svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

สอบทุจริตชลประทานชายแดนใต้ นำร่องรื้อขยะใต้พรม...โกงในพื้นที่สีแดง!

15 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปฏิบัติการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ลุยตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง 2 แห่งใน 2 อำเภอของ จ.ยะลา และพบความผิดปกติ สร้างผิดสเปกบานตะเกียง แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างกลับตรวจรับงานให้ผ่านฉลุย ทำให้บริษัทรับเหมาเบิกเงินกันไปเรียบร้อย 2 โครงการเกือบ 50 ล้านบาท กำลังสร้างแรงกระเพื่อมในวงราชการและวงการจัดซื้อจัดจ้างที่ปลายด้ามขวานอย่างขนานใหญ่

เพราะเมื่อไม่นานมานี้ บอร์ด ป.ป.ท.ได้มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องแล้ว เป็นข้าราชการ 4 ราย บริษัทเอกชนผู้รับเหมา 1 ราย พร้อมเดินหน้าขยายผลตรวจสอบอีก 30 โครงการของสำนักงานชลประทานยะลา และล่าสุดยังมีการตรวจสอบข้ามพื้นที่ไปที่ จ.สงขลา และพบร่องรอยความไม่โปร่งใสเช่นกัน




การตรวจสอบขยายผลของ ป.ป.ท. ไม่ได้ทำเฉพาะที่ จ.ยะลา แต่ยังข้ามไปที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อำเภอที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) รวมทั้งเป็นอำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย



โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 9 ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโครงการ "พนังป้องกันตลิ่ง" เป็นพนังหินกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง บริเวณ "ฝายคลองเปียน" หมู่ 1 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โครงการนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2561 แบบสดๆ ร้อนๆ คือปีนี้เลย วงเงินประมาณ 9.5 ล้านบาท ห้วงเวลาก่อสร้าง 150 วัน ซึ่งสำนักงานชลประทานสงขลาได้ตรวจรับงาน และจ่ายเงินให้เอกชนคู่สัญญาไปแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561 แต่เมื่อ ป.ป.ท.เขต 9 ลงพื้นที่ตรวจสอบ กลับพบความไม่ชอบมาพากลดังนี้
1.พบหัวหน้าช่างชลประทาน ซึ่งเป็นประธานตรวจรับงานก่อสร้างโครงการนี้ กำลังควบคุมคนงานและเครื่องจักรกลหนักอยู่ ลักษณะเหมือนกำลังก่อสร้างเพิ่มเติม เมื่อสอบถามก็ได้รับแจ้งว่า กำลังแก้ไขซ่อมแซมงานที่ตรวจรับไปแล้ว


2.จากการวัดความยาวของ "พนังป้องกันตลิ่ง" (เป็นการก่อสร้างแบบใหม่แทนการเรียงหิน หรือทิ้งหินสร้างเขื่อนแบบเดิม) ตามแบบแปลนกำหนดความยาวเอาไว้ 70 เมตร แต่ก่อสร้างผิดแบบ วัดได้เพียง 65 เมตร ขาดไป 5 เมตร ขณะเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 9 เข้าไปตรวจสอบ พบกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 5 เมตร และความกว้างของพนังป้องกันตลิ่ง กำหนดไว้กว้าง 2.89 เมตร วัดได้จริงแค่ 2 เมตร

นอกจากนั้นยังมีแนวคันดินข้างพนังติดแนวพื้นดินเดิม กำหนดความกว้างไว้ 4 เมตร วัดได้ 3.7 เมตร ขาดไป 30 เซนติเมตร และกำหนดให้ต้องบดอัดแน่น 95% แต่กลับพบว่าไม่มีการบดอัด โดยขณะตรวจสอบ มีการนำรถดินมาเทดิน และเตรียมรถมาบดอัดด้วย



สำหรับประเด็นการแก้ไขงานหลังคณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ตรวจรับงานไปแล้วนั้น ก่อนหน้านี้ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. เคยยืนยันเอาไว้ว่า ถึงจะแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ลงนามตรวจรับงานที่ผิดสเปก ส่วนการแก้ไขในช่วงที่ยังอยู่ในประกันสัญญา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริต ซึ่งผิดสำเร็จไปแล้ว






เมื่อส่องดูรายละเอียดการตรวจรับงานทั้งๆ ที่ผิดสเปกบานเบอะที่ อ.สะบ้าย้อย ทำให้ย้อนนึกไปถึงการลงพื้นที่ของ ป.ป.ท. เพื่อตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง 2 แห่งใน 2 อำเภอของ จ.ยะลา เพราะทำให้เห็นว่าวิธีการทุจริตแทบจะลอกแบบกันมาเลย เริ่มจากโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง บ้าน กม.26 ใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา พบความผิดปกติดังนี้




- ไม่มีการถมดินบดอัดแน่นหลังคัน 95%


- ไม่มีการก่อสร้าง Mattress (หมายถึงแผ่นวัสดุคลุมผิวหน้าเขื่อน เพื่อป้องกันการสึกกร่อน หรือตลิ่งพัง) ช่วงลาดสโลปหลังคัน


- การวางสโลปแนวหินซ้อนจากแบบ 4 ชั้น เหลือเพียง 2 ชั้น


- หน้ากว้างของดินบดอัดแน่นจากแบบ กว้าง 1 เมตร เหลือครึ่งเมตร (0.50 เมตร)


- ขาดความยาว Mattress ช่วงพื้นที่ 1 ระยะ 700 เมตร ก่อสร้างจริง 631 เมตร


- ไม่มีการก่อสร้างหลัก คสล. (เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก) หลังคัน 176 ต้น









ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง หลังโรงเรียนปาแตรายอ หมู่ 2 ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา พบความผิดปกติดังนี้


- ไม่มีการถมดินบดอัดแน่นหลังคัน 95%


- ไม่มีการก่อสร้าง mattress ช่วงลาดสโลปหลังคัน


- ความสูงกล่องเกเบียน (กล่องบรรจุหินที่ทำมาจากลวดชุบสังกะสี ทอเป็นตาข่าย) ช่วง 1-2 วัดได้ 0.80 เมตร จากระยะ 1.40 เมตร ขาดความสูง 0.60 เมตร


- ขาดความยาว mattress ช่วงพื้นที่ 1 ระยะก่อสร้างตามแบบ 500 เมตร ก่อสร้างจริง 470 เมตร


- ไม่มีการก่อสร้างหลัก คสล. ขาว-ดำ หลังคัน 126 ต้น







ทั้ง 2 โครงการ ทำสัญญาจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ (ไม่มีการเปิดประกวดราคา) ในวันเดียวกันคือ วันที่ 25 เมษายน 2560 โดยจัดจ้างผู้รับเหมารายเดียวกัน คือ บริษัทอัครพันธุ์ก่อสร้าง จำกัด งบประมาณโครงการแรก 24.6 ล้านบาทเศษ และโครงการที่สอง 21 ล้านบาทเศษ







นี่คือ 2 โครงการแรกที่บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมสั่งขยายผลตรวจสอบอีก 30 โครงการที่เหลือของชลประทานยะลา ในปีงบประมาณ 2560 ด้วย











โครงการของชลประทานยะลา งบปี 60 มีทั้งหมด 32 โครงการ เป็นโครงการที่ขอใช้งบเพิ่มเติมจากทางจังหวัด ในโครงการบริหารจัดการน้ำกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะในส่วนที่ของบเพิ่มเติมมีทั้งสิ้น 32 โครงการ งบประมาณสูงถึง 489 ล้านบาท




จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รูปแบบโครงการมีตั้งแต่การปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ, การก่อสร้างพนังกั้นน้ำ, การก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง, การขุดลอกแก้มลิง, การก่อสร้างฝาย, ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ, การก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และขุดลอกคลอง มูลค่าแต่ละโครงการอยู่ระหว่าง 4.8 ล้านบาทถึง 30 ล้านบาท โดยโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง 2 แห่ง งบประมาณ 46 ล้านบาทที่ถูกบอร์ด ป.ป.ท.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิด ก็รวมอยู่ใน 32 โครงการนี้ด้วย



นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ถูกจับตา เพราะมีประชาชนร้องเรียนเข้าไปที่ ป.ป.ท.แล้ว เช่น โครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำ 2 แห่งใน 2 ตำบลของ อ.เมืองยะลา ใช้งบแห่งละ 17 ล้านบาทเศษ แต่ถูกชาวบ้านร้องเรียนว่าทรุดตัว ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างไม่นาน




อีกแห่งหนึ่งเป็นอาคารบังคับน้ำ ใน อ.เบตง จ.ยะลา งบประมาณสูงถึง 23 ล้านบาท ตามสเปกต้องใช้หินแกรนิต แต่เมื่อไปตรวจสอบสถานที่จริง พบว่าใช้หินธรรมดา เป็นหินภูเขา คาดว่าขนมาจากเศษหินที่ได้จากการเจาะหรือเปิดเส้นทางระบายน้ำใกล้ๆ โครงการนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตามแบบมาตรฐานของกรมชลประทาน ต้องใช้หินใหม่ มีขนาดและรูปแบบตามที่กำหนดในระเบียบอย่างละเอียดชัดเจน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.กำลังตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานอยู่






ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานขององค์กรตรวจสอบทุจริตในพื้นที่ ระบุว่า การจัดจ้างโครงการก่อสร้างของสำนักงานชลประทานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจมีการฮั้วราคากัน โดยมีบริษัทผู้รับเหมายื่นเสนอราคา 5-7 แห่งต่อจังหวัด แต่ละโครงการจะสลับกันเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง ในลักษณะเป็น "บริษัทคู่เทียบ" เพื่อให้อีกบริษัทหนึ่งได้งานไป เป็นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ สุดท้ายเมื่อดูในภาพรวม ก็จะพบว่าแต่ละบริษัทได้งานกันไปบริษัทละ 5-7 งานต่อปี คล้ายๆ แบ่งเค้กกัน






ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปของ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ที่บอกว่า กรณีส่อทุจริตโครงการชลประทานใน จ.ยะลา นั้น มีข้อมูลเบาะแสว่าผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการก่อสร้างที่ฝังรากลึกมานาน อาศัยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กระทำทุจริต เพราะเชื่อว่าเป็นโครงการก่อสร้างในพื้นที่สีแดง ทำให้หน่วยงานตรวจสอบทุจริตลงพื้นที่ไปตรวจสอบยาก







สอดคล้องกับข้อมูลของคนในพื้นที่ที่รับรู้กันมาเนิ่นนานว่า การใช้อิทธิพลทุจริตโครงการก่อสร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาเรื้อรัง อาคารบางอาคาร ตามแบบต้องก่อสร้าง 3 ชั้น สร้างจริงแค่ 2 ชั้นก็ยังมี เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางกล้าไปตรวจ นั่งเซ็นแบบอยู่ตามโรงแรมในหาดใหญ่เท่านั้น เพราะในพื้นที่มีปัญหาความไม่สงบ







ได้เวลาเปิดพรมเพื่อสะสางขยะที่ซุกไว้นานกว่า 1 ทศวรรษเสียที !





logoline