svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ข้อดี–ข้อเสีย! รัฐบังคับ"เก็บร้อยละ15"ภาษีเงินดิจิทัล

19 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาษีร้อยละ 15 กลายเป็นประเด็นสำคัญของกลุ่มนักลงทุนสกุลเงินแห่งอนาคต หรือ "ดิจิทัลมันนี่" ในประเทศไทย ตลาดเงินกลุ่มนี้กำลังเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ ตัวเลขปี 2561 ปริมาณซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล (digital currency exchanges : DCE) ในประเทศไทย มีมูลค่ากว่าวันละ 300 ล้านบาท...

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อควบคุมการซื้อขายและเปิดช่องให้กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีอย่างเป็นระบบ ได้แก่ "พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561" เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม และ "พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561" บังคับใช้ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

เนื้อหาสาระสำคัญมีหลายหมวดหมู่ หนึ่งในนั้นคือกำหนดให้ผู้ทำธุรกิจทั้งคนซื้อ คนขาย คนโอน หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง หากมีกำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินดิจิทัลต้องหักเก็บไว้นำจ่ายภาษีในอัตราร้อยละ 15

ข้อดี–ข้อเสีย! รัฐบังคับ"เก็บร้อยละ15"ภาษีเงินดิจิทัล

"สาโรช ทองประคำ" ผอ.กองกฎหมาย กรมสรรพากร อธิบายการจัดเก็บภาษีเงินดิจิทัล หรือเรียกตามกฎหมายใหม่ว่า "สินทรัพย์ดิจิทัล" กำหนดให้นำรายได้จากกำไรหรือผลประโยชน์จากการเงินคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล มาตีราคาเป็นเงินบาทแล้วเสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ และต้องนำรายได้ทั้งปีมาคำนวณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย แต่อาจพิจารณายกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

"ข้อดี" ของกฎหมายข้างต้นคือ ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีให้แผ่นดิน จากเดิมการซื้อขายเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ ยังไม่มีกฎหมายบังคับ แหล่งศูนย์กลางซื้อขาย ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ หลีกเลี่ยงภาษีมานานหลายปี ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายนี้ยังบังคับให้ผู้ประกอบการต้องมาขอใบอนุญาต มีการยืนยันตัวตนลูกค้า รวมถึงข้อมูลเส้นทางการเงินให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อป้องกันการฟอกเงินจากเงินผิดกฎหมาย มิเช่นนั้นจะมีโทษจำคุกทางอาญาและโทษปรับทางแพ่ง

ข้อดี–ข้อเสีย! รัฐบังคับ"เก็บร้อยละ15"ภาษีเงินดิจิทัล

อธิบายง่ายๆ คือ หากใครซื้อเงินดิจิทัล หรือ "คริปโตเคอร์เรนซี" รวมถึงการถือครองโทเคนดิจิทัล หากตอนขายสามารถทำกำไรหรือได้กลับมาเข้ากระเป๋ามากกว่าเงินที่จ่ายซื้อไป บริษัทหรือตัวกลางที่รับซื้อขายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน นอกจากนี้บริษัทที่เป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แต่สามารถขอคืนภาษีได้หรือหักค่าใช้จ่ายต่างๆ

สำหรับประเทศอื่นๆ นั้น บางประเทศเปิดเสรีไม่เก็บภาษี เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เพราะถือเป็นการลงทุน มีกำไรขาดทุนไม่แน่นอน และเพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยีนี้เติบโต จึงยังไม่มีการเก็บภาษี แต่สำหรับบางประเทศเรียกเก็บถึงร้อยละ 1020 หรือยกเว้นภาษีให้บางส่วน หากได้กำไรเกินกว่าที่กำหนดไว้ ต้องเสียภาษีเช่น อังกฤษ อเมริกา

