svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไอที

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย

09 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไทยมีปริมาณหุ่นยนต์ที่ใช้งานติดอันดับ 7-8 ของโลก 1 ในนั้นอยู่ในหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ รวมถึง หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ในรถพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีส่วนช่วยคุณภาพชีวิตของคนยุคนี้ให้ดีขึ้น ในอดีตการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีความซับซ้อน ส่วนหลังของคนเรา นอกจากมีกระดูกสันหลังแล้ว ยังมีเส้นประสาทที่สำคัญ รวมถึงเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำใหญ่ด้วย ปัจจุบันมีนวัตกรรมทางการแพทย์ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล่าให้ฟังว่า การผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบัน มากกว่าครึ่งหนึ่งจะมีการใส่อุปกรณ์เข้าไปในกระดูกสันหลัง ซึ่งอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปจะเป็นสกรู การใส่สกรูในกระดูกสันหลังในตำแหน่งที่ดีค่อนข้างลำบาก เพราะบริเวณกระดูกสันหลังที่สามารถฝังสกรูเข้าไปได้ และไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ จะค่อนข้างเล็ก มีพื้นที่ใหญ่กว่าตัวสกรูไม่ถึง 1 มิลลิเมตร หากศัลยแพทย์ไม่มีความชำนาญ อาจเกิดความผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยต้องเป็นอัมพาตได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายต่ออีกว่า นวัตกรรมทางการแพทย์ปัจจุบัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังไม่น่ากลัวอีกต่อไป ภายหลังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดยาสำหรับผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2551 นับเป็นเทคโนโลยีการจัดการยาที่มีความแม่นยำสูง รวดเร็ว และช่วยป้องกันความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการจัดจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยจะได้รับยาที่ถูกต้อง ถูกขนาด ถูกเวลา เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง


ขณะเดียวกันในปี 2559 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำหุ่นยนต์ Da Vinci เพื่อใช้ในการผ่าตัดรักษามะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urology) โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากที่ให้ผลดีขึ้น การผ่าตัดทางนรีเวช ศัลยกรรมระบบช่องท้อง


หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย


สำหรับทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ด้านหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น ถือเป็นพัฒนาการด้านการผ่าตัดของศัลยแพทย์และพัฒนาการของหุ่นยนต์ที่นับวันจะมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ที่สำคัญช่วยให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดด้วยความแม่นยำสูง เนื่องจากศัลยแพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน


การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการใช้เทคนิคใส่สกรูยึดกระดูกสันหลัง แบบแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimal invasive surgery) เริ่มนำมาใช้ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ปี 2556 โดยเริ่มจากการ X ray แบบ 2 มิติ และพัฒนามาใช้ O Arm Navigator มีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 600 ราย


เทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพและผลการรักษามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากวงการแพทย์และจากกลุ่มผู้ป่วย โดยในปี 2561 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้พัฒนาการผ่าตัดกระดูกสันหลังไปอีกก้าวหนึ่งโดยการนำเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์กำหนดพิกัด มาช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง


หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย




สำหรับเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์กำหนดพิกัดและผู้ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลังนี้มีจุดเด่น คือการกำหนดพิกัดอย่างแม่นยำโดยศัลยแพทย์เป็นผู้วางแผนตำแหน่ง และทิศทางของการใส่สกรู นอกจากนี้ แขนกลหุ่นยนต์นี้สามารถงอ หมุน และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระทุกทิศทาง ซึ่งช่วยลดเวลาในการผ่าตัดลง อีกทั้งศัลยแพทย์ยังสามารถมองเห็นภาพจากมอนิเตอร์แบบ 3 มิติ ขณะที่ทำได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลงและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากการผ่าตัดเนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก จึงเกิดความบอบช้ำของแผลผ่าตัดน้อย ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น


การผ่าตัดไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่แขนกลหุ่นยนต์ที่ล็อกพิกัด ซึ่งช่วยทำหน้าที่หาตำแหน่งและทิศทางที่ปลอดภัยในการใส่สกรูเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ในการใส่สกรูอย่างปลอดภัยอีกด้วย  การแขนกลหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของศัลยแพทย์ ทำให้ศัลยแพทย์มีเวลาใส่ใจในส่วนที่ละเอียดอ่อนของการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ดียิ่งขึ้น เช่น การผ่าตัดเพื่อลดการกดทับเส้นประสาท


การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยแขนกลหุ่นยนต์ช่วยนี้ เป็นแนวทางการรักษาหนึ่งในหลายวิธีที่จะรักษาอาการปวดหลัง ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำตามอาการและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ตลอดจนสาเหตุของอาการปวดหลัง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา จนถึงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนั้นก็มีการผ่าตัดหลายวิธีเช่นกัน ทั้งนี้จะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมที่สุด สำหรับแนวโน้มของผู้เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังนั้น จัดให้เป็นโรคแห่งการเสื่อมตามสภาพร่างกายตามอายุที่มากขึ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วนราว 80-90% ในการเสื่อมของกระดูกสันหลัง ซึ่งจากวิทยาการที่ก้าวหน้าด้านต่างๆ ส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนนานมากขึ้น ทำให้ยิ่งพบอาการเสื่อมของกระดูกสันหลังสูงขึ้นเช่นกัน โดยยังสามารถพบในกลุ่มผู้มีอายุน้อยด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเสื่อมของกระดูกสันหลัง ซึ่งอนาคตเชื่อว่าหุ่นยนต์จะเป็นสมาร์ทแมชชีนหรือจักรกลอัจฉริยะเข้าใจคำสั่งได้มากขึ้นและจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์



หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย

logoline