svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

สนช.หลังยาว! ความผิดสื่อหรือ?

11 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาพ 2 สนช.ที่หลับคาห้องประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท ในวาระแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา สร้างผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์การทำงานของ สนช.


เมื่อสื่อมวลชนบางส่วนนำภาพเหล่านั้นเผยแพร่ต่อสาธารณะนำมาซึ่งคำวิจารณ์ต่อการทำงานของ สนช.ที่รวมๆ คือ "ไม่เหมาะสม" จนนำมาสู่การแถลงขอโทษของพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ที่แม้จะอ้างว่า 2 สนช.ป่วยด้วยโรคต่างๆ แต่ก็ยังกล่าว "ขอโทษ" ต่อความไม่เหมาะสมแม้ว่าพีระศักดิ์จะไม่ใช่ 2 สนช.ที่มีพฤติการณ์เช่นนั้น สมกับการขึ้นมาเป็น "ผู้นำของสภาฯ" โดยแท้จริง



แต่ที่น่าแปลกใจที่สมชาย แสวงการ สนช. (อดีตสื่อ) ลุกขึ้นมาอภิปรายถึงการทำหน้าที่สื่อและการเผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน กล่าวหาว่ามีการบิดเบือนโจมตีการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย และยังมีการเผยแพร่ภาพ สนช.นั่งหลับทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าสิ่งเดียวที่ไม่เคยปฏิรูปตัวเองเลยคือ "สื่อมวลชน" ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความบิดเบือน สร้างความขัดแย้ง



คำภิปรายที่รุนแรงเกินเหตุทั้งที่เคยเป็นสื่อไม่รู้หรืออย่างไรว่านี่คือการเสนอความจริง มีภาพไหนที่นำไปเสนอแล้วบิดเบือนดังคำอภิปรายที่เมามันของ สนช.สมชาย เพราะทั้ง 2 สนช.ที่ตกเป็นข่าวก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเพียงแต่ไม่ขอชี้แจง และที่สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เสนอภาพอันไม่เหมาะสมในระหว่างการประชุม ก็เพื่อเตือนสติ สนช.ผู้ทำหน้าที่แทนผู้แทนปวงชนในรัฐบาลและรัฐสภา ท็อปบูท นอกจากจะทำหน้าที่พิจารณากฎหมายท่านยังกินเงินเดือนอันเป็นภาษีประชาชนคนละกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน (เงินเดือน+เงินประจำตำแหน่ง)



อีกทั้ง สนช.คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และถ้าหากไม่อยากถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็พึงทบทวนอย่าเป็นบุคคลสาธารณะ อย่ากินเงินเดือนและค่าตอบแทนอันเป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศ กลับไปเลี้ยงลูก เลี้ยงหลานหรือทำกิจการของตัวเองที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร นั่นแหละสื่อถึงไม่มีสิทธิ์เสนอ "ความเป็นส่วนตัว" ของเขาได้



สนช.หลังยาว! ความผิดสื่อหรือ?


ความจริง "ความรู้พื้นฐาน" ของการทำหน้าที่ "สื่อมวลชน" สมชาย แสวงการ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ น่าจะรู้ดีไม่ต้องเล่าให้ฟังอีก แต่วิญญาณสื่อในตัวคนของสมชาย อาจจะจืดจางหรือมอดลงไปเพราะกว่า 1 ทศวรรษ สมชายได้รับการคัดเลือกจากคณะรัฐบาลสองยุค (19 ก.ย.2548 และ 22 พ.ค.2657) ให้เป็น สนช. ช่วงรอยต่อก็ยังได้รับการสรรหาล่วงหน้าจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากสัดส่วนสรรหา (ไม่ใช่สัดส่วนเลือกตั้ง)



ถามว่าพฤติกรรมนั่งหลับในสภาเป็นพฤติกรรมที่เคยมีมาในยุคเลือกตั้งและสื่อมวลชนก็ทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวอยู่เนืองๆ แล้วถ้าสื่อมวลชนยังทำหน้าที่อย่างเดิม วนเสนอพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ผิดด้วยหรือ หรืออาจจะผิดตรงที่ต้อง "ห้ามนำเสนอในยุคสภาท็อปบูท"



ไม่ใช่ว่าสื่อมวลชนแตะต้องไม่ได้ การปฏิรูปสื่อมวลชนยังจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปและมีการถกเถียงเพื่อหา "มาตรฐาน" และการทำหน้าที่ที่ถูกต้องอยู่สม่ำเสมอทั้งทางการและไม่ทางการ แต่กรณีนี้มิใช่เหตุที่ "สื่อต้องปฏิรูป" อย่างที่ สนช.สมชาย กล่าวอ้าง หากแต่องค์กรที่ต้องปฏิรูปอย่างยิ่งยวดคือสมาชิกสภาทั้ง สนช.ในปัจจุบันและสมาชิกรัฐสภาในอนาคตที่ต้องเลิก "หลังยาว" กินเงินภาษีของประชาชนโดยทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์



ถูกต้องอย่างที่สุดเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้คาดโทษผู้ที่ปรากฏในภาพอันไม่เหมาะสมที่ขึ้นบัญชี "ห้าม" ทำหน้าที่ต่อในโอกาสต่อไป "ได้ส่งภาพให้ประธาน สนช. ซึ่งท่านก็เห็นแล้ว เดี๋ยวก็ไปซักกันเอง ก็อยู่ที่ทุกคนนั้นแหละ ใครที่หลับคราวหน้าก็เป็นอะไรไม่ได้อีกต่อไปอยู่แล้ว ผมดูไว้หมด หลับก็ไม่ได้เป็นอะไร ไปนอนที่บ้าน แต่วันนี้อยู่ให้มันจบไปก่อน"



คำประกาศอันแข็งกร้าวและชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้บรรดาทั้ง สนช. และนักสังเกตการณ์ทางการเมืองต่างลงความเห็นว่า (ถ้ามีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมนั่นอาจจะ "อดเป็นสมาชิกวุฒิสภา" หรือตำแหน่งอื่นใดในอนาคต หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบสอง และนี่คือสาเหตุหรือไม่ที่ทำให้ สนช.บางส่วนที่นำโดยสมชาย แสวงการ ออกมาโวยสื่อที่นำภาพ สนช.หลับระหว่างการประชุมตีแผ่ให้สาธารณชนเห็น ถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงคิดได้เองว่าการทำหน้าที่ในการเผยแพร่ครั้งนี้ของสื่อผิด บิดเบือน สร้างความแตกแยกตรงไหน ความผิดที่เกิดขึ้นของการนั่งหลับระหว่างการประชุมควรจะเป็นความผิดและความรับผิดชอบของใคร ระหว่างสื่อกับสนช.

logoline