svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

เตรียมย้ายสายไฟลงใต้ดินที่อุดรฯ ในอีก 4 ปี

17 กรกฎาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เทศบาลนครอุดรธานีลงนามเอ็มโอยูกับ กฟภ.ย้ายสายไฟฟ้าและสัญญาณต่างๆ ลงใต้ดิน ปรับโฉมเมืองใหม่หลายจุด 4 ระยะ งบประมาณ 240 ล้านบาท แล้วเสร็จอีก 4 ปีหน้า นายกฯ เทศบาลนคร วอนขอให้เข้าใจความไม่สะดวกระหว่างดำเนินการ

วันที่ 17 กรกฎาคม ณ ห้องประชุมเวสสุวัณ (ชั้น 3) อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิตติยาภา เทศบาลนครอุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการก่อสร้างระบบเคเบิ้ลใต้ดินในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ระหว่างนายปิยพจน์ รุธีรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศบาลนครอุดรธานี

ความร่วมมือแบ่งเป็น 4 ระยะ วงเงินลงทุนมากกว่า 240 ล้านบาท คือ 1. หอนาฬิกา-วงเวียนน้ำพุประจักษ์-รอบวงเวียน-สามแยกศรีวิไล 1.3 วงจร กม. 2.สามแยกศรีวิไล-สี่แยกยอดไก่ย่างเดิม 0.97 วงจร กม. 3.แยกเฉลิมพระเกียรติ-สนามทุ่งศรีเมือง 2.4 วงจร กม. และ 4.แยกเฉลิมพระเกียรติ-อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ-ซอยจินตคาม 1.56 วงจร กม. โดยจะเริ่มระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2562 โดยเทศบาลจ่ายสมทบงานโยธา 21.6 ล้านบาท กฟภ.วางระบบสาย 31.10 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 , 3 , 4 จะดำเนินการในปีต่อไปหลังจากระยะ 1 แล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้เวลาแต่ละระยะ 8-12 เดือน

นายปิยพจน์ รุธีรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า การวางสายเคเบิ้ลใต้ดิน จะวางท่อร้อยสาย-บ่อพักสาย แยกเป็นแรงสูงใช้การเจาะวางท่อ และวางบ่อพักสาย บริเวณใต้ผิวการจราจร สำหรับแรงต่ำจะใช้การขุดวางท่อ และวางบ่อพักสาย บริเวณใต้ฟุตบาท ตลอดเส้นทางทั้ง 2 ด้าน ด้วยสายไฟฟ้าป้องกันน้ำ ขนาดที่ประเมินใช้งานระยะยาว ทำให้งบประมาณสูงขึ้น 4-6 เท่า โดยสายสัญญาและสายเคเบิ้ลต่างๆ ก็จะต้องนำลงใต้ดินเช่นกัน


"ในอดีตมีเพียงเสาไฟฟ้าของ กฟภ. ต่อมามีการปักเสาพาดสายสัญญา ของรัฐวิสาหกิจและเอกชนจำนวนมาก ทำให้ต้องจัดระเบียบสายสัญญาณ ต้องมาใช้พาดกับเสา กฟภ.เพียงรายเดียว จึงเกิดกรณีการเช่าพาดสายสัญญาณ เมื่อนำสายไฟฟ้าและสายสัญญาลงใต้ดิน เสาไฟฟ้าก็จะถูกรื้อถอนออก ผู้ประกอบการวางสายสัญญา จะต้องวางสายตามท่อลอดใต้ดิน ซึ่งท่อและบ่อพักเป็นสมบัติของ ทน.อุดรธานี จะตัดสินใจเก็บค่าใช้จ่ายอย่างไร "

นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า การนำสายไฟฟ้าและสายสัญญาลงใต้ดิน จะเป็นเริ่มต้นการพัฒนาเมือง การลงทุนของทน.อุดรธานีเพิ่มเติม กับไฟฟ้าแสงสว่าง , ระบบควบคุมสัญญาจราจร , กล้องซีซี.ทีวี. และปรับปรุงฟุตบาทไปพร้อมกัน ซึ่ง ทน.อุดรธานี จะออกเทศบัญญัติมาควบคุมส่วนนี้ จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ผู้ประกอบการค้าหรืออาศัย ปรับหน้าตาของอาคารบ้านเรือน ให้เกิดความสวยงานน่าอยู่ สร้างบรรยากาศค้าขายมากขึ้นนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ยินดีกับชาวอุดรธานีในการลงนาม MOU ที่กำลังจะได้บ้านเมืองที่มีหน้าตาและบุคลิกดี
ในอดีตบ้านไหนมีไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ ผ่านหน้าบ้านก็บอกว่าความเจริญมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปมีมากขึ้นก็ถูกจัดระเบียบ ขณะเมืองอุดรธานีต้องเป็นเมืองแห่งอนาคต การวางทิศทางการพัฒนาเกิดขึ้นแล้ววันนี้ และชาวอุดรธานียังมี MOU ทางใจ ว่าก่อนจะถึงวันนั้นอาจะได้รับความไม่สะดวกบ้าง จึงต้องช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้น และอยากให้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ ของอาคารบ้านเรือนในวันนี้ เปรียบเทียบกับอนาคตด้วย

logoline