svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ครอบครัวคนใกล้ชิดใช้ "หัวใจ" ฟื้นฟูจิตใจ "หมูป่า"

11 กรกฎาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปฏิบัติการพา "หมูป่า อะคาเดมี่" 13 ชีวิตที่ติดในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ประมาณ 18 วันกลับบ้านเป็นผลสำเร็จ มาอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ จากนี้ไปผู้คนในสังคมรอบข้างต้องระมัดระวังการถามคำถามที่อาจจะเป็นการกระทบจิตใจพวกเขาผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ครั้งนี้


นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เมื่อทีมฟุตบอลหมูป่าและโค้ชได้รับการช่วยเหลือออกมาทั้งหมดแล้ว และได้รับการดูแลสุขภาพกายจนอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยแล้ว จะดำเนินการดูแลสุขภาพจิตต่อ



3 แผนฟื้นฟูสภาพจิตใจ



แผนขั้นแรก คือ การเตรียมพร้อมของพ่อแม่และญาติ ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมลูกหลานที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรมสุขภาพจิตและทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทในพื้นที่ได้วางแผนร่วมกันโดยจะเน้นที่กระบวนการป้องกันและความเข้าใจต่อสถานการณ์ ให้ผู้ปกครองช่วยเหลือประคองจิตใจของลูกหลาน 3 เรื่อง คือ การรับฟัง ปลอบขวัญ และให้กำลังใจ

ครอบครัวคนใกล้ชิดใช้ "หัวใจ" ฟื้นฟูจิตใจ "หมูป่า"




โดยให้ผู้ปกครองรับฟังความกังวลของเด็กๆ อย่างตั้งใจ และไม่แสดงความคิดเห็นด้านลบ เนื่องจากเด็กเป็นผู้ประสบภัย ต้องให้การดูแลแบบผู้ประสบภัย เพื่อรับรู้ความคิดของเด็ก ให้ระบายออกมาให้มากที่สุด ต่อมาคือ การสัมผัส ปลอบขวัญ แสดงความรักความห่วงใย เช่น การกอด ลูบศีรษะ เป็นต้น และให้กำลังใจแก่เด็ก เพื่อคลี่คลายความกังวลต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้ฝึกซ้อมความเข้าใจทุกครอบครัวไว้แล้ว และทุกคนสามารถทำได้อย่างดี



อยู่กับครอบครัวฟื้นใจเข้มแข็ง

ช่วงฟื้นฟูจิตใจต้องไม่มีสิ่งใดขัดขวาง นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต อธิบายว่า ในช่วง 3-5 วันแรกต้องมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูสภาพร่างกายเป็นหลัก จากนั้นจึงจะค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพจิตใจ สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรมีใครไปขัดขวางกระบวนการฟื้นฟูในช่วงระยะนี้ โดยไม่ควรซักถามในเชิงลบ ที่จะเป็นการไปตอกย้ำประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับบาดแผลทางจิตใจมา เช่น อยู่ข้างในมืดไหม คิดถึงบ้านไหม กลัวไหม, ไม่ควรแยกเด็กๆ ออกมาจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อน เช่น การพาไปตระเวนเดินสายให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ เพราะการให้เด็กๆ อยู่กับครอบครัวและคนใกล้ชิด คือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม และไม่ควรทำให้เด็กๆ เสียพลังในการที่จะสามารถกลับมายืนหยัดได้ด้วยตนเอง เช่น การให้สิทธิพิเศษต่างๆ หรือให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นรายบุคคล

ครอบครัวคนใกล้ชิดใช้ "หัวใจ" ฟื้นฟูจิตใจ "หมูป่า"

การให้เด็กๆ อยู่กับครอบครัวและคนใกล้ชิด คือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

"ทั้ง 13 คน อยู่ในฐานะผู้รอดชีวิต สิ่งที่ควรทำคือไม่ใช่การเข้าไปซ้ำเติม แต่สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริมการเป็นกลุ่มเป็นก้อนของเขา เช่น การสนับสนุนให้เล่นฟุตบอลตามที่เขาถนัด ส่งเสริมในเรื่องความเข้มแข็งจนผ่านวิกฤติได้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี เขาคือผู้รอดชีวิต วีรบุรุษคือทีมช่วยเหลือทุกทีมที่มีการจัดการที่ดีทั้งทีมที่ได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณชนหรือที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอีกมากที่ร่วมมือกันจนเจอเด็ก" นพ.ยงยุทธ กล่าว



