svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ

10 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คดีอายู" เริ่มจากชายมาเลเซียมาลักลอบแต่งงานกับเด็กหญิงไทยวัย 11 ขวบ ที่มัสยิดในสุไหงโก-ลก จนสร้างกระแสต่อต้านการแต่งงานเด็กในไทยไปทั่วโลก...คดีดังนี้เรียกสั้นๆ ว่า "คดีอายู" หรือ Ayu's case หากพิมพ์คำค้นหานี้ในกูเกิลจะพบผลการค้นหากว่า 3.2 แสนรายการ...


สำนักข่าวทั่วโลกทั้ง ซีเอ็นเอ็น นิวยอร์กไทม์ บีบีซี รอยเตอร์ เดอะสตาร์ ฯลฯ ต่างเกาะติดคดีอายู (นามสมมุติของเด็ก 11 ขวบ) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องราว "การออกใบอนุญาตแต่งงานเด็ก" อย่างถูกกฎหมายในชุมชนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนมาเลเซีย-ไทยแลนด์



ถือเป็น "คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กเล็ก" ที่มีเงื่อนปมสลับซับซ้อนภายใต้ข้ออ้างระเบียบปฏิบัติทางศาสนาของคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ขององค์การความร่วมมืออิสลามทั่วโลกยกเลิกไปแล้ว...



แต่สำหรับ 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย การออก "ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก" ยังทำได้อย่างเสรีโดยมีอิหม่ามประจำมัสยิดจัดการให้ทุกอย่าง

ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ

"คดีอายู" ไม่ใช่แค่คดีละเมิดสิทธิเด็กเท่านั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กวิเคราะห์ว่า นี่คือช่องทางข่มขืนเด็กอย่างถูกกฎหมาย หรือ "ไชลด์กรูมมิ่ง" (Child grooming) บางครั้งแปลว่า "การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ" เป็นหนึ่งในวิธีการหลอกล่อเด็กหรือครอบครัวเด็ก เพื่อนำเด็กมามีเพศสัมพันธ์หรือเตรียมนำเด็กไปขายต่อให้กับแก๊งค้าประเวณีเด็กหรือแก๊งค้ามนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นในโลกออนไลน์ยุคโซเชียลมีเดีย เด็กเล็กทั้งหญิงและชายกำลังกลายเป็นแหล่งทำเงินของแก๊งผลิตสื่อลามกอนาจารเด็กให้กลุ่มลูกค้าจิตวิปริต



ย้อนไปจุดเริ่มต้นคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 "การิม" หรือชื่อเต็มว่า เจ๊ะ อับดุล การิม เจ๊ะ อับดุล ฮาหมิด ชายมาเลเซียวัย 41 ปี จากเมืองกัวมูซัง รัฐกลันตัน ลักลอบเข้ามาจัดพิธีแต่งงานกับ "อายู" เด็กหญิงไทยวัย 11 ขวบ ผู้เป็นเพื่อนสนิทกับลูกสาวของเขา จนถูกถ่ายภาพเปิดโปงผ่านเฟซบุ๊กโดยภรรยาคนที่สอง



ประชาชนชาวมาเลเซียออกมาคัดค้านการแต่งงาน "คดีอายู" จนทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องเข้ามาสืบหาตัวการิมเอาไปขึ้นศาล เพราะทำผิดฐานลักลอบไปแต่งงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี และแต่งภรรยาคนที่ 3 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากภรรยาคนที่ 1 และ 2



เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ศาลชารีอะฮ์ในรัฐกลันตันมีคำสั่งพิพากษาสั่งปรับเงินจำนวน 1.5 หมื่นบาท หลังจากการิมที่มีลูกอยู่แล้ว 6 คน และเมีย 2 คน ยอมรับว่าทำผิดกฎหมายมาเลเซียแต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายไทย พร้อมยืนยันผ่านสื่อมวลชนว่า



การแต่งงานของเขากับ "อายู" ถูกต้องทุกประการ และเขาเฝ้ามองและหลงรักเด็กคนนี้มาตั้งแต่อายุ 7 ขวบแล้ว



คำกล่าวนี้สร้างความตกตะลึงให้กลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่ายปกป้องสิทธิเด็กไปทั่วโลก


ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ

โดยเฉพาะคำยืนยันจากตัวแทนรัฐบาลฝ่ายไทย "พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช" แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้มีอำนาจดูแลบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเรื่องนี้ว่า "พื้นที่ชายแดนภาคใต้มีเด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก เพราะตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ผู้ชายมุสลิมสามารถมีภรรยาได้ 4 คน ถือเป็นสิทธิของพวกเขา"