"สถาพน พัฒนะคูหา" กรรมการผู้จัดการบริษัท สมาร์ทคอนแทรคท์ ไทยแลนด์ (Smart Contract Thailand) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน วิเคราะห์ "ข้อดี" ของกฎหมายฉบับนี้ว่า หากพิจารณาภาพรวมถือว่าดีมาก เพราะมีการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันการปั่นราคา ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายด้วยข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ บังคับให้มีระบบป้องกันข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และผู้ประกอบการต้องมีเงินลงทุนหรือเงินประกันพอสมควร

"แต่ข้อเสียคือการกำหนดภาษีไว้สูงถึงร้อยละ 15 น่าจะเป็นการอิงตัวเลขมาจากภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ซื้อขายหุ้นตอนนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี ปัญหาคือจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า กำไรหรือขาดทุน เช่น ซื้อบิทคอยน์มานานมาก แต่เพิ่งไปแลกเป็นเงินโอนเข้ามา ตอนซื้อ 1 บิทคอยน์เท่ากับ 1 แสนบาท ตอนนี้ 2 แสนบาท ซื้อมาหลายปีก่อนมีกฎหมายด้วย หากคิดจากส่วนต่างทำได้ยากเพราะไม่มีราคากลาง ไม่เหมือนซื้อขายที่ดินมีราคากลางประเมินไว้"

ข้อดี–ข้อเสีย! รัฐบังคับ"เก็บร้อยละ15"ภาษีเงินดิจิทัล

สถาพน กล่าวต่อถึงสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท "โทเคน" หรือพวกแต้มคะแนนสะสม แต้มเกม คอยน์ หรือพอยท์สินค้าต่างๆ การมาคิดเก็บภาษีจากส่วนที่เป็นกำไรนั้น อาจมีปัญหาเรื่องของหลักฐานว่ามาจากไหน ราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนคิดที่ต้นทุนเท่าไร คิดอย่างไร หมายความว่ากรมสรรพากรอาจต้องมีการตั้งกฎเกณท์เหล่านี้ขึ้นมาให้ครบถ้วน ครอบคลุมและเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นกลุ่มผู้ทำธุรกิจหรือลูกค้าจะหลีกเลี่ยงไปทำธุรกรรมในต่างประเทศแทน ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเทคโนโลยีเงินดิจิทัลของประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (kasikornresearch.com) รายงานบทความวิเคราะห์ว่า การกำหนดอัตราภาษีหักร้อยละ 15 ถือเป็นมาตรฐานการเก็บภาษีเดียวกับกรณีตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนให้ผู้ซื้อเน้นการลงทุนระยะยาว มากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า กฎหมายใหม่นี้อาจกระทบต่อการพัฒนาช่องทางการระดมทุนใหม่ๆ สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ และการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบการเงินและโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีของประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่สร้างความชัดเจนทางกฎหมาย โดยจำแนกชนิดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสองชนิด คริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล และแบ่งธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ 4 ประเภท ได้แก่ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล(เปรียบเสมือนตลาดกลาง) 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล(บุคคลที่ทำหน้าที่คล้ายศูนย์ซื้อขาย แต่ดำเนินการซื้อขายนอกศูนย์หรือนอกตลาดกลาง) 4.กิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

"พราวพร เสนาณรงค์" ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. อธิบายให้ "คม ชัด ลึก" ฟังว่า ข้อดีของการออกกฎหมายควบคุมธุรกิจเกี่ยวกับเงินดิจิทัลจะช่วยลดปัญหาการฟอกเงิน เนื่องจากกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำให้ต้องมีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ผู้เสนอขาย เสนอซื้อ แลกเปลี่ยน โทเคนดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี ต้องทำผ่านผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น ป้องกันมิให้กลายเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การฟอกเงิน หรือการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

