงค์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องป้องกันด้วยการตรวจเช็กสภาพความปลอดภัย พร้อมทั้งต้องสั่งห้ามคนใช้รถใช้ถนนไม่ให้ลอดอุโมงค์เข้าไป หากมีความเสี่ยงเกินขึ้น อย่าปล่อยให้คนขับรถใช้ดุลพินิจตามใจชอบ เพราะความปลอดภัยประนีประนอมกันไม่ได้..!

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!

เมื่อรถจมน้ำทำอย่างไรถึงจะรอดชีวิต ?


อุบัติเหตุเป็นเรื่องสุดวิสัย ยากที่จะคาดคะเนล่วงหน้าได้ ฉะนั้นการเตรียมพร้อม และมีความรู้ในการรับมือสามารถผ่อนหนักเป็นเบา ตลอดจนสามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้นๆ ได้ เพราะหากช้าเพียงนาที ก็เป็นอันตรายถึงชีวิต เฉกเช่นข่าวการสูญเสียของซีอีโอสาววัย 41 ปี ที่ขับรถจมน้ำในอุโมงค์ทางลอดเมืองกรุง หลายคนอาจสังสัยว่า ทำไม!? คนขับถึงไม่หนีออกมาเมื่อรถจมน้ำ


ถ้าพูดตามหลักวิทยาศาสตร์เมื่อรถตกลงไปในน้ำ จะมีแรงดันน้ำจากภายนอก ทำให้ประตูเปิดออกได้ยาก โดยเมื่อรถลงคลอง หรือจมน้ำ จะมีเวลาราวๆ 1-2 นาที ก่อนที่รถจะจมลงไปทั้งคัน จากนั้นจะไม่มีอากาศเหลือในรถ ถือได้ว่ามีเวลาน้อยนิดมากในการเอาชีวิตรอด แต่ยังมีเคล็ดไม่ลับสำหรับการเอาชีวิตรอดเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!

สำหรับขั้นตอน หรือวิธีที่ถูกต้องในการเอาตัวรอดเมื่อรถจมน้ำจากข้อมูลของ "ศูนย์นิรภัย" บอกไว้ว่า กรณีรถตกน้ำใหม่ๆ รถจะยังไม่จมลงไปในทันที แต่จะค่อยๆ จมลงทีละน้อย และน้ำยังไม่เข้าห้องโดยสาร ผู้ประสบเหตุต้องควบคุมสติ และรีบปลดเข็มขัดนิรภัย ไม่พยายามออกแรงเพื่อรักษาระดับออกซิเจนในร่างกาย พร้อมกับปลดล็อกประตูรถทุกบาน แล้วรีบหมุนกระจกลง เพื่อหนีออกจากรถ หากเป็นรถที่ใช้ระบบไฟฟ้า การทำงานจะขัดข้องจนไม่สามารถเปิดกระจกได้ ให้ใช้ค้อน เหล็ก หรือของเข็งที่อยู่ภายในรถทุบกระจกด้านข้างให้แตก ไม่ควรทุบกระจกด้านหน้า หรือด้านหลัง เพราะเป็นกระจกนิรภัย จะแตกยากกว่า

ส่วนกรณีรถจมน้ำทั้งคัน หากไม่สามารถเปิดประตูรถได้ ไม่ควรไข หรือทุบกระจก เพราะน้ำจะไหลเข้ามากระแทก ทำให้ได้รับบาดเจ็บ หรือสลบได้ ให้ยกส่วนศีรษะขึ้นเหนือน้ำ และรอให้น้ำไหลเข้ามาจนมีระดับใกล้เคียงกันเพื่อให้แรงดันน้ำภายในและภายนอกเท่ากัน จะช่วยให้เปิดประตูรถได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้ดีดตัวออกจากรถ

ถอดบทเรียน "อุโมงค์มรณะ" รถจมน้ำทำอย่างไรให้รอด..?!

