svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สำรวจเขื่อนลาว กับเป้าหมาย "หม้อไฟแห่งเอเชีย"

06 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านเกิดเหตุไฟฟ้าดับในโซนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากสาเหตุระบบกระแสไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าทางฝั่งลาวที่จ่ายไฟมายังฝั่งไทยขัดข้อง สะท้อนว่าไฟฟ้าจากฝั่งลาว ส่งผลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของคนไท



เขื่อนคอนกรีตทอดตัวยาวขวางลำน้ำงืม คือ "เขื่อนน้ำงืม 1" เป็นหนึ่งในเขื่อนใหญ่อีกเกือบร้อยเขื่อนที่มีอยู่ในประเทศลาว และบางเขื่อนอยู่ระหว่างการก่อสร้าง


เป้าหมายการสร้างเขื่อนในลาวมีความแตกต่างจากไทยที่ใช้เพื่อเก็บกักน้ำ เพื่อการชลประทาน แต่เขื่อนลาวส่วนใหญ่สร้างขวางลำน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้า แทบไม่เก็บน้ำ


แม้เป็นประเทศเล็กๆ แต่ลาวก็มีแม่น้ำใหญ่นับสิบสาย พื้นที่มากกว่าครึ่ง เป็นป่าไม้ และเทือกเขา จึงมีน้ำมาก เฉพาะแม่น้ำงืมสายนี้ มีความยาวจากต้นทางคือเทือกเขาภูเพียง ถึงแม่น้ำโขง 353 กิโลเมตร


รองผู้อำนวยการเขื่อนน้ำงืม ประเมินดูแล้วพบว่าแม่น้ำงืมทั้งสาย มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,600 เมกะวัตต์ "สมใจ สีจันทะลาด" บอกว่าแม่น้ำงืม ปัจจุบันมีเขื่อนขวางกั้น 3 เขื่อน และกำลังวางแผนก่อสร้างอีก 2 เขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่ม


แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าลาวบอกกับ "วชิรวิทย์" ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีคของลาว อยู่ที่ประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับไทย ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์


ทั้งนี้เพราะว่าลาวมีประชากรเพียง 6.8 ล้านคน ส่วนไทยมีประชากร 68 ล้านคน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 6,441 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตเกินมาถึง 5,000 เมกะวัตต์ ส่งขายไทย และประเทศเพื่อนบ้าน


ด้วยตั้งเป้าหมาย ว่า ลาวจะเป็น หม้อไฟ แห่ง เอเชีย ทำให้ปี 2020 การไฟฟ้าลาว ตั้งเป้าผลิตไฟได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 9,685 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าสูงสุดว่าจะผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ในอนาคต


ถ้าลาวตั้งเป้าจากผลิตไฟฟ้าได้มากขนาดนั้น ก็จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่นๆ และสร้างเขื่อนอีกจำนวนมาก


ขึ้นชื่อว่า "เขื่อน" มักถูกกล่าวถึงว่าโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะ นโยบาย "หม้อไฟแห่งเอเชีย" ทำให้ลาวพ้นจากประเทศรายได้น้อย ขยับมาสู่ประเทศรายได้ปานกลางในทุกวันนี้ และกำลังพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียน





บมจ.ผลิตไฟฟ้าลาวจ่อระดมทุนไทย 1.75 หมื่นล้านบาท


บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) เตรียมระดมทุนในทุนครั้งที่ 3 โดยออกหุ้นกู้วงเงินประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.75 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง โครงการละร้อยละ 20 โดยช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้จะมีการออกโรดโชว์นักลงทุนไทย


เขื่อนน้ำงืม 1 คือ 1 ใน 10 ในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) เฉพาะเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้รวมกัน 619 เมกะวัตต์ และเขื่อนน้ำงืมแห่งนี้ ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 155 เมกะวัตต์ ทั้งยังกำลังมีการก่อสร้างประตูน้ำเพิ่ม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 275 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าบางส่วนที่ผลิตได้จากเขื่อนน้ำงืม ถูกส่งมาขายต่อให้กับการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย


นอกจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าแล้ว บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) ยังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อีก 518 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับไฟฟ้าพลังน้ำทำให้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมถึง 1,137 เมกะวัตต์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังงานสะอาดทั้งสิ้น


"ดร.บุญสลอง สุทธิดารา" รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) บอกว่า ทิศทางหลังจากนี้คือการตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 2,400 เมกะวัตต์ ในปี 2566 นอกจากการสร้างโรงไฟฟ้าเองแล้ว อีกทางหนึ่งคือการร่วมลงทุน โครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่เป็นทุนไทย และโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ที่เป็นทุนมาเลเซีย ทั้ง 2 เขื่อนใหญ่ คาดว่าจะขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2562 เป็นสิ่งที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) ต้องการเข้าไปร่วมลงทุน โครงการละร้อยละ 20 คิดเป็นกำลังการผลิตในส่วนของบริษัท ที่จะได้เพิ่ม 309 เมกะวัตต์


เพื่อให้การระดมทุนจากนักลงทุนไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว จึงว่าจ้างให้ "บริษัท ทวิน ไพน์ กรุ๊ป จำกัด" ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ไปดำเนินการศึกษาแนวทางการระดมทุน โดยให้คิดเผื่อไปถึงหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2562 และเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมด้วย รวมเป็นเงินที่ต้องการระดมทุนครั้งนี้ประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 หมื่น 7 พัน 5 ร้อย ล้านบาท


"อดิศร วสุคุปต์ สิงห์สัจจะ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทวิน ไพน์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว มีหนี้สินต่อส่วน ของผู้ถือหุ้นเพียง 1.1 เท่า ยังมีความสามารถในการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ได้อีกมาก


ที่ผ่านมาการเสนอขายหุ้นกู้ของ บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว ในประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่เป็นการซื้อโดยกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งหมด ไม่ถึงมือของนักลงทุนรายใหญ่ทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะกำหนดอัตราผลตอบแทน ผู้จัดจำหน่าย และวิธีการจัดจำหน่าย ได้ภายในไตรมาสที่ 2 และคาดว่า จะเสนอขายได้ไม่เกินไตรมาสที่ 3 ของปีนี้



FYI EDL-GEN เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (hydropower generation) รายใหญ่ของลาวที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไฟฟ้าไปขายต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย

logoline