ขณะเดียวกัน "ไซอิด นอร์ดิน" อิหม่ามจากมัสยิด กัวลา เบติส ที่การิมคุ้นเคย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตามหลักอิสลามแล้ว "เด็ก" จะแต่งงานอายุเท่าไรก็ได้หากเด็กมีประจำเดือนแล้วพ่อแม่ยินยอม พร้อมยืนยันว่าการิมเป็นมุสลิมที่ดี มีความรับผิดชอบ มาทำละหมาดเป็นประจำ

การอนุญาตให้แต่งงานในเด็กอย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยนั้น กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันหลายฝ่าย โดยเฉพาะการปกป้องคุ้มครอง "น้องอายู" ว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไร ?ตอนนี้เด็กมีสภาพเป็นภรรยาของการิมแล้วหรือยัง ? หรือถือว่าอยู่ในสถานะเด็กที่รัฐบาลไทยต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคุ้มครอง

ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ

สำนักข่าวยักษ์ใหญ่จากอเมริกา "นิวยอร์กไทมส์" เข้าไปเจาะลึกสืบสวนคดีน้องอายูในดินแดนมาเลเซีย ครอบครัวของน้องอายูเป็นคนไทยที่ย้ายไปอยู่เมืองกัว มูซัง รัฐกลันตัน อยู่ในบ้านเล็กๆ ไม่มีน้ำประปา มีอาชีพรับจ้างกรีดยางในสวนขายให้แก่การิมผู้อาศัยอยู่บ้านหลังใหญ่ ขับรถสปอร์ตมาสด้า มีการเปิดเผยบทสัมภาษณ์คนใกล้ชิดกับชายรายนี้ โดยเฉพาะ นอราซีลา ลูกสาววัย 14 ปี และ "สิติ นอร์ อาซิลา" แม่ของเธอซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 2

"นอราซีลา" เล่าว่า อายูเป็นเพื่อนรักมีความสนิทสนมกันมานาน แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่งอายูก็มาบอกว่าจะไปแต่งงานกับพ่อของเธอ ส่วนแม่ของนอราซีลาที่เป็นภรรยาคนที่ 2 เปิดเผยว่าเธอยอมรับไม่ได้ที่สามีจะแต่งงานกับเพื่อนลูกสาวที่ยังเป็นเด็กเล็กอายุแค่ 11 ขวบเท่านั้น จึงแฉเรื่องนี้ออกไปทั่วโลกผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ยิ่งไปกว่านั้นการิมยังเป็นคนงกและขี้เหนียว ไม่เคยช่วยเหลือเลี้ยงดูพวกเธอกับลูกๆ เลย



"เขาไม่เคยสนใจไยดีลูกๆ เลย และให้เงินไม่พอเลี้ยงลูก 4 คน มีลูกคนหนึ่งมีโรคประจำตัวด้วย ต้องทำขนมปังขายหาเงินเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เขาเอาเงินที่มีไปจัดงานแต่งงานกับอายู และพาเธอไปเที่ยว อายูเป็นคนเดียวที่มีสิทธิได้นั่งรถสปอร์ตมาสด้าของเขา"

"นิวยอร์กไทมส์" นำเนื้อหาสัมภาษณ์ข้างต้นออกเผยแพร่ พร้อมด้วยความเห็นผู้นำรัฐบาล เช่น

ดร.วัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสตรี ครอบครัวและพัฒนาชุมชน ผู้คัดค้านการแต่งงานกับเด็ก กล่าวว่า หน่วยงานรัฐบาลมาเลเซียกำลังสอบสวนคดีนี้ว่าเป็น "ไชลด์กรูม" หรือการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศหรือไม่

ชาวมาเลเซียจำนวนมากโพสต์แสดงความเห็นว่า "คดีอายู" คือตัวอย่างการออกใบอนุญาตข่มขืนเด็กอย่างถูกกฎหมาย และหลายคนต่อต้านการลักลอบเข้าไปจัดพิธีแต่งงานกับเด็กในมัสยิดชายแดนไทย พร้อมตั้งคำถามว่า

ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ


การให้เด็กแต่งงานเป็นประเพณีอิสลามจริงหรือไม่ ?



