svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เงินพนันบอลเฉียด 6 หมื่นล้านรัฐดัน "ควบคุมพนัน" วาระชาติ

08 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงเวลาที่คอบอลทั่วโลกรอคอยมานานถึง 4 ปี "มหกรรมฟุตบอลโลก 2018" ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพกำลังจะเปิดฉากในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ยาวไปจนถึง 15 กรกฎาคม ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่คลั่งไคล้ฟุตบอลและเกาะติดตารางการแข่งขันท่ามกลางการตื่นตัวของทุกภาคธุรกิจ แคมเปญต่างๆ ผุดขึ้นดึงดูดทุกเพศวัย ให้ร่วมสนุกในมหกรรมฟุตบอลโลก

"เงินพนันไหลไปต่างประเทศมากขึ้นประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาทจากเงินพนันทั้งหมด เพราะนิยมเล่นในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น" นายธนวรรธน์ พลวิชัย



สิ่งที่เกิดความกังวลขึ้นพร้อมๆ ความสนุกที่มากับเกมการแข่งขัน ภัย "พนัน" เพราะไม่ใช่แค่นักพนันกลุ่มคนวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังเกิดนักพนันหน้าใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวล้ำทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา จาก "โต๊ะพนันบอล" ออฟไลน์ กลายเป็น "นักพนันออนไลน์" ว่ากันว่ามีช่องทางดึงดูดให้หลงสู่วงจรการพนันมากกว่า 10,000 เว็บไซต์ สร้างเม็ดเงินมหาศาล ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างงัดมาตรการหวังสกัดล้อมคอกป้องกันการพนันบอล



บอลโลกเงินสะพัด 7 หมื่นกว่าล้านบาท


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2561 ทั่วประเทศ คาดการณ์ว่าช่วงฟุตบอลโลกจะมีเงินสะพัด 78,385.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% เมื่อเทียบกับเทศกาลบอลยูโร 2016 มีเงินสะพัด 76,541.15 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับบอลโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ใช้เงิน 9 หมื่นกว่าล้านบาท อาจจะไม่คึกคักเท่า โดยการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ บอลโลก 2018 มีเพียง 17,901.75 ล้านบาท หรือเติบโต 4.1% สาเหตุมาจากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบกระจุกตัว คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะมองถึงรายได้ยังต่ำกว่ารายจ่าย อีกทั้งทีมฟุตบอลที่โปรดที่ชื่นชอบหายไป เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ทำให้กระแสการรอชมจึงน้อยและการจัดโปรโมชั่นยังล่าช้ากว่าปกติ มีการถ่ายทอดฟรีทั้งหมด และปีนี้ส่วนใหญ่ 60% ชมการแข่งขันผ่านอินเทอร์เน็ตจากมือถือ คอมพิวเตอร์



ส่วนเงินที่นำมาใช้จ่ายมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ 61.0% เงินออม 18.8% โบนัส/รายได้พิเศษ 16.7% กู้ยืม 1.9% จากผู้ปกครอง 1.6% และอื่นๆ 0.1% ส่วนช่องทางการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฟุตบอลโลก 65.3% ติดตามผ่านอินเทอร์เน็ต



พนันบอลใช้เงินเฉียด 6 หมื่นล้านบาท


นายธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ (พนันบอล) ปีนี้คาดว่ามีใช้เงิน 58,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% ดังนั้นเมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ส่วน จะเพิ่มขึ้น 2.4% จาก 4 ปีก่อน หรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 0.2-0.3 พฤติกรรมการเล่นพนันบอล พบว่า 57.7% ไม่เล่น 34.2% เล่นเฉพาะทีมที่ชอบ 6.6% เล่นบางนัด และ 1.5% เล่นทุกนัด ซึ่งรูปแบบเล่นพนัน 78.3% ใช้เงินสด 14.0% อาหาร 7.3% สิ่งของ และ 0.4% อื่นๆ ส่วนสาเหตุเล่นพนันบอล พบว่า 54.9% รางวัลจากการพนันบอล 26.2% การชักชวนของเพื่อน 12.1% ความสนุก และ 6.8% เป็นแฟชั่น



