svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ภัยร้ายสายสื่อสารมรณะ!'ห้อยระย้าพาดระโยง'

18 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เห็นกันจนชินตากับภาพเส้นสายระโยงระยางกลางเมือง ทั้งสายไฟฟ้ากับสายโทรคมนาคม หรือ "สายสื่อสาร" ต่างๆ ที่พาดผ่านไปตามเสาทั่วทุกหัวระแหงที่มนุษย์อาศัยอยู่และจำเป็นต้องใช้สอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มองดูแล้ว "ยุ่งเป็นลิงแก้แห"


สายที่ "ห้อยระย้า พาดระโยง" สะท้อนสภาพความไร้ระเบียบ ประหนึ่งสุมความยุ่งเหยิงให้แก่สังคมเมืองที่วุ่นวาย พร้อมกับความกังวลในมาตรฐานความปลอดภัยของชีวิตผู้คนที่สัญจรตามท้องถนน โดยมีแนวเสาไฟกับสายที่พันกันยุ่งเหยิงเหล่านี้ทอดผ่าน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง "สารพัดสาย" เหล่านี้อาจเป็นต้นเหตุแห่งความตายแบบไม่ทันรู้ตัวก็ได้ !!

ภัยร้ายสายสื่อสารมรณะ!'ห้อยระย้าพาดระโยง'



จะว่าไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร เริ่มจัดการกับสายไฟฟ้าที่อยู่ในสภาพพันกันไปมาตามจุดต่างๆ ให้เป็น "มหานครแห่งการไร้สายอาเซียน" โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใต้โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน ด้วยงบประมาณ 48,717 ล้านบาท ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 12.6 กิโลเมตร กลุ่มระบบเชื่อมโยงระบบสายส่ง 7.4 กิโลเมตร และพื้นที่ส่วนอื่น 107.3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี (2559-2568) ได้แก่ พื้นที่ นนทบุรี, พระราม 9 กาญจนาภิเษก-อโศก, รัชดาภิเษก-พระราม 9 ส่วนที่ดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ สีลม, พญาไท, พหลโยธิน, ลุมพินี, สุขุมวิท และปทุมวัน



ขณะที่อีกหลายจังหวัดก็มีโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อความเป็นระเบียบและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ภัยร้ายสายสื่อสารมรณะ!'ห้อยระย้าพาดระโยง'



แต่ถึงกระนั้น ช่วงที่โครงการนี้ยังดำเนินการไปไม่ถึงไหน "ภัยร้ายสายสื่อสาร" ก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อ "มณีเนตร เจริญเหง่า" หญิงเมืองหมอแคนวัย 40 ปี ถูกสายที่ว่านี้ "ตัดคอขาด" ระหว่างขับรถมอเตอร์ไซค์อยู่บนถนนใจกลางเมืองขอนแก่น



ช่วงเย็นหลังเลิกงานหลายคน "กุลีกุจอ" ฝ่ารถติดบ้างไม่ติดบ้างกลับบ้าน เพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัว และเพื่อพักผ่อนรอเริ่มงานในวันรุ่งขึ้น แต่สำหรับช่วงเย็นวันที่ 25 เมษายน ของ "มณีเนตร" กลับไปไม่ถึงบ้านและไม่มีวันรุ่งขึ้นสำหรับเธออีกต่อไป หนำซ้ำกลายเป็นศพน่าเวทนาแก่ผู้พบเห็น นอนแน่นิ่งคอขาดวิ่นอยู่บนถนนเหล่านาดี เขตเทศบาลนครขอนแก่น จากอุบัติเหตุแบบคาดไม่ถึง หลังขับมอเตอร์ไซค์สวนทางกับรถบรรทุกสิบล้อ โดยรถบรรทุกเจ้ากรรมได้ไปเกี่ยวเอาสายที่ห้อยระย้าอยู่ขาดสะบั้นเหวี่ยงมาตัดคอเธอแบบไม่ทันตั้งตัว โดยมีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ 2 ตัว



ทว่า ตอนแรกยังถกเถียงอยู่ว่า "สายมรณะ" ที่พรากชีวิตเธอแบบกะทันหันเป็นสายไฟของการไฟฟ้าฯ หรือว่าของบริษัทโทรคมนาคม แต่เมื่อตรวจเช็กถี่ยิบถึงรู้ว่าสายสื่อสารมรณะครั้งนี้เป็นของใคร จนถึงทุกวันนี้การไกล่เกลี่ยยังไม่จบสิ้น แม้ร่างไร้วิญญาณของ "มณีเนตร" จะถูกฌาปนกิจตามประเพณีไปแล้ว โดยญาติได้เรียกเงินเยียวยาจากเจ้าของสายสื่อสารเป็นเงิน 5 ล้านบาท