ขณะที่ เครือข่ายคุ้มครองเด็กและผู้หญิงของไทย เช่น กลุ่มด้วยใจ คณะทำงานโครงการวาว(VAW) เครือข่ายแกนนำสตรีสี่ภาค(ภาคใต้) เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้(Civic Women) เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จชต. เครือข่ายมุสลิมเอเชีย ฯลฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวทำจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนไปยัง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

การสมรสของผู้เยาว์ที่มีวัยต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็ก ส่งผลลบต่อเด็กทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และจิตใจ ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม เช่น ตุรกี บังกลาเทศ ปากีสถาน อียิปต์ ฯลฯ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ได้กำหนดให้ผู้จะแต่งงานได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงประเทศมาเลเซียกำหนดว่าต้องอายุเกิน 16 ปี และไม่มีข้อยกเว้นในทุกกรณี


แต่ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล มีการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. 2484 เปิดช่องว่างให้แต่งงานกับเด็กได้ในหลายกรณี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

การแต่งงานของผู้เยาว์ในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน หรือแม้แต่การละเมิดสิทธิเด็กเช่นกรณีข่มขืน การบังคับแต่งงาน ถือเป็นทางออกเดียวในการหลีกเลี่ยงความอัปยศจากการมีลูกนอกสมรสเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายในความสัมพันธ์ หรือแต่งงานเพื่อหนีปัญหาความยากจน เป็นเหตุผลหลักอีกประการที่นำไปสู่การแต่งงานของผู้เยาว์

...จากกรณีชายอายุ 41 ปี ชาวมาเลเซีย แต่งงานกับเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ชาวนราธิวาส ประเทศไทย โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลามนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรทางศาสนาทั้งในประเทศมาเลเซียและประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งดาเนินการร่วมกันเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยได้จัดการประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ จ.ปัตตานี และได้เข้าพบคณะกรรมการกลางอิสลามประจาจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งได้รับ คำชี้แจงจากคณะกรรมการกลางอิสลามของทั้งสองจังหวัดว่า การแต่งงานในกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง โดยคณะกรรมการอิสลามกลางประจาจังหวัดนราธิวาส ยืนยันว่า การแต่งงานเป็นโมฆะ เนื่องจากเอกสารร้องขอการแต่งงานซึ่งจัดทำโดยอิหม่ามที่ประกอบพิธีแต่งงานไม่ได้ถูกประทับลงตรารับรองโดยผู้มีอำนาจลงนาม ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการออกใบทะเบียนสมรส ดังนั้นใบทะเบียนสมรสที่อ้างโดยฝ่ายชายจึงไม่เป็นที่ยอมรับและรับรองโดยคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อีกทั้งอิหม่ามคนดังกล่าวได้ถูกภาคทัณฑ์ซึ่งไม่มีสิทธิ์ประกอบพิธีสมรสตามศาสนาอิสลามให้แก่ผู้ใด และคณะกรรมการกลางอิสลามประจาจังหวัดนราธิวาสได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้นบ่งชี้ถึงช่องว่างในการนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปี

ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ

เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็กหญิงวัย 11 ขวบ และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศและสิทธิเด็กจากการแต่งงานของผู้เยาว์ในระยะยาว จึงขอเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ ดังนี้

1.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเร่งช่วยเหลือคุ้มครองและประสานให้เด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการศึกษา รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เพื่อสร้างบรรทัดฐานในอนาคตต่อไป

2.ขอให้คณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสชี้แจงกระบวนการออกเอกสารสมรสที่ไม่ถูกต้องอันนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดสิทธิเด็ก

3.ขอให้ทางคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเร่งออกมาตรการป้องกันการแต่งงานในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังเช่นจังหวัดปัตตานีที่ไม่อนุญาตให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบรายละเอียดก่อนอนุญาตให้ผู้ชายแต่งงานกับภรรยามากกว่าหนึ่งคน

4.ขอให้รัฐบาลประสานกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรี รวมทั้งรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อปรับปรุงป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายของทั้งสองประเทศแสวงหาผลประโยชน์ในการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและผู้หญิง

ฟ้อง "บิ๊กตู่" แต่งงานโมฆะ เจ้าสาว 11 ขวบ

ตอนนี้คงต้องรอว่า "บิ๊กตู่" นายกฯ ขวัญใจเด็กๆ จะได้เห็นจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้หรือไม่ และถ้าเห็นแล้วจะให้สัมภาษณ์ว่าอย่างไร น้องอายูจะได้รับการช่วยเหลือจากการ "แต่งงานโมฆะ" ครั้งนี้หรือไม่ ?



คำตอบคงไม่ใช่ "เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางศาสนา" เพราะแม้แต่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ ยังไม่ยอมให้แต่งงานในเด็กเล็ก



แล้วทำไม 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย จึงมีช่องว่างอนุมัติให้ออก "ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก" อย่างถูกกฎหมาย ?!?

logoline