svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กลต.สั่งเบรกขาย "ไอซีโอ."

17 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก.ล.ต. สั่งห้ามขาย "ไอซีโอ" จนกว่ามีประกาศออกมาชัดเจน คาดไม่เกินสิ้นเดือนหน้า ย้ำหากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย ขณะ "สรรพากร" ระบุกำไรเงินลงทุนต้องนำมาคำนวณรายได้สิ้นปี พร้อมยกเว้น "แวต" ให้รายย่อย


กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดแถลงข่าวร่วมกันในวันที่ 15 พ.ค. เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พรก.เงินดิจิทัล) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 โดย ก.ล.ต. ระบุว่า เตรียมเปิดรับฟังความเห็น(เฮียริ่ง) เพื่อออกประกาศที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้


นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการร่างประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล หลังพรก.เงินดิจิทัลมีผลบังคับใช้ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน (เฮียริ่ง) ในต้นสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะใช้เวลาในการเฮียริ่ง 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่จะออกประกาศอย่างเป็นทางการอย่างช้าที่สุดไม่เกินช่วงสิ้นเดือนมิ.ย. 2561


เลขาธิการ ก.ล.ต. ย้ำว่า ในช่วงระหว่างนี้บริษัทที่กำลังหรือเตรียมระดมทุนผ่านการเสนอขายหน่วยเงินดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอซีโอ) ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องรอประกาศจากทางก.ล.ต.ในช่วง 1 เดือนนับจากนี้ก่อน ส่วนบริษัทที่ระดมทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ยังคงสามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติเพราะกฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง"ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นนิติบุคคลยังไม่สามารถออกไอซีโอได้ ถ้าเสนอขายถือว่าผิดกฎหมาย ต้องรอประกาศจากก.ล.ต.ภายในช่วง 1 เดือนนี้ก่อน แต่ใครที่ออกไปแล้วกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง"


เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า พ.ร.ก.ทรัพย์สินดิจิทัลฉบับนี้จะคุ้มครองเฉพาะการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ครอบคลุมการลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นนักลงทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด


กฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาเพื่อกำกับดูแลการระดมทุนผ่านการทำไอซีโอ รวมทั้งการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ทั้งศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนไม่ให้ถูกหลอก ป้องกันการฟอกเงิน และนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลขณะที่การระดมทุนผ่านไอซีโอนั้นจะสามารถทำได้เฉพาะนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทจำกัดมหาชน เท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตและยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย และหนังสือชี้ชวนกับทางก.ล.ต.ก่อนจึงจะสามารถระดมทุนได้


ด้านผู้ที่ต้องการจะประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนด เช่น มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ มีการบริการความเสี่ยงจากการโจรกรรม มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วก่อนที่พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ ต้องมายื่นขออนุญาตจากก.ล.ต.ภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 14 ส.ค. นี้

นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มีการกำหนดให้รายได้ที่ได้จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเงินคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน หรือกำไร ต้องเสียภาษีกำไรหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ และนักลงทุนต้องนำรายได้มาคำนวณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ สิ้นปีด้วย


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับนักลงทุนรายย่อย ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่และโทเคนดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาต กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาให้มีการยกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในการซื้อขายดังกล่าว


ส่วนการกำหนดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น อยู่ระหว่างเสนอแก้กฎกระทรวงต่อครม. เบื้องต้นจะเสนอให้ครม.พิจารณาเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขาย 15% เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยนิติบุคคลต้องนำรายได้มาคำนวณการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ สิ้นปี รวมทั้งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%


ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออกเกณฑ์มากำกับดูแลการลงทุนเงินดิจิทัลนั้น ไม่ถือว่า เป็นนโยบายที่ขัดแย้งในแง่การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลเองก็ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพมาหลายมาตรการแล้ว แต่การออกเกณฑ์มาควบคุมก็เพื่อเข้าไปคุ้มครองผู้บริโภค เพราะแม้ว่า จะมีนักลงทุนที่เข้าใจการลงทุนนี้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจจะมีนักลงทุนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าลงทุนเช่นกัน

logoline