svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ขอขึ้นเงินเดือนอย่างไร? ให้ Win-Win ทั้งเจ้านายและลูกจ้าง

20 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พูดถึง เงินเดือน คงมีน้อยคนนัก (อาจถึงขั้นนับคนได้ทีเดียว) ที่คิดว่าเงินเดือนที่ได้นั้นมากพอแล้วและไม่คิดไม่หวังที่จะได้เงินเดือนเพิ่มอีก ในฤดูกาลขึ้นเงินเดือนประจำปีที่บริษัทส่วนใหญ่มักกำหนดไว้ในช่วงตอนต้นปี บริษัทส่วนใหญ่ที่มีกำไรมากพอ ก็มักจะมีนโยบายพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานทุกคนตามธรรมเนียมปฎิบัติ คำถามคือ หากต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากที่บริษัทหรือหัวหน้าให้นั้น ท่านจะต้องทำอย่างไร??

เรื่องหลักๆที่แนะนำให้พิจารณาก่อนที่ท่านจะแสดงความกล้าเดินไปขอเงินเดือนจากหัวหน้าเพิ่มขึ้น ก็คือ....



1. พิจารณาสถานการณ์ในตลาด ท่านอาจต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นเศรษฐกิจดีหรือไม่ มีการขยายธุรกิจในกลุ่มใดบ้าง ทักษะและความชำนาญของท่านนั้นกำลังเป็นที่ต้องการในท้องตลาดหรือไม่ (ท่านจะสังเกตได้จากการอ่านคอลัมน์สมัครงานในหนังสือพิมพ์ว่ามีลงประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งงานเดียวกับหรือคล้ายคลึงท่านมากน้อยและบ่อยเพียงใด)



2. พิจารณานโยบายของบริษัท บริษัทส่วนใหญ่มีการกำหนดนโยบายการขึ้นเงินเดือนไว้เป็นกรอบ รวมถึงบางที่อาจมีนโยบายในการให้เงินเดือนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพสูง (หรือเป็นกลุ่ม Talent) หากมีกำไรก็มักจะมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนโดยใช้อัตราที่อ้างอิงจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทคู่แข่ง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อในแต่ละปีด้วย



3. พิจารณาเงินเดือนที่ท่านได้รับอยู่ว่า เป็นเงินเดือนที่สูงหรือต่ำกว่าคนอื่นที่ทำงานเหมือนๆกับท่านในตลาด เท่าที่ทราบ โดยส่วนใหญ่แล้ว หลายๆท่านก็ได้ข้อมูลมาจากการพูดคุยกับเพื่อนพ้องที่อยู่ในวงการเดียวกัน พูดคุยกับบริษัทตัวแทนจัดหางาน หรือ Headhunter หรือบางครั้งอาจได้เห็นผลการสำรวจเงินเดือนของอาชีพต่างๆ ตามสื่อ ก็ทำให้ท่านพอจะเอามาเป็นแนวทางเปรียบเทียบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นเพียงเพื่ออ้างอิงเท่านั้น ต่างคนกัน ต่างบริษัทกัน แม้ว่าชื่องานตำแหน่งเดียวกัน แต่ความรับผิดชอบอาจจะแตกต่างกัน ทำให้เงินเดือนแตกต่างกันได้



4. พิจารณาเงินเดือนที่ท่านได้รับอยู่ว่ามีความเหมาะสมกับงานและหน้าที่ความรับผิดชอบหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องโยงกับนโยบายและโครงสร้างการให้เงินเดือนของแต่ละบริษัทด้วย โดยบริษัทส่วนใหญ่จะมีช่วงเงินเดือน หรือที่เรียกกันในวิชาชีพ HR ว่า "กระบอกเงินเดือน" สำหรับแต่ละระดับในบริษัท (Corporate level) หากท่านอยู่ในระดับใดหนึ่งมานานไม่ได้เลื่อนขั้นเสียที ท่านก็อาจมีปัญหาเรื่องเงินเดือนติดเพดานกระบอกเงินเดือน ซึ่งในการบริหารจัดการเรื่องเงินเดือนแล้ว






กรณีนี้ก็จะเป็นการยากที่ท่านจะได้รับพิจารณาเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากๆ เมื่อพิจารณาเรื่องหลักๆ เหล่านี้แล้ว ท่านยังคงมั่นใจว่า ท่านสมควรที่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เตรียมตัวขอพบหัวหน้าได้เลย โดยมีคำแนะนำให้ดังนี้
- ขอนัดเวลาหัวหน้าล่วงหน้า เพื่อให้มีเวลาพูดคุยเต็มที่ หากผลีผลามเข้าไปคุยในจังหวะที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นผลเสียมากกว่า