หลังเกิดเหตุสลดขึ้น จะเรียกว่า "วัวหายล้อมคอก" ก็ไม่น่าแปลก เพราะมีหลายหน่วยงาน "ตบเท้า" ออกมาจัดระเบียบสายสื่อสารกันใหม่ โดยเฉพาะ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ "สายพะรุงพะรัง" เร่งดำเนินการนำร่องที่ จ.ขอนแก่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ใน 2 จุดหลัก กับ 4 เส้นทางเสี่ยง

ภัยร้ายสายสื่อสารมรณะ!'ห้อยระย้าพาดระโยง'


จุดแรก ถนนกลางเมือง จากสี่แยกถนนประชาสโมสร ถึงสามแยกถนนหลังศูนย์ราชการ จุดที่สอง ถนนหน้าเมือง จากสี่แยกถนนประชาสโมสร ถึงสามแยกถนนหลังศูนย์ราชการ ส่วนเส้นทางวิกฤติที่ไม่สามารถอนุญาตให้พาดสาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.แยกประชาสโมสร ฝั่งตะวันออก ถึงถนนราษฎร์คนึง 2.เส้นทางบ้านโนนม่วง 3.ถนนสมหวังสังวาล และ 4.เส้นทางถนนมะลิวัลย์ สี่แยกที่ว่าการ ถึงสี่แยกเทศบาลอำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น



นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้นำหลักสิทธิแห่งทาง มาบังคับใช้ โดยผู้ประกอบกิจการทุกรายต้องดำเนินการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้ตกลงกับการไฟฟ้าฯ การใช้สิทธิ์ในการปักหรือตั้งเสา เดินสายวางท่อ ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ การดำเนินการตามมาตรฐานการพาดสายกรณีที่เป็นถนนหลัก ทางหลวงแผ่นดินไม่ให้มีการพาดสายข้ามถนน ต้องดันท่อร้อยใต้ดินเท่านั้น กรณีถนนสายรอง ซอย การพาดสายข้ามถนนการพาดสายต้องพาดในระดับสูงกว่าผิวจราจร 5.5-5.9 เมตร และสายสื่อสารทุกประเภทต้องมีสี และชื่อของเจ้าของผู้ประกอบการอย่างชัดเจน

ภัยร้ายสายสื่อสารมรณะ!'ห้อยระย้าพาดระโยง'


เพื่อให้การล้อมคอกครอบคลุมและทั่วถึงทั้งประเทศ กสทช.ยังได้จัด "แคมเปญ" ชวนให้ประชาชนแจ้งเตือนภัยสายสื่อสาร หากพบเห็นสายส่งสัญญาณที่รกรุงรัง เกะกะ และเป็นอันตราย ให้แจ้งข้อมูลปัญหาสายสื่อสารพร้อมทั้งระบุสถานที่ที่พบปัญหา มายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงานกสทช. ที่สายด่วน 1200 ถ่ายภาพสายสื่อสารที่เป็นปัญหาส่งมายัง line id @nbtc1200 หลังได้รับข้อมูลแล้ว สำนักงาน กสทช.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ถ้าพบว่าเป็นอันตรายต่อประชาชน สำนักงาน กสทช. จะส่ง "เพาเวอร์แบงก์" ไปให้ผู้ที่แจ้งข้อมูลเพื่อเป็นการตอบแทนในการแจ้งข้อมูล โดยเตรียมเพาเวอร์แบงก์ไว้ 4,500 อัน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,000 อัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,000 อัน ภาคกลาง 1,000 อัน ภาคใต้ 1,000 อัน และ กรุงเทพมหานคร 500 อัน ขณะเดียวกันสามารถแจ้งไปที่การไฟฟ้านครหลวง หมายเลขโทรศัพท์ 1130 หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หมายเลขโทรศัพท์ 1129 ได้เช่นกัน

ภัยร้ายสายสื่อสารมรณะ!'ห้อยระย้าพาดระโยง'



ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. อธิบายว่า สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่เป็นอันตราย นั่นคือสำนักงาน กสทช. ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากสายสื่อสาร เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สายสื่อสารพาดผ่าน จะเป็นผู้ใกล้ชิดและน่าจะเป็นผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ปัญหาสายสื่อสารหย่อน ขาด รกรุงรัง ที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากที่สุด



หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อุบัติเหตุที่เกิดกับ "มณีเนตร เจริญเหง่า" จะไม่เป็นเพียงเหตุการณ์วัวหายแล้วล้อมคอก หน่วยงานที่กำกับดูแล หรือแม้แต่เจ้าของสายสื่อสาร ควรมีความกระตือรือร้น รับผิดชอบต่อสังคม หมั่นตรวจสอบความถูกต้องของการพาดสาย ถ้าเป็นไปได้ก็เอาลงใต้ดิน เพราะไม่มีใครอยากเป็นเหยื่อสายสื่อสารมรณะรายต่อไป...!!

logoline