จำนวนเงินที่ใช้เล่นพนันบอลเฉลี่ย 5,872.50 บาทต่อการเล่นพนันบอลตลอดการแข่งขัน และเฉลี่ย 2,065.56 บาทต่อการพนันในนัดที่เล่น เงินต่อนัดได้รับที่ประมาณ 6,569.12 บาท ส่วนการวางเงินเดิมพัน พบว่า 56.8% เงินเดิมพัน 1,001-5,000 บาท, 15% เงินเดิมพัน 501-1,000 บาท, 13.4% เงินเดิมพัน 101-500 บาท, 10.9% เงินเดิมพัน 5,001-10,000 บาท, 3.2% เงินเดิมพัน 10,001-50,000 บาท, 0.4% ต่ำกว่า 100 บาท และ 0.3% มากกว่า 50,001 ขึ้นไป



"เมื่อเปรียบเทียบการพนันฟุตบอลโลก 2018 กับช่วงต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการเล่นพนันบอลเพิ่มขึ้น 56.9% สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากสุดคือกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ที่น่าจับตาคือเงินพนันไหลไปต่างประเทศมากขึ้นประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาทจากเงินพนันทั้งหมด เพราะนิยมเล่นในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะอยากให้มีการประกาศให้ "การควบคุมพนัน" เป็นวาระแห่งชาติ และไม่เห็นด้วยที่ให้เปิดการพนันอย่างถูกกฎหมาย



เฝ้าระวัง 30 วันอันตรายบอลโลก


นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การแข่งขันฟุตบอลแมทช์ต่างๆ สามารถดึงความสนใจคอบอลอยู่แล้ว ยิ่งเป็นลีกใหญ่ๆ อย่าง ฟุตบอลโลก ยิ่งกระตุ้นทั้งคนที่มีความชอบ หรือบางคนที่อยากรู้อยากลอง ดังนั้นตลอด 1 เดือนช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ถือเป็นวันอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดวงจรนักพนัน



11 องค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันกำหนด 4 มาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอล ดังนี้


1.การสื่อสารและสร้างความตระหนักสังคม โดยเฉพาะผลกระทบจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน การประชาชนสัมพันธ์สายด่วนแจ้งเบาะแส


2.มาตรการป้องกัน เพื่อลดผลกระทบจาการพนันฟุตบอลออนไลน์ สนับสนุนการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนพร้อมเครือข่ายต่างๆ ในการทำกิจกรรมป้องกัน


3.มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉาะในร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต


4.มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะไปบูรณาการปรับใช้ให้เหมาะสม



"บอลโลกปีนี้ต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมา เพราะตอนนี้มีช่องทางมากมายในการเล่นพนัน โดยเฉพาะการเล่นพนันออนไลน์ที่บางครั้งเพียงเข้าเว็บก็มีโฆษณา คำชักชวนแฝงให้คนเข้าลองเล่น พอเล่นก็ติดใจจนกลายเป็นติดพนัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดลุกลามไปสู่วงจรอื่นๆ เช่น การเป็นหนี้ อาชญากรรม สิ่งที่น่าห่วงคือเด็กและเยาวชน พบว่าเด็ก 7 ขวบเริ่มเล่นพนันแล้ว ขณะที่หนี้จากการพนันของเด็กประมาณ 300 กว่าล้านบาท เฉลี่ย 3,000 บาทต่อคน ดังนั้นนอกจากเฝ้าระวังช่วงการแข่งขันไม่ให้เด็กเยาวชนเข้าไปสู่วงจรการพนัน ต้องระวังหลังการแข่งขัน โดยให้ความรู้ที่ถูกต้อง และทุกภาคส่วนร่วมสรุปแนวทางแก้ปัญหาพนันฟุตบอลโลกเสนอให้รัฐบาล และรัฐบาลควรประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาพนันบอลอย่างจริงจังไม่ใช่พอถึงฤดูกาลแล้วประกาศมาตรการ" นายพงศ์ธร กล่าว



อย่างไรก็ตามช่วงฟุตบอลโลกปีนี้ตรงกับช่วงเปิดภาคเรียน สถานศึกษาทุกระดับทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกประกาศมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาการเล่นพนันบอลในสถานศึกษาเข้ม มีการเฝ้าระวังดูแลนักเรียนนักศึกษาใกล้ชิด ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวการพนัน จัดกิจกรรมให้ความรู้ บันทึกการแข่งขันเปิดชมเวลาเหมาะสม หากครู ผู้บริหารละเลยหรือประพฤติปฏิบัติไม่เป็นแบบอย่างจะได้รับโทษทางวินัยด้วย

logoline