แนะสื่อสัมภาษณ์มุมบวกช่วยได้

ขณะที่ นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือคำแนะนำในการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยมาถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ (retraumatization) โดยให้ยึดแนวทาง 2 ประการ คือ 1.ควรทำหลังจากที่ผู้ประสบภัยได้พักและได้รับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัว จนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ก่อน


2.ในการสัมภาษณ์ควรมุ่งไปที่มุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกัน ให้กำลังใจกันในกลุ่ม วิธีการสร้างความหวังให้ตัวเองและเพื่อน ซึ่งจะทำให้ผู้เล่าเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองและเพื่อนๆ จะส่งผลให้จิตใจฟื้นตัวได้รวดเร็วและส่งผลไปถึงทางการฟื้นตัวทางกายด้วย ประการสำคัญสามารถจดจำประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ไปใช้ในเหตุการณ์คับขันอื่นๆ ได้ในอนาคต

ครอบครัวคนใกล้ชิดใช้ "หัวใจ" ฟื้นฟูจิตใจ "หมูป่า"

สพฐ.ให้โรงเรียนช่วยฟื้นฟู

ขณะเดียวกันภาคการศึกษาก็ต้องพร้อมรับมือ ธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การดูแลสภาพจิตใจของเด็กอยู่ในแผนการทำงานซึ่ง นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้กำชับและมอบนโยบายมาแต่ต้น



โดยหลังจากน้องๆ ทุกคนได้รับการฟื้นฟูสุขภาพ และเข้าสู่ระบบการศึกษา ทุกโรงเรียนก็จะเตรียมความพร้อมในการดูแลจัดการศึกษา ขณะที่ในด้านจิตใจก็จะมีการประสานกับแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถึงวิธีการการดูแลที่ถูกต้องเพราะอาจจะต้องดูระยะยาว โดยหลักการทำงานกรณีเด็กประสบกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ทำร้ายร่างกาย ถูกละเมิดทางเพศ จะมีการทำความเข้าใจกับทางโรงเรียนและครูถึงการดูแล ไม่ให้มีการถามซ้ำ ถามย้ำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะยิ่งตอกย้ำให้เด็กหวนไปคิดถึงสถานการณ์เดิมซ้ำอีก เพราะฉะนั้น กรณีนี้ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน



แนะเรียนรู้ความเข้มแข็งทีมหมูป่า

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ชีวิตและปฏิบัติการต่างๆ จะถูกถอดบบทเรียนเพื่อทุกคนในอนาคต แต่บทเรียนหนึ่งที่สะท้อนถึงทุกคนโดยเฉพาะพ่อแม่คือ การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ เฟซบุ๊ก "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" โดยหมอมินบานเย็น ได้โพสต์ข้อความว่าเรียนรู้ความเข้มแข็งทางใจของทีมหมูป่า_ภูมิต้านทานชีวิตที่ผู้ใหญ่สร้างได้

พร้อมคำแนะนำแก่พ่อแม่ถึงวิธีการที่ทำได้ 1.ความรักความเอาใจใส่ที่ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดควรมีให้เด็ก 2.ที่อยู่อาศัยของเด็กควรมีบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย 3.การมีเวลาคุณภาพที่มีให้กันและกัน 4.ปลูกฝังในเรื่องระเบียบวินัย ให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเอง รู้จักที่จะรอคอยให้เป็น

ครอบครัวคนใกล้ชิดใช้ "หัวใจ" ฟื้นฟูจิตใจ "หมูป่า"

5.การฝึกให้เด็กช่วยเหลือและทำอะไรด้วยตัวเองตามวัย 6.เวลาที่เด็กมีปัญหา ลองฝึกให้คิดแก้ปัญหาเองในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อันตราย เพราะทักษะการแก้ปัญหา (Problem-solving skill) เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้

7.การชมเชยให้กำลังใจอย่างเหมาะสม 8.สอนให้เด็กรู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจและยอมรับอารมณ์ 9.ควรให้เด็กเรียนความผิดหวังในเวลาที่จำเป็น 10.ให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทำ 11.อย่าลืมยอมรับในตัวตนและให้โอกาสเด็ก

12.ผู้ใหญ่ควรจัดการกับความคาดหวังของตัวเองให้เหมาะสม และ 13.ผู้ใหญ่และพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเรียนรู้ด้วย ซึ่งไม่สามารถสร้างได้ในวันสองวัน แต่ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจ ความอดทนและเสียสละของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ค่อยๆ สร้างตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ จึงจะได้ผลดี

ครอบครัวคนใกล้ชิดใช้ "หัวใจ" ฟื้นฟูจิตใจ "หมูป่า"

logoline