- เตรียมตัวก่อนการพูดคุย หากท่านไม่คุ้นเคยกับหัวหน้าก็ไม่ผิดอะไรที่จะสอบถามคนที่รู้จักหัวหน้าเป็นอย่างดีว่า หัวหน้ามีแนวคิดในการบริหารแบบใด และการนำเสนอข้อมูลแบบใดที่จะทำให้การเจรจามีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ (เน้นว่า ไม่ใช่การแนะนำให้หาวิธีประจบประแจงเอาใจหัวหน้าเพื่อขอเงินเดือนขึ้น) ท่านควรทำการบ้านเสียก่อนว่า เหตุใดท่านควรที่จะได้รับเงินเดือนเพิ่ม บริษัทย่อมยินดีที่จะให้เงินเดือนท่านเพิ่ม หากท่านทำงานให้กับบริษัทมากขึ้น นั่นหมายความว่า ที่ผ่านมา ท่านได้รับมอบหมายงานมากขึ้น หรือท่านได้ทำงานสำคัญได้สำเร็จ ซึ่งควรจะต้องเป็นงานที่ช่วยสร้างคุณค่าหรือสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัท เช่น นำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด เพิ่มฐานลูกค้าได้ ปรับการทำงานซึ่งทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนได้ หรือได้ช่วยบริษัทพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้หรือทักษะอย่างเห็นได้ชัด แนะนำว่าความสำเร็จที่ท่านจะอ้างถึงต้องเป็นความสำเร็จที่มีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงทำงานชิ้นเดียวสำเร็จหรือทำโครงการพิเศษโครงการเดียวสำเร็จ เพราะนั่นอาจทำให้ท่านได้รับโบนัสเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เงินเดือนเพิ่มขึ้น (บริษัทจะระมัดระวังในการให้เงินเดือนเพิ่มมากกว่าการให้โบนัสเพิ่ม เนื่องจากเงินเดือนเป็นเรื่องการให้ผลตอบแทนที่สืบเนื่องระยะยาว)



- ควรพูดตรงไปตรงมากับหัวหน้า แต่ทั้งนี้แนะนำให้พูดเรื่องผลงานและความสำเร็จที่ท่านทำก่อน แล้วจึงเจรจาขอเงินเดือนขึ้น เมื่อเจรจาขอเพิ่มก็ไม่ควรไปพูดเน้นแต่ตัวเลขว่าจะต้องได้เท่าไร นอกเสียจากว่าหัวหน้าจะถามถึงความคาดหวัง ท่านก็สามารถกล่าวถึงข้อมูลอ้างอิงได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่อ้างว่าท่านทราบเงินเดือนของเพื่อนร่วมงานหรือคนที่ทำตำแหน่งเดียวกับท่านในบริษัทเดียวกัน เพราะข้อมูลเงินเดือนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีการแบ่งปันกัน



- ไม่ควรแสดงอารมณ์เมื่อมีการพูดคุยกับหัวหน้า ควรเป็นการพูดคุยด้วยเหตุและผล เคยประสบเหตุการณ์ที่พนักงานพูดไปร้องไห้ไป อ้างว่าเงินเดือนไม่พอใช้ พ่อแม่ป่วย ลูกต้องเข้าโรงเรียน เรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่หัวหน้าย่อมให้ความเห็นใจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่หัวหน้าจะนำมาพิจารณาเพิ่มเงินเดือนให้เป็นพิเศษอย่างแน่นอน




- เตรียมรับกับสถานการณ์ที่หัวหน้าขอเวลาในการทบทวน หรือหัวหน้าปฎิเสธไว้ด้วย เคยมีเหตุที่พนักงานขอเพิ่มเงินเดือนด้วยความมั่นใจ หากแต่ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ พนักงานท่านดังกล่าวก็รู้สึกโมโหมาก ขมขู่ว่าจะลาออก และที่แย่ไปกว่านั้นคือจะชักชวนเพื่อนหรือทีมงานออกไปด้วย หากจบการสนทนาแบบนี้ คงไม่ดีอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะไม่ได้เงินเดือนขึ้นแล้ว หัวหน้าคงไม่พอใจ อีกทั้งคงมีการเตรียมแผนรองรับกรณีที่พนักงานลาออกหรือเตรียมแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างรวดเร็ว





หากท่านใดที่กำลังอ่านบทความนี้และกำลังน้อยอกน้อยใจเพราะเผอิญไปทราบมาว่า คนที่ทำงานน้อยกว่าตน หรือมีหน้าที่ความรับผิดชอบน้อยกว่า แต่เขากลับได้เงินเดือนมากกว่าก็หวังว่า ท่านจะได้นำข้อแนะนำจากบทความนี้ไปใช้ในการเจรจาจนประสบความสำเร็จ แต่หากว่าได้รับการปฎิเสธ ก็แนะนำว่าอย่าท้อ เพราะเมื่อเวลาอันควรและข้อมูลสนับสนุนเหมาะสม ข้อเรียกร้องของท่านคงได้รับการพิจารณาแน่นอน อย่าลืมว่า
"ค่าของคน ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นคนของใครหรือเงินเท่าไหร่ที่ได้รับ แต่อยู่ที่ผลของงานที่เราทำไว้  มากกว่า "

บทความโดย : เสถียร ตันธนะสฤษดิ์

logoline