ข้อดี–ข้อเสีย! รัฐบังคับ"เก็บร้อยละ15"ภาษีเงินดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงประชาชนคุ้มครองผู้ลงทุนจากการถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบเนื่องจากมีกระบวนการกลั่นกรองคุณสมบัติผู้ประกอบการอย่างละเอียด และทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอต่อการตัดสินใจในการลงทุน ส่วนเรื่องการเสียภาษีร้อยละ 15 นั้น ผู้บริหาร ก.ล.ต. กล่าวว่าเป็นแนวทางการเสียภาษีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพากร

ด้าน ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผอ.ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเงินและการธนาคารแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีร้อยละ 15 ว่า เงินดิจิทัลบางครั้งไม่ได้มาจากการซื้อขาย เช่น บางคนขุดบิทคอยน์ขึ้นมาเอง ไม่ได้ลงทุนเอาเงินไปซื้อมา แบบนี้จะเอาอะไรมาวัดว่ามีกำไรเท่าไร

"ตอนนี้คนทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่าย ให้เก็บเฉพาะรายได้จากเงินปันผลเท่านั้น แล้วถ้ามาเก็บกับผู้ซื้อขายคริปโตฯ หรือเงินดิจิทัลหรือโทเคน จะเกิดคำถามว่ารัฐต้องการส่งเสริมการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ เพราะคริปโตฯ มีความแตกต่างจากหุ้นและหุ้นกู้ ผลกระทบระยะสั้นที่เห็นได้ชัดคือนักลงทุนรายย่อยที่เคยซื้อขายในตลาดคริปโตฯ อาจเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มส่วนตัว เช่น เว็บไซต์ที่เปิดให้คนซื้อกับคนขายเสนอราคาทำธุรกรรมกันโดยตรง ไม่ต้องผ่านนายหน้าหรือธนาคารกลาง ถือเป็นการซื้อขายที่รวดเร็ว ปลอดภัยและเป็นความลับ ถ้าคนส่วนใหญ่หลบไปใช้วิธีนี้ ยิ่งทำให้รัฐบาลแทบไม่มีโอกาสไปควบคุม หรือตรวจสอบตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขายได้เลย อยากให้พิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียด เพราะกฎหมายฉบับนี้ยังพอเปิดช่องให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเว้นได้" ศ.ดร.อาณัติ กล่าวแนะนำ

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญของกฎหมายเงินดิจิทัลทั้ง 2 ฉบับ คือต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในระบบ ป้องกันการฟอกเงิน การหลอกลวงผู้บริโภคหรือการทำผิดกฎหมายอื่นๆ แต่ถ้าเรียกเก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 15 อาจทำให้นักลงทุนหรือนักพัฒนาเทคโนโลยีเงินดิจิทัล หลีกเลี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศแทน

อย่าลืมว่ายุคอินเทอร์เน็ตไร้สายนั้น เป็นยุคไร้พรมแดน ข้อมูลสำคัญที่รัฐอยากจัดเก็บรวบรวมไว้นั้น ประเมินแล้วอาจมีมูลค่ามากกว่าภาษีเหล่านี้

ยิ่งเรียกเก็บภาษีมากเท่าไร คนก็ยิ่งหลีกหนีเอาข้อมูลไปหลบซ่อนมากเท่านั้น เพราะนี่คือ กลยุทธ์ข้อแรกของการทำธุรกิจในโลกไร้ตัวตน

          เปรียบเทียบอัตราเก็บ "ภาษี...เงินดิจิทัล"
          เยอรมนี -บุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี นอกจากซื้อขายภายใน 1 ปี ต้องเสียภาษี 25%
          สวิตเซอร์แลนด์ -บุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี นอกจากบริษัทหรือผู้ซื้อขายเงินดิจิทัลเป็นอาชีพ
          โมนาโก  -ไม่ต้องเสียภาษี 0-20%
          สหรัฐอเมริกา -บุคคลธรรมดาเสียภาษี ซื้อขายหลัง 1 ปี
          อังกฤษ   -เสียภาษี 1020% บุคคลธรรมดายกเว้นภาษีประมาณ 2 ล้านบาท
 
 
 

logoline