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการปล่อยตัวขึ้นเหนือน้ำจะรู้สึกเหมือนถูกน้ำดูดจนไม่สามารถว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำได้ เนื่องจากแรงดันของรถจะพาตัวผู้ประสบเหตุให้จมลึกลง ทางที่ดีให้ปล่อยตัวอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักมากที่สุด แล้วจึงค่อยๆ ว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่ถ้าน้ำลึกมากจนไม่สามารถมองเห็นทิศทาง ไม่ควรใช้วิธีว่ายน้ำเพราะอาจว่ายไปในทิศที่ไม่ได้ขึ้นเหนือน้ำ ควรปล่อยตัวให้ลอยขึ้นเองตามแรงโน้มถ่วง หรือใช้วิธีเป่าปากดูฟองอากาศลอยไปในทิศทางใด ให้ว่ายไปในทิศทางนั้น



กทม.คุมเข้มความปลอดภัยอุโมงค์ทางลอด

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กำชับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับอุโมงค์ทางลอดตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัย ทั้งไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำ พร้อมสั่งซักซ้อมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขต ที่มีอุโมงค์ทางลอดในพื้นที่ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบไฟฟ้าในอุโมงค์ ระบบเครื่องสูบน้ำ ไม่ให้เกิดการขัดข้องระหว่างปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ทางลอดทั้งหมด 19 แห่ง ก่อสร้างเสร็จแล้ว 11 แห่ง ได้แก่ 1.อุโมงค์ทางลอด ถ.ดินแดง-วิภาวดีรังสิต 2.อุโมงค์ทางลอด ถ.พัฒนาการ 3.อุโมงค์ทางลอด ถ.เชื่อมพหลโยธิน-ลาดปลาเค้า 4.อุโมงค์ทางลอด ถ.รัชดาภิเษก-ถ.สุทธิสารวินิจฉัย 5.อุโมงค์ทางลอด ถ.รัชดาภิเษก-ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6.อุโมงค์ทางลอด ถ.รัชดาภิเษก-ถ.เพชรเกษม (ท่าพระ) 7.อุโมงค์ทางลอด ถ.จรัญสนิทวงศ์-ถ.ราชวิถี-ถ.สิรินธร (บางพลัด) 8.อุโมงค์ทางลอด ถ.ศรีนครินทร์-ถ.สุขุมวิท (103) 9.อุโมงค์ทางลอด ถ.จรัญสนิทวงศ์-ถ.บรมราชชนนี (บรมราชชนนี) 10.อุโมงค์ทางลอด ถ.เชื่อม ถ.พัฒนาการ-ถาวรธวัช กับ ถ.พระราม 9 และ 11.อุโมงค์ทางลอด ถ.ตากสิน-ถ.รัชดาภิเษก (มไหสวรรย์)

ส่วนอุโมงค์ทางลอดที่กำลังก่อสร้าง 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์ทางลอด ถ.จรัญสนิทวงศ์-ถ.พรานนก 2.อุโมงค์ทางลอด ถ.พัฒนาการ-ถ.รามคำแหง-ถาวรธวัช 3.อุโมงค์ทางลอด ถ.ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ช่วงที่สอง 4.อุโมงค์ทางลอด ถ.รัชดาภิเษก-ถ.ราชพฤกษ์ และ 5.อุโมงค์ทางลอด แยกรัชโยธิน นอกจากนี้ยังจะมีอุโมงค์ทางลอดที่จะก่อสร้างในอนาคตอีก 3 แห่ง คือ 1.อุโมงค์ทางลอด ถ.ศรีอยุธยา-ถ.พระรามที่ 6 2.อุโมงค์ทางลอด ถ.กาญจนาภิเษก และ 3.อุโมงค์ทางลอด ถ.ศรีนครินทร์-ถ.พัฒนาการ ทางรถไฟสายตะวันออก

อย่างไรก็ตาม นายจักกพันธุ์ย้ำว่า นอกจากการสร้างอุโมงค์ทางลอดจะต้องถูกหลักวิศวกรรมแล้ว จะต้องสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมควบคู่กันไปด้วย เพราะอุโมงค์ทางลอดอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นดิน เวลาเกิดฝนตกจะส่งผลให้น้ำท่วมได้ โดยระบบป้องกันน้ำท่วมจะใช้ระบบสูบน้ำ ด้านบนอุโมงค์ทางลอดจะมีห้องคอนโทรลระบบป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ด้านล่างที่อยู่ต่ำกว่าอุโมงค์ทางลอด จะมีแท็งก์น้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำ

logoline